xs
xsm
sm
md
lg

ป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต ความจำเป็นมาคู่กับต้นทุนที่ต้องจ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องยอมรับว่า วิกฤตการเงินโลกที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เรื่องของ “เครดิต” ได้รับความสนใจและพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันการเงินทั่วโลก รวมไปถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัทจัดอันดับเครดิตอีกด้วย ส่วนหนึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินถูกปรับลดอันดับเครดิตลงไปอย่างน่าใจหาย

ในเรื่องนี้ หากจะมองในมุมต่างประเทศ ต้องบอกว่าการป้องกันความเสี่ยงทางด้านเครดิต อาจจะพัฒนาไปมากกว่าประเทศเรา ซึ่งปัจจุบันยังไม่ขยายวงกว้างมากนัก รวมไปถึงธุรกิจกองทุนรวมด้วย...

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าช่องทางในการป้องกันความเสี่ยงจะมีอยู่ แต่ด้วยความโลภที่ไม่มีที่สิ้นสุด จึงเกิดนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ ด้วยการนำเครดิตไปแปลงเป็นตราสารหนี้ประเภทต่างๆ แล้วขายต่อเป็นทอดๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้มาในช่วงแรกอาจจะหอมหวาน แต่พอเกิดความเสียหายขึ้นมา ทั้งคนที่อยู่ต้นทางและปลายทาง ต่างก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันเป็นลูกโซ่

ที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งเราคงไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนได้ หากไม่มีการป้องกันความเสี่ยงทางด้านนี้เลย...ซึ่งในที่นี่ เราจะพูดถึง “การป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต” โดยล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลการลงทุนของไทยอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดทางให้ธุรกิจกองทุนรวม สามารถเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต (credit derivatives) ได้ แต่ไม่อนุญาตให้กองทุนรวมทำธุรกรรมดังกล่าวเพื่อเก็งกำไร

การเปิดช่องทางให้กองทุนรวมสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตได้นั้น เนื่องจาก ก.ล.ต. เอง ต้องการให้นักลงทุนมีเครื่องในการป้องกันความเสี่ยง ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของโลกยังผันผวน หาทิศทางไม่เจอว่าสุดท้ายแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตซับไพรม์ จะไปจบลงที่ไหน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำ credit derivatives นั่นหมายความว่าอย่างไร...

สำหรับทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ credit derivatives ก็คือการที่กองทุนเข้าไปซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กับคู่สัญญาหรือผู้ออกตราสาร เพื่อให้คู่สัญญาดังกล่าว รับโอนความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้จากกองทุนไป

นั่นหมายความว่า บลจ.รายหนึ่ง ต้องการที่จะลงทุนตั๋วเงินระยะสั้น ของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างดูมั่งคง และมีความเสี่ยงทางธุรกิจน้อย แต่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอนเช่นนี้ ก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวได้ ซึ่งหลังจากผู้จัดการกองทุนประเมินเห็นแล้วว่า ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มีสูง ก็อาจจะตัดสินใจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ออกหลักทรัพย์หรือคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รับความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของกองทุนไป

โดยการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ออกหลักทรัพย์เอง ก็จะเป็นผู้ประเมินว่า ความเสี่ยงของตั๋วเงินที่กองทุนเข้าไปลงทุนนั้น มีมากน้อยแค่ไหน หากเห็นว่า บริษัทนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ ก็จะทำสัญญาประกันความเสี่ยงให้ โดยคิดค่าความเสี่ยงตามความเหมาะสม ซึ่งในส่วนนี้ ก็จะกลายเป็นต้นทุนของกองทุนอีกต่อหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะคิดค่าความเสี่ยงในอัตราที่สูงขึ้น หากเห็นว่าบริษัทนั้นๆ มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

“การทำสัญญาป้องความเสี่ยงด้านเครดิต จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวนสำหรับกองทุนใหม่ ส่วนกองทุนเก่าก็ต้องขอมติผู้ถือหน่วยเพื่อขอแก้ไขโครงการต่อไป อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาป้องความเสี่ยงดังกล่าว อาจจะต้องมีต้นทุนเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลงตามไปด้วย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับบริษัทจัดการเองว่าจะทำหรือไม่ทำ”

อย่างไรก็ตาม มีการต้องข้อสังเกตว่า การที่สัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต ผู้ขายประกันสามารถนำสัญญาเครดิตดังกล่าว ไปขายต่อกับผู้ประกันความเสี่ยงรายอื่นต่อได้เป็นทอดๆ ได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ CDO ที่เป็นต้นตอของปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ แต่ในเรื่องเอง ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ชี้แจงว่า ถึงแม้สัญญาดังกล่าวจะสามารถนำไปขายต่อเป็นทอดๆ ได้ แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับ CDO เพราะการประกันความเสี่ยงด้านเครดิตดังกล่าว อนุญาตให้ทำเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าว อยู่ระหว่างการร่างประกาศ และอยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นจากบริษัทจัดการกองทุน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากมีความเห็นตรงกันแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าภายในไตรมาสแรก น่าจะสามารถออกเป็นประกาศบังคับใช้ได้

เสียงจากผู้จัดการกองทุน
นายวีระ วุฒิคงศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวถึงการใช้ Credit Derivative ว่า การใช้ Credit Derivative เพื่อประกันความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น จะต้องเข้าไปดูที่ความแข็งแกร่งทางการเงินของผู้ที่เข้ามารับประกันความเสี่ยงอีกทอดหนึ่ง รวมถึงค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายเพราะจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น
เพราะว่าความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นนี้ ผู้ค้ำประกันหนี้ อาจจะมีความเสี่ยงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ในความเสี่ยงที่สูงดังกล่าว ผู้ค้ำประกันอาจจะคิดค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งในส่วนนี้ จะส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนอาจจะต้องปรับลดตามไปด้วย หรืออาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ไม้คุ้มเท่าไหร่

“การใช้ Credit Derivative นั้นขึ้นอยู่กับบุคคล ถ้าใครออกมาก็คงมองแล้วว่า ไม่ต้องการที่จะเทคความเสี่ยงแล้ว และต้องการความสบายใจมากกว่าในภาวะเช่นนี้” สำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ตอนนี้ นายวีระกล่าวว่า มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว ซึ่งการออกหุ้นกู้หลายบริษัทเองก็ยังรอดูจังหวะที่ออกอยู่ แต่โดยทั่วไปควรเลือกวิเคราะห์บริษัทที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งหุ้นกู้เครดิตขั้นต่ำที่บริษัทจะเข้าลงทุนอยู่ที่ในระดับ A ขึ้นไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ “ASTVผู้จัดการกองทุนรวม” พบว่าปัจจุบัน บริษัทจัดการกองทุนพร้อมใจออกกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ เช่นนี้ โดยหุ้นกู้ที่กองทุนเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดีแล้วว่า มีโอกาสในการผิดนัดชะระหนี้น้อย อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไปทั่วโลก ส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนพอสมควร ดังนั้น จึงยังเห็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลออกมาควบคู่กัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงมากๆ

สำหรับแนวโน้มการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนเอก ก็ยังเห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักๆ มาจากแหล่งระดมทุนอย่างธนาคารพาณิชย์ ทำได้ลำบากมากขึ้น เนื่องจากบรรดาธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ เข้มงวดกับการปล่อยกู้เป็นพิเศษ ซึ่งเหตุผลหลักๆ เพราะเกรงว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะไม่ได้รับการชำระหนี้คืนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ ต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนให้ละเอียดและรอบคอบ ถ้าลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็ต้องมั่นใจว่า หุ้นกู้ที่กองทุนเข้าไปลงทุนนั้น มีอับดับเครดิตอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ฐานะทางการเงินของผู้ออกหุ้นกู้นั้นมั่นคงแค่ไหน มันคุ้มกับความเสี่ยงของเราหรือไม่...หรือถ้าเป็นการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนนั้นมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงดีแล้วแค่ไหน ซึ่งรวมถึงการป้องกันความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น