xs
xsm
sm
md
lg

Q&A corner : เครดิตลิ้งค์โน้ต VS สตรั๊กเจอร์โน้ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำถาม : ดิฉันอยากทราบ การลงทุนในเครดิตลิ้งค์โน้ตคืออะไรค่ะเเละ สตรั๊กเจอร์โน้ต คืออะไร มันเเตกต่างกันอย่างไร ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ตอบ : ขอบคุณคำถามของคุณมินท์ มากนะครับ เพราะช่วงนี้มีคนถามเกี่ยวกับเครดิตลิ้งค์โน้ต และ สตรั๊กเจอร์โน้ต เข้ามามากเลยที่เดียว สำหรับครดิตลิงค์โน้ต (Credit Linked Note : CLN) คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก (Issuer) และหลักทรัพย์อ้างอิง (Reference Asset) เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เป็นต้น โดยผู้ออกตราสาร (Issuer) จะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามจำนวนหน้าตั๋ว (Par Value and Interest) ให้เมื่อครบกำหนดอายุของตราสารที่ลงทุนครับ

ส่วนสตรั๊กเจอร์โน้ต (Structured Note) เป็นการลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ที่ธนาคารที่มีกฏหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนรายใดเป็นผู้ออก ซึ่งตราสารนั้นมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับค่าเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีใด ดัชนีหนึ่ง หรือการเปลี่นแปลงของราคาหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง

สำหรับเครดิตลิงค์โน้ต ที่กองทุนลงทุนได้ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะออกโดยสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง โดยทั้งผู้ออกและหลักทรัพย์ที่ใช้อ้างอิงเช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน จะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น การจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวอยู่ใน 3 อันดับแรก (ไม่ต่ำกว่า A โดย S&P) อันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นอยู่ใน 2 อันดับแรก (ไม่ต่ำกว่า A-1 โดย S&P) โดยสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล เช่น S&P, Moody’s เป็นต้น ทำให้โอกาสที่ตราสารเครดิตลิงค์โน้ตและหลักทรัพย์อ้างอิงจะผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ

จุดเด่นของเครดิตลิงค์โน้ต อยู่ที่การเป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนในรูปเงินบาท สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยในประเทศที่อายุเท่ากัน โดย credit rating ของผู้ออก (Issuer) ส่วนใหญ่อยู่ที่ A- ขึ้นไป และ Rating ของหลักทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง (Reference Asset) อยู่ที่ BBB+ และ A ซึ่งใกล้เคียงหรือสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางการระดมทุนของสถาบันการเงินต่อผู้ลงทุน โดยให้โอกาสของผลตอบแทนกับผู้ลงทุนสูงกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง แต่มีระดับความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์อ้างอิง ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงของผู้ลงทุน ซึ่งเป็นตราสารคุณภาพที่อาจมีข้อจำกัดจากการลงทุนโดยตรง เช่น จำนวนหลักทรัพย์มีน้อย สภาพคล่องต่ำ จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ การจำกัดสัดส่วนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติ การเก็บภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศ (Withholding Tax) เป็นต้น

ทางด้านการอ้างอิงผลตอบแทนของกองทุนสตรั๊กเจอร์โน้ตนั้น สามารถคำนวนการเปลี่ยนแปลงของดัชนีที่อ้างอิงได้หลายรูปแบบ เช่น การอ้างอิงราคา ณ วันที่ทำสัญญาลงทุน กับราคา ณ วันที่ สิ้นสุดสัญญาลงทุน นอกจากนี้ ยังสามารถคำนวนผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีอ้างอิงเป็นช่วงเวลา เช่น กองทุนรวมบีที FIF โกลด์ ลิงค์ คุ้มครองเงินต้น ของบลจ.A ที่อ้างอิงผลตอบแทนกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ลงทุนจะได้รับต่อเมื่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในแต่ละสัปดาห์ขึ้นหรือลงในระดับที่กองทุนกำหนดไว้ แต่หากราคาทองคำในสัปดาห์นั้นมีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงเกินระดับที่กำหนด ผู้ลงทุนก็จะไม่ได้รับผลตอบแทน...ซึ่งหลังจากครบอายุการลงทุนแล้ว กองทุนก็จะนำผลตอบแทนในแต่ละรอบสัปดาห์มาคำนวนหาผลตอบแทนเฉลี่ยเพื่อจ่ายให้ผู้ถือหน่วยอีกครั้ง

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์ข้อความไว้ที่หน้า กองทุนรวม www.manager.co.th ทางเรายินดีที่จะตอบคำถามให้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น