xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:55 ปีแห่งชัยชนะด้านลอจิสติกส์ ของศึกเดียนเบียนฟู

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ผู้เชี่ยวชาญถึงกับกล่าวว่า “สัจธรรมสมัยใหม่ของสงคราม คือ มือสมัครเล่นจะถกเถียงกันในเรื่องยุทธวิธี ขณะที่มืออาชีพจะถกเถียงกันในเรื่องลอจิสติกส์” (A modern axiom of war is that amateurs will discuss tactics and professionals will discuss logistics.) โดยปัจจัยด้านลอจิสติกส์สามารถตัดสินการแพ้ชนะของสงครามตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นสู้รบทำสงครามด้วยซ้ำ โดยตัวอย่างสำคัญที่พิสูจน์ถึงคำกล่าวข้างต้น คือ ศึกเดียนเบียนฟู ซึ่งเผด็จศึกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2497 หรือ 55 ปีมาแล้ว นับเป็นชัยชนะทางทหารอันยิ่งใหญ่ของเวียดนามต่อฝรั่งเศส

กองทัพประชาชนเวียดนามได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ต่อกองทัพฝรั่งเศส ณ สมรภูมิเมืองเดียนเบียนฟู โดยแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายเวียดนาม คือ นายพลโวเหงียนเกียป ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเวียดนามมาเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 30 ปี เริ่มแรกกองทัพมีกำลังทหารเพียง 34 คน พัฒนาจนกองทัพเติบใหญ่ เมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนามจึงมีกำลังทหารมากกว่า 1 ล้านคน และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นกองทัพที่มีความเข้มแข็งมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเท่านั้น

นายพลเกียปเกิดเมื่อปี 2454 ที่หมู่บ้าน An Xa ในจังหวัด Quang Binh ในช่วงนั้นเวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ต่อมาได้ศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮานอยเมื่อปี 2479 และสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 25 ปี ระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัย ยังได้ประกอบอาชีพเสริมเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Thang Long ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงฮานอย เนื่องจากมีบุคลิกลักษณะเป็นหนอนหนังสือ โดยอ่านหนังสือจำนวนมาก และมีความทรงจำดีมาก ทำให้สามารถเขียนแผนผังบนกระดานดำเกี่ยวกับยุทธการของสงครามครั้งต่างๆ ให้นักเรียนฟังอย่างชัดเจนว่ากลยุทธ์ของแต่ละฝ่ายเป็นไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะแผนยุทธการของพระเจ้านโปเลียนมหาราช

นายโฮจิมินห์ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติของเวียดนามรู้สึกประทับใจกับการบรรยายของนายพลเกียปเป็นอย่างมาก จึงได้แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อปี 2487 เมื่ออายุเพียง 33 ปี การได้รับการแต่งตั้งในครั้งนั้น กล่าวกันว่าเขายิงปืนไม่เป็นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นปืนพกขนาดเล็กหรือปืนใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่าจุดเด่นที่สุดของนายพลเกียป ไม่ใช่การวางแผนเกี่ยวกับการโจมตีข้าศึก ตรงกันข้าม กลับเป็นจุดเด่นด้านการวางแผนเกี่ยวกับลอจิสติกส์ในการเคลื่อนกำลังพลและยุทธปัจจัยอย่างรวดเร็วและเงียบเชียบ ทำให้สามารถโจมตีข้าศึกได้อย่างคาดไม่ถึงและไม่ทันตั้งตัว แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ทางลบอยู่บ้างว่าเขาไม่กล้าได้กล้าเสีย มักวางแผนทำศึกอย่างระมัดระวังเกินไป ทำให้ตัดสินใจช้า

สมรภูมิสำคัญที่ตัดสินการแพ้ชนะสงครามกับฝรั่งเศสในครั้งนั้น คือ การรบที่เมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งภูมิประเทศเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขาสูง กองทัพฝรั่งเศสได้ก่อตั้งค่ายทหารขึ้นที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่หุบเขาในเขตเดียนเบียนฟูใกล้กับพรมแดนระหว่างลาวและเวียดนาม แม้มีกำลังทหารเพียง 16,500 คน หรือคิดเป็นจำนวนเพียงร้อยละ 5 ของกำลังทหารฝรั่งเศสในเวียดนาม แต่ก็ได้คัดเลือกกองกำลังทหารที่ดีที่สุดของฝรั่งเศสมาประจำการ

วัตถุประสงค์หลักของการตั้งฐานทัพข้างต้น เพื่อตัดเส้นทางลอจิสติกส์ของกลุ่มเวียดมินห์ที่แทรกซึมจากเวียดนามเข้าไปยังประเทศลาว นับเป็นการขุดบ่อล่อปลา กล่าวคือ บีบบังคับให้กองทัพเวียดมินห์ต้องทำสงครามตามรูปแบบ แทนที่จะทำสงครามแบบกองโจรที่กองทหารฝรั่งเศสไม่ถนัด ฝ่ายฝรั่งเศสมั่นใจว่าจะเอาชนะในสงครามตามรูปแบบได้อย่างไม่ยาก เนื่องจากเป็นค่ายทหารที่แข็งแกร่งมากจนฝ่ายเวียดมินห์ไม่สามารถยึดได้ จึงหวังว่าสงครามครั้งนี้จะสามารถตัดทอนความแข็งแกร่งทางกำลังทหารของฝ่ายเวียดมินห์ลงไปได้มาก

ขณะเดียวกันกองทัพฝรั่งเศสได้คาดการณ์ว่าฝ่ายเวียดมินห์มีข้อจำกัดอย่างมากในด้านลอจิสติกส์ ไม่สามารถขนส่งปืนใหญ่มายังสมรภูมิได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ชาวฝรั่งเศสของค่ายแห่งนี้ถึงกับโอ้อวดว่าหากฝ่ายเวียดมินห์มีปืนใหญ่จริง จะไม่มีกระบอกใดที่สามารถยิงได้เกิน 3 นัด เนื่องจากจะถูกปืนใหญ่ของฝ่ายฝรั่งเศสยิงตอบโต้เพื่อทำลายปืนใหญ่กระบอกนั้นๆ อย่างสิ้นซาก

กองทัพฝรั่งเศสได้เริ่มก่อสร้างค่ายทหารแห่งนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2496 ประกอบด้วยสนามเพลาะและสนามบิน ดังนั้น ทั้งแม่ทัพเวียดนามคนอื่นๆ และที่ปรึกษาทางทหารของจีนคอมมิวนิตส์ได้แนะนำว่าจะต้องโจมตีให้ค่ายนี้แตกก่อนที่ฝ่ายฝรั่งเศสจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมในการทำสงคราม โดยกำหนดโจมตีในช่วงปลายเดือนมกราคม 2497

ทั้งนี้ก่อนที่จะถึงเวลาที่กำหนดเพียง 6 ชั่วโมง นายพลเกียปได้ตระหนักว่าสงครามครั้งนี้เป็นการตัดสินความเป็นความตายในการปฏิวัติ ซึ่งฝ่ายเวียดมินห์ยังไม่มีความพร้อมในด้านลอจิสติกส์ สามารถสู้รบได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่สามารถโจมตีข้าศึกอย่างยาวนานได้ ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจยกเลิกแผนการโจมตีทั้งหมด

การตัดสินใจข้างต้นทำให้บรรดานายทหารจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับแม่ทัพจนถึงระดับพลทหาร ต่างไม่พอใจนายพลเกียปเป็นอย่างมากและก่อการประท้วงครั้งใหญ่ แต่นายพลเกียปเชื่อมั่นการตัดสินใจของตนเองและยืนยันว่าทุกคนต้องเชื่อฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากได้รับมอบอำนาจโดยตรงจากนายโฮจิมินห์

ภายหลังเปลี่ยนแผนนายพลเกียปได้สั่งการให้เตรียมการให้พร้อมในด้านลอจิสติกส์ก่อนการโจมตี โดยได้เกณฑ์มวลชนจำนวนมากถึง 300,000 คน มาเป็นลูกหาบในการขนส่งยุทธปัจจัยมายังสมรภูมิแห่งนี้ ผ่านพื้นที่ป่าเขาในช่วงกลางคืนและพักผ่อนในช่วงกลางวัน เพื่อป้องกันการตรวจพบของฝ่ายข้าศึก ทำให้สามารถลากปืนใหญ่ทั้งขนาด 75 มิลลิเมตร และ 105 มิลลิเมตร เป็นจำนวนมากเข้าสู่ที่ตั้งบนภูเขาที่รายล้อมเมืองเดียนเบียนฟู โดยที่กองทัพฝรั่งเศสคาดไม่ถึงเลยว่าหายนะได้คืบคลานมาสู่ตนเองแล้ว

กองทัพเวียดมินห์เริ่มทำการโจมตีกองทัพฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2497 โดยกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์ชุดแรกซึ่งยิงถล่มที่ตั้งกองทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส ได้สร้างความเสียหายอย่างยับเยินจนปืนใหญ่ฝรั่งเศสหมดสภาพในการยิงตอบโต้ และใช้เวลาเพียง 55 วัน คือ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2497 ก็สามารถเผด็จศึกได้สำเร็จ โดยกองทัพฝรั่งเศสได้สูญเสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน บาดเจ็บ 5,600 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 6,500 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนายพล 1 คน นายพัน 16 คน และนายร้อย 1,749 คน รวมทั้งมีทหารฝรั่งเศสเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปยังประเทศลาวได้เป็นผลสำเร็จ

ภายหลังการพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของฝรั่งเศสครั้งนี้ ทั่วโลกถึงกับตกตะลึง สำหรับในประเทศฝรั่งเศสเองต้องอยู่ในภาวะเศร้าโศก โรงภาพยนตร์และโรงละครทุกโรงหยุดแสดง วิทยุกระจายเสียงทุกสถานีเปลี่ยนมาเปิดเพลงไว้ทุกข์ และส่งผลทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศจะถอนทหารออกจากเวียดนามในวันต่อมา

สำหรับปัจจัยสำคัญในการตัดสินแพ้ชนะสงครามครั้งนี้ คือ ความเหนือชั้นกว่าในด้านลอจิสติกส์ของฝ่ายเวียดมินห์ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

ประการแรก ความสามารถที่จะขนส่งยุทโธปกรณ์จำนวนมากทั้งปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร ปืนต่อสู้อากาศยาน กระสุนปืน ฯลฯ ไปยังเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร แม้กองทัพเวียดมินห์จะเสียเปรียบในแง่ไม่มีเครื่องบินเพื่อขนส่งเสบียง แต่ข้อได้เปรียบสำคัญ คือ มีประชาชนมากถึง 300,000 คน ที่ทำหน้าที่ส่งกำลังบำรุง ทำให้มีปืนใหญ่จำนวนมากเป็น 4 เท่าของฝรั่งเศส รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายกำลังทหารได้มากถึง 50,000 คน มายังสมรภูมิแห่งนี้เพื่อเผด็จศึก

ประการที่สอง เมื่อส่งกำลังบำรุงมาแล้ว กองทัพเวียดมินห์ได้เลือกที่ตั้งของค่ายทหารในภูมิประเทศที่เป็นภูเขา โอบล้อมกองทัพฝรั่งเศสซึ่งตั้งค่ายทหารบริเวณหุบเขา ส่งผลดีทำให้มีข้อได้เปรียบหลายประการ โดยเฉพาะในด้าน Visibility สามารถมองเห็นเป้าหมายคือ ฝรั่งเศส ที่อยู่ด้านล่างอย่างชัดเจน ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสยากที่จะเห็นฝ่ายเวียดมินห์ ส่งผลทำให้ระบบลอจิสติกส์เกี่ยวกับการยิงปืนใหญ่ ซึ่งเป็นการส่งกระสุนไปยังเป้าหมาย ทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น แทนที่จะยิงปืนใหญ่วิถีโค้งซึ่งต้องใช้ทหารที่มีประสบการณ์สูง เนื่องจากทหารที่ยิงปืนใหญ่จะไม่เห็นเป้าหมาย ต้องสื่อสารกับทหารที่อยู่แนวหน้า นับเป็นจุดอ่อนสำคัญของฝ่ายเวียดมินห์ที่ขาดแคลนทหารปืนใหญ่ที่มีประสบการณ์ ดังนั้น ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเจาะเข้าไปในภูเขาเพื่อให้สามารถวางปืนใหญ่ได้ ส่งผลทำให้ทหารปืนใหญ่ที่มีประสบการณ์ไม่มากนักสามารถยิงปืนใหญ่วิถีตรงเข้าไปถล่มค่ายทหารของฝรั่งเศสได้อย่างแม่นยำ

ประการที่สาม กองทัพฝรั่งเศสสามารถส่งกำลังบำรุงไปยังเดียนเบียนฟูได้เฉพาะทางอากาศเท่านั้น ซึ่งมีต้นทุนในด้านลอจิสติกส์สูง ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพเวียดมินห์ได้มีปืนต่อสู้อากาศยาน ทำให้การส่งกำลังบำรุงทางอากาศยิ่งทำได้ยากลำบากมากขึ้นไปอีก แทนที่จะนำเครื่องบินลงจอดเพื่อขนถ่ายเสบียง ต้องเปลี่ยนมาทิ้งยุทธปัจจัยทางอากาศโดยใช้ร่มชูชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบลอจิสติกส์อันมีความแม่นยำต่ำกว่า และยุทธปัจจัยจำนวนมากได้ตกมาอยู่ในมือของกลุ่มเวียดมินห์

ภายหลังชนะศึกที่เดียนเบียนฟู ประวัติศาสตร์ได้จารึกชื่อนายพลเกียป ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงแค่ 43 ปี ว่าเป็นแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก เทียบเท่านายพลที่ยิ่งใหญ่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นนายพลจอร์จ วอชิงตัน นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ จอมพลรอมเมล ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงต่อมากองทัพเวียดนามยังได้ชัยชนะสงครามกับกองทัพสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง ยิ่งทำให้นายพลเกียปมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากกลายเป็นจอมทัพที่ได้รับฉายาว่าเป็นผู้พิชิตประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลกถึง 2 ประเทศ คือ ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ

นายพลเกียปได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับประการหนึ่งของการทำสงครามว่าจะต้องเน้นโจมตีระบบลอจิสติกส์ของข้าศึก ทั้งในส่วนเส้นทางส่งกำลังบำรุงและสนามบิน ขณะเดียวกันต้องพัฒนาระบบลอจิสติกส์ให้มีความยืดหยุ่นสูง โดยเฉพาะการขนส่งในเส้นทางโฮจิมินห์โดยใช้แรงงานมากมายหลายหมื่นคน แม้ถูกเครื่องบินของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่สามารถที่จะทำลายได้ โดยยังคงสามารถส่งกำลังบำรุงได้อย่างสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกันเมืองเดียนเบียนฟูได้กลายเป็นสมรภูมิที่มีชื่อเสียงมากของโลกเทียบเท่ากับสมรภูมิสำคัญแห่งอื่นๆ เป็นต้นว่า วอเตอร์ลู สตาลินกราด มิดเวย์ ฯลฯ และยังได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเวียดนามในปัจจุบัน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น