ASTVผู้จัดการรายวัน-- เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นยืนยันว่า รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในเมืองหลวงของเวียดนามจะให้บริการได้ในปี 2557 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า หลังได้รับเงินกู้ก้อนใหญ่จากรัฐบาลญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้ทันที
นายทสึโน โมโตโนริ (Tsuno Motonori) ผู้แทนองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศหรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) ประจำเวียดนามกล่าวถึงเรื่องนี้ ระหว่างให้สัมภาษณ์ หลังการลงนามในพิธีสารรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นในกรุงฮานอยวันอังคาร (31 มี.ค.) ที่ผ่านมา
นายหวอห่มง์ฟุก (Vo Hong Phuc) รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนามได้เป็นตัวแทนรัฐบาลร่วมลงนามกับนายมิตสุโอะ ซากาบะ (Mitsuo Sakaba) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเวียดนาม ในความตกลงช่วยเหลือมูลค่า 83,000 หมื่นล้านเยน หรือ 848 ล้านดอลลาร์
ในนั้นส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.20% ระยะยาว 40 ปี และมีระยะปลอดหนี้นาน 10 ปี ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ฮานอยไทมส์
ความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นชะงักลงชั่วขณะหลังเกิดกรณีติดสินบนอื้อฉาวในโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายเลี่ยงเมืองนครโฮจิมินห์
ก่อนหน้านี้ศาลในกรุงโตเกียวได้ตัดสินจำคุกโดยให้ลงรออาญาอดีตผู้บริหารบริษัทแปซิฟิกคอนซัลติ้งอินเตอร์เนชั่นแนล (Pacific Consulting International Co) จำนวน 4 คน ฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่เวียดนามเพื่อให้ชนะการประกวดราคา ได้งานที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว
โครงการมอเตอร์เวย์อื้อฉาวดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์ ในนั้นกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งเงินกู้และเงินให้เปล่า
ฮานอยไทมส์อ้างการเปิดเผยของผู้แทน JICA ว่า โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของเมืองหลวงจะเริ่มดำเนินการทันที เพื่อเตรียมการก่อสร้างในช่วงกลางปี 2554 และ แล้วเสร็จในปี 2557 ทดลองให้บริการ ก่อนจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปีถัดไป
รถไฟฟ้าสายสั้นๆ นี้มีระยะทางเพียง 11 กิโลเมตร ในนั้นเป็นช่วงที่อยู่ใต้ดิน 8 กม. ใช้เงินทุนจากญี่ปุ่นราว 14.688 พันล้านเยน สมทบกับเงินงบประมาณของทางการกรุงฮานอย หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว
นายโมโตโนริกล่าวว่าถ้าหาก ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเกี่ยวกับหน้างานซึ่งรวมถึงการเวนคืนที่ดิน การจ่ายค่าตอบแทนชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ การก่อสร้างจะเริ่มได้ตามกำหนด
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาค (Donor Countries) รายใหญ่ที่สุดที่ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ ได้งดการช่วยเหลือทุกอย่างระหว่างการประชุมร่วมกับรัฐบาลเวียดนามปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้ทำให้เงินช่วยเหลือแบบ ODA ในปีนี้ลดวูบลง
ตามข้อมูลขององค์การเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส (Agence Francaise de Developpement) โครงการรถไฟฟ้ากรุงฮานอยสายที่ 2 ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา (Light Rapid Transport) โครงการที่ 2 เริ่มสำรวจศึกษามาตั้งแต่ปลายปี 2550 ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งจากรัฐบาลฝรั่งเศสผ่าน AFD จากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่าน JICA จากธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก
แต่เดิมรถไฟฟ้าสายนี้กำหนดระยะทางเอาไว้ถึง 15.2 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟฟ้าแนวเหนือ-ใต้ระยะทาง 42 กม. จากโนยบ่าย (Noi Bai) ไปยัง อ.ห่าดง (Ha Dong) จ.ห่าเตย (Ha Tay) เมื่อก่อน ซึ่งถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงเมื่อต้นปี 2551
โครงการที่ใหญ่กว่านี้มีกำหนดก่อสร้างในปี 2563 แต่จำเป็นต้องสร้างส่วนที่ผ่านใจกลางเมืองหลวงเพื่อใช้การก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร
ในเดือน ธ.ค.2549 ทางการกรุงฮานอยได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินสายที่ 1ระยะทาง 12.5 กม. จากชานเมืองด้านตะวันตกเข้าสู่สถานีรถไฟกลางของเมืองหลวง ในนั้นมี 2.9 กม.จะต้องมุดลงใต้ดิน มีสถานีจอดบนพื้น 11 สถานี ใต้ดินอีก 4 สถานี
รถไฟฟ้าสายที่ 1 นี้มีกำหนดเปิดใช้ในปี 2553 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบปีที่ 1,000 ของนครทางลอง (Thang Long) อันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในปัจจุบัน
รถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินสายแรก ศึกษาสำรวจและออกแบบโดยรัฐวิสาหกิจรถไฟ SYSTRA แห่งฝรั่งเศส ก่อสร้างโดยงบประมาณทางการกรุงฮานอย สมทบกับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เอดีบีและธนาคารโลก รวมมูลค่ากว่า 480 ล้านยูโร
แต่ความล่าช้าในการดำเนินการอันเนื่องมาจากปัญหาเวนคืนที่ดิน และการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ได้ทำให้การก่อสร้างสร้างล่าช้าออกไปจากกำหนดเป็นเวลานานนับปี และอาจจะเปิดใช้ไม่ทันในปลายปีหน้า
ตามแผนการสำรวจศึกษาดังกล่าว ในกรุงฮานอยจะมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้ดิน-บนดินทั้งสิ้น 4 สาย
เงินกู้ซึ่งคิดเป็นประมาณ 848 ล้านดอลลาร์ที่เซ็นกันในสัปดาห์นี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ก่อสร้างระบบระบายน้ำในกรุงฮานอย พัฒนาสภาพแวดล้อมของนครหายฟ่อง (Hai Phong) และ พัฒนายกระดับทางหลวงแห่งชาติสายหนึ่งด้วย
เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วประเทศ ทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือและสนามบิน เพื่อสนองการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วงหลายปีมานี้ โดยอาศัยฐานะประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลาง ยังมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
ตามรายงานของสื่อทางการ รัฐบาลกำลังจะนำโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 1,550 กม.เหนือ-ใต้ มูลค่าราว 56,000 ล้านดอลลาร์ เสนอขออนุมัติจากรัฐสภาในเดือน เม.ย.นี้
ในช่วงหลายปีมานี้เวียดนามได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศผู้บริจาค (Donor Countries) ทั้งแบบ ODA และความช่วยเหลือรูปแบบอื่นๆปีละ 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์
ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามรายใหญ่ที่สุด แต่กรณีทุจริตอื้อฉาวปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลประเทศนี้สั่งระงับเงินช่วยเหลือทุกชนิด จนกว่าฝ่ายเวียดนามจะทำให้เรื่องนี้ให้เป็นที่กระจ่าง.