xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:ออมอนาคตมั่นคงกับกองทุนบำนาญแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ใช่แค่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 53 จะระบุว่าบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ และมาตรา 84(4) ระบุให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการออมรูปแบบต่างๆ เพื่อการดำรงชีพยามชรา

ทว่าความจำเป็นด้านการเงินการคลังของประเทศทั้งในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือรุ่งเรืองก็เพิ่มน้ำหนัก ‘บำนาญแห่งชาติ’ ให้เป็นทางเลือกสอดคล้องสังคมไทยมากสุด ด้วยในระยะสั้นและยาวรัฐจะไม่ต้องแบกรับภาระหนักหนาเหมือนกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท

ยิ่งรัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้เงินมหาศาล เพราะลำพังผู้สูงอายุ 7.37 ล้านคนในปี 2552 ก็ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท/ปีแล้ว ถ้าทวีถึง 11.88 ล้านคนในปี 2563 งบประมาณจะทะยานขนาดไหน

ในเมื่อไม่สามารถรองรับความเข้มข้นของสังคมสูงอายุขณะเศรษฐกิจเสื่อมทรุด การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อรองรับผู้สูงอายุปัจจุบันและผู้สูงอายุอนาคตที่เป็นคนหนุ่มสาววัยแรงงานในวันนี้จึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสุดในการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้ผู้สูงวัยไทย

กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ตามข้อเสนอของแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ที่ผ่านการวิเคราะห์เหตุแห่งปัญหาและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมาอย่างครบถ้วนรอบด้านจึงเป็นทางออกที่มั่นคงถาวรของประเทศชาติประชาชน เพราะประชากรราว 2 ใน 3 ไร้หลักประกันรายได้ใดๆ เลยยามชราภาพ

กระนั้น การเริ่มระบบบำนาญแห่งชาติจักต้องทอนแนวการบริหารชาติบ้านเมืองแบบนโยบายประชานิยมที่กำลังกุมหัวใจประชาชนให้ได้ ด้วยการขับเคลื่อนระบบนี้เรียกร้อง ‘การออม’ จากประชาชนที่เคยเป็น ‘ผู้ขอรอแจก’ มาโดยตลอดจากการหว่านโปรยนโยบายประชานิยมยาวนานต่อเนื่องหลายรัฐบาล ทั้งๆ การออมควรเป็นอุปนิสัยที่ประชาชนทุกเพศวัยสถานะกระทำด้วยตนเองเพื่อสร้างรากฐานมั่นคงก่อนล่วงเลยสู่วัยชราไม่อาจทำมาหากินอีกต่อไป

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าของรัฐบาลแม้จักเป็นเจตนาดี หากก็ต้องทบทวนว่าระยะยาวจะทำได้จีรังยั่งยืนแค่ไหน ในเมื่อปัจจุบันก็เผชิญอุปสรรคขวากหนามแล้ว

การตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพถ้วนหน้านับเป็นพิมพ์เขียวแห่งอนาคตที่ภาครัฐควรขานรับเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญมีหลักประกันด้านรายได้ในวัยร่วงโรย โดยเลิกระบบการสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันอันมีลักษณะทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงวัยเสีย

เนื่องด้วยกองทุนบำนาญแห่งชาติตามข้อเสนอนี้จักเน้นหนัก ‘การมีส่วนร่วมออม’ สำหรับผู้ที่อายุ 20-59 ปี โดยรัฐบาลเข้ามามีบทบาทอุดหนุนทางการเงินเท่านั้น ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินบำนาญตลอดชีพคนละ 500 บาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทางการเงินทั้งหมดเพราะพวกเขาไม่อาจออมเงินภายใต้ระบบใหม่ได้ทัน

ทั้งยังอุดช่องโหว่ไว้จากการกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 50-59 ปีในปัจจุบันได้รับผลประโยชน์จากกองทุนบำนาญแห่งชาติเหมือนผู้ที่มีอายุ 50 ปี เนื่องจากตระหนักว่าระยะเวลาการออมสั้นไป

ช่วงชีวิตการออมของวัยแรงงาน ไม่ว่าจะเริ่มน้อยสุด 20 ปีที่สามารถเข้าเป็นสมาชิกกองทุน หรือล่วงใกล้ 60 ปีก็ตาม ต่างจะภาคภูมิใจในยามชราถ้าได้ใช้จ่ายเงินที่ตนเองร่วมสะสม ไม่ใช่แบมือขอรอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐถ่ายเดียว อีกทั้งยังมีแรงจูงใจจากการได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ในรูปเงินบำนาญทุพพลภาพ เงินบำเหน็จตกทอด และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ นอกเหนือจากเงินบำนาญชราภาพที่เป็นเป้าหมายหลัก

โดยอัตราเงินสะสมมี 10 ขั้นตามฐานะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต่ำสุด 50 บาท/เดือน ถึงสูงสุด 500 บาท/เดือน หากก็เปลี่ยนแปลงอัตราเงินสะสมระหว่างทางได้แต่จะกระทบระดับบำนาญในอนาคต

ด้วยชีวิตคือความไม่แน่นอน บำนาญแห่งชาติจึงกำหนดระบบการขอยกเว้นการสะสมทั้งแบบขอยกเว้นการออมชั่วคราว โดยยื่นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออมเงินแทนชั่วคราวได้ และการได้รับการยกเว้นโดยกฎหมายเนื่องจากเป็นกลุ่มด้อยโอกาส เช่น ติดเชื้อเอชไอวี พิการ หรือศาลสั่งเป็นผู้ไร้สมรรถภาพ โดยกรณีนี้รัฐบาลและ/หรือ อปท.ร่วมกันออมแทน

ยิ่งกว่านั้นถ้าเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ประสบอุบัติเหตุ/ภัยพิบัติ ครอบครัวมีรายได้น้อย หรือมีบุตรทุพพลภาพพิการ ก็สามารถขอยกเว้นการออมชั่วคราวได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้แต่ละคนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือนต่างกันตามระดับเงินสะสม และผลตอบแทนจากการบริหารจัดการเงินสะสมเมื่ออายุถึง 60 ปี โดยกองทุนจะสรุปเงินสะสมและผลตอบแทนที่ได้รับตลอดช่วงเวลาสะสม ก่อนหารเงินก้อนนั้นด้วย 240 (เสมือนหนึ่งผู้รับอายุ 80 ปี) ก่อนจ่ายเงินบำนาญรายเดือนที่คำนวณได้ตลอดอายุขัยของสมาชิกกองทุนแม้จะอายุเกิน 80 ปีก็ตามที

ขณะประเด็นความยั่งยืนของกองทุนที่หลายภาคส่วนสงสัยก็กระจ่างเมื่อนำกติกากองทุนบำนาญแห่งชาติมาทดสอบกับข้อมูลประชากร โดยสมมติสมาชิกกองทุนทุกคนสะสมเงินเดือนละ 150 บาท จะพบว่าสถานะการเงินของกองทุนภายในปี 2592 มั่นคง โดยมีเงินคงเหลือภายในกองทุนระหว่าง 2-5 ล้านล้านบาท ชีวิตของคนเฒ่าคนแก่จึงมั่นคงตามไปด้วยโดยปริยาย

มากกว่านั้นหากเทียบกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท/คน/เดือน โดยไม่สร้างหลักประกันใดเพิ่ม จะพบว่ารัฐบาลสามารถนำจำนวนเงินเท่ากับที่ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพมาสร้างแรงจูงใจในการออมของประชาชน ที่นอกจากจะได้รับบำนาญชราภาพรายเดือนมากขึ้นแล้ว ยังได้รับเงินบำเหน็จตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินบำนาญทุพพลภาพด้วย

หากฝืนเดินหน้าจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงวัยครอบคลุมถ้วนหน้าต่อไปไม่มีทางทำได้แน่ ถึงทำได้ก็ต้องเก็บภาษีอื่นๆ อีกมากเพื่อนำมาถมเติม ที่ท้ายสุดแล้วไม่แคล้วประชาชนต้องเดือดร้อนควักกระเป๋าจ่าย เข้าทำนอง ‘อัฐยายซื้อขนมยาย’ เอาทรัพย์สินประชาชนซื้อคะแนนเสียงประชาชนตามแนวนโยบายประชานิยม

ขณะการบริหารจัดการที่เคยเป็นจุดบอดของกองทุนมากมายในสังคมไทยก็ได้รับการแก้ไข โดยจะตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงมากตามปริมาณมหาศาลของเงินกองทุน ทั้งยังไม่ต้องนำรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินด้วย ตลอดจนประสานงานกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และ อปท.อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับคณะกรรมการบริหารกองทุนก็ต้องบริหารการลงทุนให้ได้ผลตามแผนภายใต้หลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดด้วย

ส่วนช่องทางการออมของประชาชนก็เปิดกว้างมากตั้งแต่การให้ สปส.หักเงินเพิ่มเพื่อเข้ากองทุนกรณีลูกจ้าง จ่ายพร้อมค่าลงทะเบียนกรณีนักศึกษา จนถึงจ่ายพร้อมค่าไฟในกรณีแม่บ้าน

แน่ละแม้ ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน’ จะเป็นประโยคอมตะ ทว่าการเก็บหอมรอมริบกับกองทุนบำนาญแห่งชาตินับเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัด อันเนื่องมาจากผสานกติการัฐธรรมนูญ พันธสัญญาการเมือง และองค์ความรู้วิชาการหนักแน่นบนฐานคติสร้างเสริมสุขภาวะไม้ใกล้ฝั่งผ่านการออม

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่คาดหวังกับความเสี่ยงควบคู่กันแล้วจะประจักษ์ว่าคุ้มค่าน่าลงทุนยิ่งนักทั้งระดับปัจเจกและรัฐบาล ฉะนั้นจะกระตุ้นเศรษฐกิจถดถอยด้วยมาตรการใด เรียกร้องประชาชนให้จับจ่ายใช้สอยมากขนาดไหน ก็อย่าละเลยการบังคับออมเป็นบัญชีรายตัว (Individual Account) ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ของกองทุนบำนาญแห่งชาติ เพราะนอกจากถากถางทางอนาคตมั่นคงถึงไม่มั่งคั่งยามชราของหนุ่มสาววัยแรงงานผู้ลงทุนได้แล้ว ยังถอนแอกอึ้งหนักที่รัฐบาลจะต้องแบกหามต่อไปหากยังยืนกรานจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกคนได้ด้วย.-

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น