ในแต่ละเดือนที่ท่านผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศถูกหักเงินเดือนเพื่อสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น ท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าการสมทบกองทุนประกันสังคมคือการ “ออม” เพื่อการเกษียณของตัวท่านเองด้วย โดยในจำนวนเงินสมทบ 5% ที่ท่านส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น 3% เป็นเงินออมกรณีชราภาพ นายจ้างช่วยสมทบอีก 3% รวมเป็น 6% ซึ่งสำนักงานประกันสังคมออมไว้เตรียมจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อท่านเกษียณ การที่ท่านได้ทยอยออมเงินกับกองทุนประกันสังคมนั้นมีประโยชน์มากถึง 9 ข้อ ดังนี้...
1. ได้ออมเงินแบบอัตโนมัติ การถูกหักเงินเพื่อสมทบกับกองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือนนั้น เป็นการสร้างวินัยการออมให้กับท่านเป็นอย่างดี โดยในแต่ละเดือนท่านจะได้ออมกับกองทุนประกันสังคมเพียง 3% ของเงินเดือน มีเพดานไม่เกิน 15,000 บาท ดังนั้น จำนวนเงินออมสูงสุดที่แต่ละท่านจะส่งเข้ากองทุนคือ 450 บาทต่อเดือนเท่านั้น การมีระบบบังคับออมกับกองทุนประกันสังคมทำให้ท่านมั่นใจว่า ในแต่ละเดือนที่ท่านมีรายได้ จะมีเงินส่วนหนึ่งของรายได้ (ไม่เกิน 450 บาท) ถูกหักออกไปก่อนเพื่อเป็นเงินออม เหลือเท่าไหร่จึงนำมาใช้จ่าย หากไม่มีระบบนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะอดไม่ได้ที่จะนำเงินไปใช้จ่ายจนหมด ไม่เหลือเก็บออม
2. ได้มีนายจ้างช่วยสมทบด้วย นอกจากท่านจะได้ออมกับกองทุนประกันสังคมทุกเดือน สูงสุด 450 บาทต่อเดือนแล้ว นายจ้างของท่านยังช่วยสมทบด้วยในจำนวนเงินที่เท่ากัน การมีระบบประกันสังคมของไทยจึงช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบการออมที่เกิดจากการช่วยเหลือกัน ทั้งฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างมีสวัสดิการที่ดีในอนาคต ดังนั้น เมื่อรวมกับเงินสมทบของนายจ้างอีก 3% ของรายได้ เพดานรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท นายจ้างจึงช่วยสมทบให้ท่านอีกในจำนวนเท่ากับที่ท่านสมทบ คือสูงสุด 450 บาทต่อเดือน ท่านจึงมีเงินออมกับกองทุนประกันสังคมสูงสุด 900 บาทต่อเดือน
3. ได้นำเงินออมไปลงทุนให้งอกเงย เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับเงินออมที่ท่านสมทบแล้ว ก็จะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีความมั่นคง เพื่อให้เงินของท่านงอกเงย และสร้างหลักประกันว่า เมื่อท่านเกษียณ กองทุนจะมีเงินมากพอสำหรับการจ่ายบำเหน็จหรือบำนาญให้กับท่าน สำนักงานได้ทำหน้าที่ในการนำเงินไปลงทุนนี้มากว่า 18 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้นำเงินไปบริหารจนทำให้กองทุนมีกำไรจากการลงทุนสะสมมากกว่า 138,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้เองคือส่วนที่ “งอกเงย” ซึ่งเป็นดอกผลจากการนำเงินออมของท่านไปลงทุน และขอให้ท่านสบายใจว่า ดอกผลเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน และสำนักงานก็นำออกมาใช้ไม่ได้ ผลกำไรจึงยังคงอยู่ในกองทุนทุกบาททุกสตางค์เพื่อรอจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญให้กับท่านในอนาคต
4. ได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ด้วยเหตุที่กองทุนประกันสังคมเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ จึงมีความได้เปรียบในการจัดหาแหล่งลงทุนเมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่เมื่อมีเงินเหลือเก็บก็มักจะนำไปฝากธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมาดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 2.0 - 3.0% ต่อปีแต่กองทุนประกันสังคมนำเงินออมของท่านไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านั้น โดยรวมแล้วเงินออมของท่านที่สำนักงานประกันสังคมดูแลได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยประมาณ 5.50% ต่อปีในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในปี 2551 ซึ่งเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตและกองทุนต่างๆ ประสบภาวะขาดทุน แต่กองทุนประกันสังคมกลับได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นบวกสูงถึง 9.40%
5. ได้นำเงินออมไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ท่านลงทุนเองไม่ได้ กองทุนประกันสังคมมีความได้เปรียบในฐานะนักลงทุนสถาบัน ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งลงทุนที่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้โดยตรง อาทิ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อายุ 10 ปี หรือ 20 ปี ในมุมมองของท่านอาจจะเห็นว่า พันธบัตรแบบนี้อายุยาวเกินไป ท่านไม่สามารถซื้อวันนี้แล้วรอไปอีก 10 ปีจนครบกำหนดไถ่ถอนได้ ท่านอาจจะต้องหันไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ระยะสั้น อายุ 2 -3 ปี ในขณะที่กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนบำนาญระยะยาว มีความสามารถในการลงทุนในตราสารที่มีอายุยาวได้ กองทุนจึงสามารถลงทุนในพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปีได้ ซึ่งโดยทั่วไปพันธบัตรระยะยาวจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้น
6. ได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง ท่านที่มีเงินออมหลายท่านอาจจะสนใจเรื่องหุ้น และนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้น ท่านจะสังเกตได้ว่าถ้าผู้ลงทุนมีเงินน้อย เช่น 1 – 2 แสนบาท ท่านจะลงทุนในหุ้นได้เพียง 2-3 ตัวเท่านั้น และเมื่อซื้อหุ้นไปแล้ว ท่านจะสังเกตได้ว่า ราคาหุ้นที่ท่านลงทุนมีความผันผวนสูงมาก ท่านมีความเสี่ยงที่อาจจะกำไรมากหรือขาดทุนมาก แต่กองทุนประกันสังคมนำเงินของผู้ประกันสังคมจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศมากองรวมกัน คิดเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท แล้วนำเงินนี้ไปกระจายลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความหลากหลาย โดยเงินกองทุนกว่า 85% นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้เอกชน ส่วนที่เหลืออีก 15% กระจายลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ การกระจายลงทุนแบบนี้ทำให้กองทุนไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในระยะสั้น ทำให้ท่านมั่นใจว่า แม้ว่าตลาดการเงินจะมีความผันผวนแต่เงินออมของท่านไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ครบและมั่นคงที่กองทุนประกันสังคม
7. บริหารด้วยทีมงานมืออาชีพ การออมเงินกับกองทุนประกันสังคมนั้น นอกจากจะเป็นระบบการออมอัตโนมัติแล้ว ท่านยังอุ่นใจด้วยว่า เงินที่ท่านออมกับกองทุนได้รับการดูแลจากทีมงานจัดการกองทุนของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เป็นการแบ่งเบาภาระการบริหารเงินออมออกจากตัวท่านไปให้สำนักงานประกันสังคมทำหน้าที่แทน นอกจากนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภทมีความซับซ้อนในการวิเคราะห์ เช่น การลงทุนในหุ้นกู้เอกชน หุ้นสามัญ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นต้น การลงทุนเหล่านี้ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากและใช้เวลานานในการวิเคราะห์ โดยผู้วิเคราะห์ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้นๆ เป็นอย่างดี การที่สำนักงานประกันสังคมบริหารเงินออมให้กับท่านจึงช่วยแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ ทำให้ท่านไม่ต้องเสียเวลาในการวิเคราะห์หรือจัดหาแหล่งลงทุนเอง
8. มีสิทธิรับบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเกษียณ ท่านที่เกษียณและสมทบเกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี จะมีสิทธิได้รับ “บำเหน็จ” ซึ่งเป็นเงินก้อน จำนวนเท่ากับเงินสมทบส่วนที่ท่านและนายจ้างสมทบกลับคืนไปบวกดอกผลจากการลงทุนในช่วงเวลาที่ท่านสมทบเข้ากองทุน ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท ช่วงที่ทำงานท่านจะสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นเงินออม 3% ของเงินเดือน คือ 10,000 x 3% = 300 บาท นายจ้างสมทบอีก 300 บาท รวมเงินออม 600 บาทต่อเดือน หากสมทบเป็นเวลา 10 ปีและมีสิทธิรับบำเหน็จ จะได้รับเงินบำเหน็จประมาณ 72,000 บาท ที่ใช้เป็นค่าประมาณเพราะเงินบำเหน็จที่ได้รับต้องรวมดอกผลจากการลงทุนด้วย
สำหรับท่านที่เกษียณและสมทบตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิรับ “บำนาญ” จ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดชีวิต เงินบำนาญที่ได้รับเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และทุกๆ ปีที่สมทบเพิ่ม (คือตั้งแต่ปีที่ 16 เป็นต้นไป) ท่านจะได้รับโบนัสส่วนเพิ่ม เท่ากับร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท ช่วงที่ทำงานท่านจะสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นเงินออม 3% ของเงินเดือน คือ 10,000 x 3% = 300 บาท นายจ้างสมทบอีก 300 บาท รวมเงินออม 600 บาทต่อเดือน หากสมทบเป็นเวลา 35 ปีและมิสิทธิรับบำนาญ จะได้รับเงินบำนาญจำนวน (20% x 10,000) + (1.5% x 20 ปีที่สมทบเพิ่ม x 10,000) = 5,000 บาทต่อเดือนทุกเดือนตลอดชีวิต
ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพเริ่มจัดเก็บเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 แต่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ จึงย้อนไปนับระยะเวลาเพื่อให้มีสิทธิรับบำเหน็จหรือบำนาญให้อีก 1 เดือน คือให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 เป็นต้นมา ดังนั้น ท่านที่สมทบกับกองทุนประกันสังคมตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2541 ก็จะสามารถเริ่มนับสิทธิบำเหน็จ/บำนาญได้พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 จนถึงวันที่ท่านเกษียณ
9. ได้รับบำนาญทุกเดือนตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอายุยืนแค่ไหนก็ตาม จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในกรณีที่ท่านมีสิทธิได้รับบำนาญ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนไม่กี่พันบาท แต่ท่านจะได้รับเงินบำนาญดังกล่าวทุกเดือนตลอดชีวิต แม้ว่าท่านจะอายุยืนถึง 80 ปี 90 ปี หรือ 100 ปี ท่านจึงมั่นใจได้ว่า ทุกๆ เดือนหลังเกษียณ แม้จะไม่มีรายได้หรือไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากลูกหลาน อย่างน้อยท่านได้มีเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน เป็นการแบ่งเบาภาระทางการเงินและสร้างความมั่นคงให้กับท่านตลอดชีวิต
หากนายจ้างหรือผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น. หรือที่ www.sso.go.th