ออมอุ่นใจกับกองทุนประกันสังคม
วิน พรหมแพทย์, CFA, win@sso.go.th
ต่อจากฉบับวานนี้ หากท่านเป็นคนที่กลัวความเสี่ยงมาก ท่านคงคิดว่าเอาเงินออมทั้งหมดไปลงทุนในพันธบัตรไทยดีที่สุด (ตะกร้าแบบ A) ผลที่ตามมาก็คือ ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจะอยู่ในระดับ 4.08% ต่อปี ตะกร้าเงินออมของท่านจะมีความเสี่ยงที่ระดับ 8.16% และหากท่านออมเดือนละ 2,000 บาท เริ่มออมเมื่ออายุ 30 ปี เมื่อเกษียณที่อายุ 60 ปี ท่านจะมีเงินสะสม 1.36 ล้านบาท
แนวคิดแบบนี้เน้นความปลอดภัยเป็นหลักและใช้หลักการของการ “รักษาเงินต้น” นั่นเอง ซึ่งที่จริงแล้วไม่ค่อยเหมาะสมกับท่านที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานถึงอายุ 35 ปี เพราะท่านกำลังระมัดระวังในการรักษาเงินต้นมากเกินไป ทำให้เงินของท่านงอกเงยช้า เพียง 4% ต่อปี ท้ายที่สุดแล้วท่านอาจจะมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ซึ่งก็หมายถึงการไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในทางตรงข้าม ท่านที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานถึงอายุ 35 ปีมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มาก มีเวลาเก็บออมนาน และมีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาด ท่านควรจะใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการสร้างพอร์ตเงินออมที่เน้นการ ทำให้เงินงอกเงย (Capital Appreciation)
ลองดูตัวอย่างตะกร้าแบบ D นะครับ ท่านแบ่งเงินออมในตะกร้าไปลงทุนในพันธบัตร 20% และลงทุนในหุ้น 80% ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 9.29% ต่อปี ในขณะที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่ถึงสองเท่า เป็น 17.96% แต่ด้วยผลตอบแทนที่มากขึ้น และด้วยระยะเวลาการออมนานถึง 30 ปี เงินออมเพียง 2,000 บาทต่อเดือนเท่ากัน ท่านจะมีเงินสะสมมากถึง 3.45 ล้านบาทเมื่อเกษียณระดับความเสี่ยง 17.96% ที่ว่านี้ เกิดจากความผันผวนของราคาหุ้นนั่นเอง เพราะในระยะสั้น ราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนมาก ทำให้มูลค่าหุ้นที่ท่านลงทุนเปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าพันธบัตรที่เปลี่ยนแปลงน้อยกว่า แต่ในระยะยาว การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร ดังนั้น ความเสี่ยงของหุ้นที่เกิดจากความผันผวนของราคาในระยะสั้นจึงไม่ได้ส่งผลกระทบกับท่านมากนัก เพราะท่านมีข้อได้เปรียบอยู่แล้วตรงที่มีระยะเวลาการลงทุนยาว 30 – 35 ปีนั่นเอง
ที่จริงแล้ว ในตำราการเงินหลายเล่มแนะนำว่า คนที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานถึงอายุ 35 ปี ควรลงทุนในหุ้น 100% ด้วยซ้ำ แต่เพื่อความสบายใจ ผมแนะนำให้ถอยมาสัก 1 ก้าว มีพันธบัตรไว้สัก 20% ของพอร์ต น่าจะช่วยให้ท่านนอนหลับสบายในช่วงที่ตลาดหุ้นแย่ๆ นะครับ
สังเกตนะครับว่า ถึงแม้ว่าคน 2 คนจะทำทุกอย่างเหมือนกัน คือ ออมอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 2,000 บาท เริ่มออมพร้อมกันเมื่ออายุ 30 ปีและเกษียณพร้อมกันเมื่ออายุ 60 ปี
คนที่เน้นการรักษาเงินต้น (จัดตะกร้าแบบ A คือ ลงทุนในพันธบัตร 100%) จะมีเงิน 1.36 ล้านบาทเมื่อเกษียณ ส่วนคนที่เน้นทำให้เงินงอกเงย (จัดตะกร้าแบบ D คือลงทุนในพันธบัตร 20% หุ้น 80%) จะมีเงิน 3.45 ล้านบาทเมื่อเกษียณ มากกว่ากันเกือบ 3 เท่า
เห็นหรือยังครับว่า การจัดตะกร้าเงินออม หรือในภาษาการเงินเรียกว่า Asset Allocation มีความสำคัญมากเพียงใด
อย่างไรก็ดี การจัดตะกร้าเงินออมข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำทั่วๆ ไปนะครับ ในความเป็นจริงคนทุกคนล้วนมีความต้องการและมีลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ต่างกัน ท่านก็สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในตะกร้าเงินออมของท่านได้ตามความเหมาะสม และที่สำคัญ หากท่านรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนไม่ชอบความเสี่ยงหรือไม่ชอบหุ้น ก็อย่าฝืนนะครับ เลือกตะกร้าที่ไม่มีหุ้นเลย (แบบ A) หรือมีหุ้นเพียง 20% (แบบ B) ก็ได้ ถึงแม้ว่าเงินออมจะโตช้าหน่อย แต่ท่านลงทุนอย่างสบายใจ ไม่ฝืนใจตัวเอง น่าจะดีกว่าครับ
ซื้อกองทุนรวม ดีกว่าลงทุนเอง
ถึงแม้ว่าผมจะแนะนำให้แบ่งเงินออมส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้น แต่ผมไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นเองโดยตรงนะครับ เพราะโดยทั่วไปการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ โดยตรงต้องใช้เวลาติดตามวิเคราะห์ค่อนข้างมาก ทุกวันนี้เราสามารถลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” เพื่อใช้บริการจากมืออาชีพให้บริหารเงินออมแทนเราน่าจะสะดวกกว่า
การลงทุนใน “กองทุนรวม” นั้นทำให้ท่านสามารถลงทุนในหุ้นได้พร้อมกันหลายๆ ตัวโดยไม่ต้องมีเงินลงทุนจำนวนมากนัก จึงช่วยให้ได้กระจายการลงทุนเพื่อกำจัดความเสี่ยงเฉพาะหุ้นแต่ละตัวได้ ท่านจึงเหลือแต่ความเสี่ยงของตลาดในภาพรวม ซึ่งก็จะค่อยๆ ลดทอนลงหากท่านลงทุนในระยะยาว
ดังนั้น ผมขอแนะนำว่า สำหรับท่านที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานถึงอายุ 35 ปี ควรแบ่งพอร์ตเงินออมดังนี้
-20% ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร
-80% ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนที่ลงทุนในหุ้น
หรือจะมองหากองทุนแบบผสม ที่แบ่งลงทุนในพันธบัตร 20% ลงทุนในหุ้น 80% ก็ได้ครับ
หากท่านมีภาระภาษี ผมแนะนำว่า แทนที่จะลงทุนในกองทุนหุ้นทั่วๆ ไป ท่านควรจะลงทุนในกองทุนแบบ Retirement Mutual Fund (RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น หรือ Long Term Equity Fund (LTF) ดีกว่าครับ เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว กองทุน RMF และ LTF ยังมีลักษณะที่บังคับให้ท่านต้องลงทุนระยะยาวด้วย สอดคล้องกับลักษณะการลงทุนของท่านพอดี
สำหรับการลงทุนอื่นๆ นอกเหนือจากพันธบัตรและหุ้น เช่น ทองคำ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในต่างประเทศ นั้นมีความซับซ้อนมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เมื่อท่านมั่นใจว่าท่านมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเหล่านี้มากพอ ท่านอาจจะแบ่งเงินออมมาลงทุนได้บ้าง ผมขอแนะนำว่าในเบื้องต้นไม่ควรจะเกิน 5 – 10% ของตะกร้าเงินออมครับ
ส่วนการเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารนั้น โดยทั่วไปผมไม่ค่อยแนะนำครับ เพราะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าพันธบัตร ท่านอาจจะมีเงินในบัญชีเงินฝากเฉพาะส่วนที่เป็นการสำรองเงินฉุกเฉินที่ฝากถอนได้ง่าย หรือในกรณีเป็นบัญชีเงินฝากแบบพิเศษที่เน้นการออมระยะยาวและได้ดอกเบี้ยสูงเท่านั้นครับ
ในตอนต่อไป ผมจะได้แนะนำการจัดการเงินออมสำหรับท่านที่อยู่ในวัย 35 – 55 ปีนะครับ
ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.