xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ ออมอุ่นใจกับกองทุนประกันสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 

เตรียมตัวให้พร้อมหากต้องว่างงาน /วิน พรหมแพทย์, CFA, win@sso.go.th

จากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะถดถอย จะมีคนตกงานกว่า 1 ล้านคน จากข้อมูลทั่วประเทศที่พบว่า บางอุตสาหกรรม เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก จะลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 20-30 จากปัญหาการสั่งซื้อที่ลดลง ส่งผลต่อการจ้างงานตามเป็นลูกโซ่ ขณะที่บัณฑิตที่จะสำเร็จการศึกษาในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งจะเดินเข้าสู่ระบบแรงงานใหม่ จะต้องเดินเตะฝุ่นหางานกว่า 7 แสนคนเพราะหางานยากขึ้น

ผมขอใช้พื้นที่คอลัมน์นี้แนะนำท่านผู้ประกันตนเกี่ยวกับการเตรียมตัวให้พร้อมหากต้องว่างงาน และแนะนำให้ท่านรู้จักสิทธิประโยชน์ที่ท่านจะได้รับจากกองทุนประกันสังคมในกรณีว่างงานนะครับ

เตรียมเงินสำรองไม่ต่ำกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

ถึงแม้ว่าท่านผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมในกรณีว่างงานเป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่เงินชดเชยที่ได้รับอาจจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย ผมจึงขอแนะนำให้ท่านเปิดบัญชีแยกต่างหากอีก 1 บัญชี เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้หากท่านต้องออกจากงาน ในช่วงที่ท่านยังมีงานทำและมีเงินเดือนอยู่นี้ ท่านควร “หยอดกระปุก” ทุกๆ เดือน สะสมให้มียอดไม่ต่ำกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น หากท่านมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ท่านควรจะสะสมเงินในบัญชีสำรองนี้ให้มียอดไม่ต่ำกว่า 60,000 บาท

การมีเงินสำรองนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน ท่านจะยังสามารถดูแลค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมทั้งมีความสามารถในการผ่อนชำระได้อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ เพราะหากอยู่ดีๆ เรามีเหตุต้องออกจากงาน แต่เรายังมีภาระการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถอยู่ หากไม่มีเงินสำรอง เราก็อาจจะต้องไปขอยืมเงินคนอื่นหรือกู้เงินจากแหล่งอื่นซึ่งมักจะคิดดอกเบี้ยแพงกว่า สร้างภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น การมีเงินสำรองนี้จึงช่วยให้เรามีเงินรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้โดยที่ไม่ต้องกู้ยืมเงินใครมาใช้ และที่สำคัญคือเรายังสามารถผ่อนชำระได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องถูกยึดบ้านหรือยึดรถ ซึ่งหลายท่านต้องเคยประสบปัญหามาแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540

การ หยอดกระปุก เข้าบัญชีสำรองนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากครับ ท่านจะต้องมีวินัยในตัวเองสูงมาก ทันทีที่มีรายได้พิเศษ มีโบนัส หรือมีเงินเหลือ ต้องรีบโอนเข้าบัญชีสำรองนี้ทันที อย่าทิ้งไว้ในบัญชีที่ถอนไปใช้ได้ง่าย หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ทำระบบการโอนเงินอัตโนมัติ เริ่มต้นแบบง่ายๆ สัก 4,000 – 5,000 บาทต่อเดือนเป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้ บัญชีสำรองไม่ควรมีบัตรเอทีเอ็ม เพราะจะทำให้เบิกเงินมาใช้ง่ายเกินไป ทางที่ดี ควรเป็นเป็นบัญชีเงินฝากประจำ หรือซื้อหน่วยลงทุนกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น มีความมั่นคงและมีสภาพคล่องพอสมควร ที่มักเรียกกันว่า Money Market Fund ซึ่งสามารถขายคืนเพื่อเอาเงินมาใช้ได้เมื่อจำเป็น แต่ก็ไม่สะดวกมือจนเกินไป

ใช้หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และกำจัดหนี้นอกระบบให้หมด

ในช่วงที่ท่านยังมีงานทำและมีเงินเดือนนี้ ท่านคงจะต้องพยายามมากขึ้นในการกำจัดหนี้พวกนี้ให้หมด เพราะเมื่อท่านว่างงานและไม่มีรายได้ การใช้หนี้เหล่านี้จะยิ่งลำบากขึ้นเป็นทวีคูณ ท่านคงทราบแล้วว่าภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้สินเหล่านี้สูงมาก ประมาณ 15 – 25% ต่อปี ยิ่งปล่อยไว้ภาระหนี้ยิ่งพอกพูน ต้องยอมรับว่าเรื่องการใช้หนี้ดอกเบี้ยแพงให้หมดเป็นเรื่องที่ทำยากมากครับ เราจะต้องใช้ความอดทนสูงมากและต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด (หยุดซื้อเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เที่ยวกลางคืน ทานอาหารนอกบ้าน รวมทั้งเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ฯลฯ) หารายได้เสริม ขายทรัพย์สินส่วนตัวบางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ และที่สำคัญคือต้องไม่ก่อหนี้ใหม่เด็ดขาด

เราอาจจะต้องใช้เวลา 6 เดือน – 1 ปี หรือมากกว่านั้นกว่าจะทำสำเร็จ แต่หากทำได้ เราจะได้เป็นคนปลอดหนี้ที่มีความสุขมากครับ

เตรียมหาอาชีพเสริม

ท่านที่ทำงานประจำเป็นเวลานานจะเริ่มเคยชินกับชีวิตการทำงานและมีความชำนาญในงานที่ตนทำอยู่ จนลืมไปว่า จริงๆ แล้วตัวเราอาจจะมีทักษะอย่างอื่นที่จะช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเราได้ และอาจจะเป็นแหล่งรายได้ในช่วงที่ว่างงาน เรื่องอาชีพเสริมนี่มีหลากหลายมากครับ ท่านอาจจะต้องใช้เวลาสักเล็กน้อยสำรวจตนเองว่าเราถนัดอะไร อาจจะเป็นการทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี ฯลฯ ล้วนเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ทั้งสิ้นครับ

สิทธิประโยชน์ที่ท่านจะได้รับจากกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน

ท่านผู้ประกันตนอาจจะพอจำที่ผมเล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมว่า ในจำนวนเงินสมทบ 5.0% ที่ท่านส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

-1.5% ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร
-3.0% ให้ความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ
-0.5% ให้ความคุ้มครองกรณีว่างงาน

นอกจากส่วนที่ท่านสมทบแล้ว นายจ้างของท่านยังสมทบให้อีก 5.0% รัฐบาลสมทบให้ 2.75% รวมเงินที่สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 12.75% ต่อเดือน

ดังนั้น ในทุกๆ เดือนที่ท่านสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ท่านได้เตรียมพร้อมแล้วส่วนหนึ่งในการดูแลตัวท่านเองหากจะต้องว่างงาน ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 กองทุนประกันสังคมกรณีว่างงานมีเงินลงทุนสะสมจำนวน 35,247 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นี่เองที่สำนักงานประกันสังคมเตรียมสำรองไว้จ่ายสิทธิประโยชน์หากท่านผู้ประกันตนจะต้องว่างงาน

ในกรณีที่ท่านผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง ออกจากงาน และว่างงานซึ่งส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ท่านจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ทั่วประเทศภายใน 30 วันหลังถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน โดยกระทรวงแรงงานจะให้การช่วยเหลือในการบริการจัดหางานการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมทั้งรับเงินทดแทนกรณีว่างงานไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ตาม

ทั้งนี้ ท่านผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างยังได้รับความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร

กรณีที่ผู้ประกันตนว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (การรับเงินทดแทนจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ)

การได้รับความคุ้มครองต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หากท่านผู้ประกันตนต้องว่างงานเป็นเวลานานหรือได้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพส่วนตัวและประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นลักษณะของการสมัครใจประกันตนต่อหลังจากสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้ประกันตนต้องมีประวัติการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต่อมาสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและแจ้งความประสงค์เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส. 1-20) ด้วยตนเองภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปรวม 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ซึ่งในอัตราเงินสมทบ 6% หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 288 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น เป็นเงินออมในกรณีสงเคราะห์บุตรและ เงินออมชราภาพ ซึ่งเงินส่วนนี้ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับคืนเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว

หากนายจ้างหรือผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น