xs
xsm
sm
md
lg

กบข.-สปส.รุกถือบอนด์เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบข.เตรียมขยายการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่ม เพื่อกระจายความเสี่ยง หลบความผันผวน พร้อมคาดผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ปีนี้อยู่ที่ 4-4.5% เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคม ที่ขยายสัดส่วนลงทุนผ่านบอนด์ ลดสัดส่วนฝากแบงก์รองรับ พ.ร.บ.เงินฝาก แม้ผลตอบแทนลดหลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ผลตอบแทนโดยรวมของการลงทุนในส่วนของพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คาดว่า เฉลี่ยทั้งปีอัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4-4.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ที่ใช้อ้างอิง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ของ กบข.ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับการระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ในประเทศมีความผันผวน และในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีการปรับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน โดยการกระจายการลงทุนไปยังตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีความมั่นคงสูง แต่ให้ผลตอบแทนที่ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ของ กบข. แบ่งออกเป็นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศร้อยละ 67.8 และตราสารหนี้ต่างประเทศร้อยละ 4.94

นายวิสิฐ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐจะช่วยให้แนวโน้มการลงทุนดีขึ้น แต่ยังต้องระมัดระวังในการลงทุนอยู่ เพราะราคาน้ำมันยังคงผันผวนและความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่นปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Sub-Prime) ตลอดจนปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ตลาดเงินตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีความผันผวนอยู่ต่อไป

“แนวโน้มการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะยังให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนไปยังตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ ตลอดจนการเตรียมพร้อมที่จะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ทันทีที่สภาพตลาดมีทิศทางที่ชัดเจน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาวให้แก่สมาชิก กบข.ต่อไป” นายวิสิฐ กล่าว

**สปส.ลดฝากแบงก์แห่ลงตราสารหนี้**

นายวิน พรหมเเพทย์ ผู้จัดการกองทุน สำนักบริหาร สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตั้งเเต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝาก ทางเราได้ปรับลดสัดส่วนการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ โดยเราได้กระจายความเสี่ยงเเละมีสัดส่วนในการลงทุนดังนี้ พันธบัตรรัฐบาลไทย 54% พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน 19% หุ้นกู้เอกชน 8% ตราสารหนี้อื่น ๆ 4% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 0.5% และหุ้นไทย 9% เเม้ช่วงนี้ผลตอบเเทนของตราสารหนี้ได้ปรับตัวลดลงเนื่องจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอัตราผลตอบเเทน1 ปีย้อนหลัง ณ วันที่ 1 กรกฏาคม - 1 มิถุนายน 2550 อยู่ที่ 4.51% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ1 กรกฎาคม -1 มิถุนายน 2549 ที่ให้ผลตอบเเทน 5.6% ก็ตาม

“ส่วนตัวมองว่าการตลาดหุ้นไทยยังเล็กเกินไป ซึ่งถ้ากองทุนของเราซื้อขายมากถึง 4-5 พันล้านบาทจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการซื้อขายด้วยเช่นกัน” นายวิน กล่าว

ขณะที่หลักเกณฑ์การลงทุนในหุ้นช่วงที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2551 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 535,485 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญ 8.78% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 47,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2549 ที่ให้ลงทุนในหุ้นได้ไม่เกิน 20% ของเงินกองทุน นับตั้งแต่เริ่มลงทุนในหุ้น กองทุนได้รับผลกำไรจากการลงทุนมาโดยตลอด โดยในครึ่งปีแรกของปี 2551 กองทุนได้รับผลตอบแทนจากหุ้น 1,747 ล้านบาท จากผลตอบแทนรวม 12,285 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการ สปส.กล่าวถึงการลงทุนในครึ่งปีหลัง ว่า สำนักงานประกันสังคมยังคงเน้นการกระจายการลงทุนมากขึ้น ทั้งในประเทศไทยและในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทย และหุ้นไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการของกองทุน รวมทั้งต้องแสวงหาทางเลือกการลงทุนใหม่ที่เหมาะสมกับกองทุน ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สปส.ด้วย

โดยในส่วนของแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้น ขณะนี้กองทุนมีวงเงินลงทุนในต่างประเทศรวม 24,435 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของเงินลงทุนกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2551 สำนักงานได้รับอนุมัติวงเงินลงทุนในต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเติมอีกจำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 19,800 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แผนการลงทุนและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้จัดการกองทุนต่างประเทศได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนแล้ว ซึ่งต่อไปสปส.จะนำเสนอแผนและหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการและหากได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนต่างประเทศได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปี 2551 และทยอยลงทุนได้ในต้นปี 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น