xs
xsm
sm
md
lg

เงินสวัสดิภาพของประชาชน ‘การเมือง-ภาครัฐ’ไม่ควรแทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สำหรับคนทำงาน สิ่งหนึ่งที่พวกเขาหลายคนไม่ปรารถนานั่นคือการเข้ามาแทรกแซงในเรื่องสวัสดิภาพ เพราะแม้ว่าภาครัฐจะนำเงินในส่วนนี้เข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้ แต่ระยะยาวย่อมมีผลเสียเกิดขึ้นเช่นกัน"

หน้าที่ในการพัฒนาประเทศชาตินั้น เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของรัฐบาล ในการเข้ามาดูแล บริหารให้ภาพรวมของประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดมาสู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขในเรื่องต่างๆ

สำหรับการลงทุน สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นมากที่สุด หนีไม่พ้นการเบิกจ่ายงบลงทุนตามโครงการต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่มีมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท เพราะหากภาครัฐมีความชัดเจนในการเดินหน้าโครงการเหล่านั้น ย่อมหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะกระจายไปสู่ผู้ประกอบการ และจากนั้นจะกระจายไปสู่ภาคประชาชนในรูปแบบของรายได้ต่อไป

โดยทั่วไป จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาใดที่ส่งผลกระทบต่อการระบบเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐจะเข้ามาดำเนินการแก้ไข หรือวางนโยบายดำเนินการเรื่องเหล่านั้นมาโดยตลอด ซึ่งถือว่านี่คือหน้าที่และความรับผิดชอบของภาครัฐ แต่ในบางครั้งเราอาจได้เห็นภาครัฐเข้ามามีบทบาทแทรกแซงการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนบางครั้งดูเหมือนว่าคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นจริงๆแทบไม่มีบทบาท หรือทำอะไรกับเรื่องดังกล่าวไม่ได้เลย

สำหรับคนทำงานทั้งในแบบข้าราชการและเอกชนแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขาหลายคนไม่ปรารถนานั่นคือการเข้ามาแทรกแซงในเรื่องสวัสดิภาพของพวกเขา เพราะแม้ว่าภาครัฐจะนำเงินในส่วนนี้เข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้ แต่ระยะยาวย่อมมีผลเสียเกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเม็ดเงินเหล่านี้จะเป็นเม็ดเงินในอนาคตของพวกเขา และหากมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีการบริหารที่ไม่โปร่งใสจนสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินในอนาคตของประชาชน โดยเฉพาะเม็ดเงินยามเกษียณอายุ หรือยามชราภาพแน่

โดยเมื่อเร็วๆนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ นั่นคือ ข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า จากการที่ได้ลงทุนซื้อหุ้นของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือBT เมื่อกว่า 2 ปีก่อน จำนวน 63 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละกว่า 7 บาท รวมเป็นเงินกว่า 440 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากที่ปรึกษาด้านการลงทุนของ สปส. ว่าไม่เห็นด้วยเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่เนื่องจากมีคำสั่งจากนักการเมืองขณะนั้นร่วมมือกับข้าราชการระดับสูงบางคนใน สปส. จึงได้มีการซื้อหุ้นบีทีจากแหล่งต่างๆ ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นบริษัทที่ลูกสาวนักการเมืองใหญ่รายหนึ่งถือหุ้นอยู่ด้วย

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการแทรกแซงจากนักการเมืองจนทำให้ข้อสรุปออกมาไม่ชัดเจน และคำตอบที่ชี้แจงกับสังคมคือยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากยังไม่มีการขายหุ้นดังกล่าวออกมา ถือเป็นที่เหตุที่หลายมองว่า  “ฟังไม่ขึ้น” แม้ในล่าสุดคณะอนุกรรมการด้านการลงทุนของ สปส.ได้เตรียมขายหุ้นBT ที่ขณะนี้ราคาตกเหลือเพียงหุ้นละกว่า 1 บาทไปพร้อมกับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่จะขายให้สถาบันการเงินแห่งหนึ่งของมาเลย์เซียแล้ว ยิ่งเหมือนกับว่าเป็นการยอมรับผิดที่เกิดขึ้น และทำใจยอมขาดทุนไปแล้วร่วม 300 ล้านบาทจากเงินลงทุนครั้งแรกของสปส. ซึ่งจะดีกว่าที่จะเก็บหุ้นดังกล่าวไว้ในพอร์ตต่อไป เพราะแม้แต่คนในวงการลงทุนหลายคนเอง ก็ยังไม่มีใครออกมาการันตีได้ว่าหุ้นตัวนี้จะดีขนาดไหน?

ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้สำหรับผู้ประกันตนทุกคนที่ต้องแบ่งจ่ายเงินส่วนหนึ่งของตนให้กับภาครัฐทุกเดือน แล้วจะต้องมาพบหรือรับทราบกับข่าวแบบนี้ แม้ว่าเงินเหล่านั้นเฉลี่ยต่อคนแล้วจะดูเป็นแค่เศษเงินเล็กน้อย แต่ถ้าดูจากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดแล้วเม็ดเงินเหล่านี้ก็มากมายมหาศาลเช่นกัน

เงินที่ต้องจ่ายให้กับสปส.ทุกเดือนจำนวน 5% บวกเพิ่มกับสัดส่วนที่นายจ้างหรือเจ้าของบริษัทต้องจ่ายเข้ามาสมทบได้ด้วย โดยปกติทั่วไปสปส.จะมีคณะกรรมการด้านการลงทุนทำหน้าที่บริหาร และดูแลผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นแทนผู้ประกันตนทุกคน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีหลายฝ่ายกังวลว่าเม็ดเงินดังกล่าวอาจมีไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินดูแลผู้ที่เกษียณอายุการทำงาน อีกทั้งในอนาคตตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จากข้อกำหนดในการลงทุนของสปส.ซึ่งถือว่าอยู่ในวงจำกัด เพราะส่วนใหญ่จะมาจากความกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนนั้น ยิ่งบีบให้การเข้าลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนกลับมาในระดับสูงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นจึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของสปส.ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูงให้กลับคืนมาสู่กองทุนได้ แต่การลงทุนนั้นจะต้องเป็นไปตามกรอบเงื่อนไข กฏเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้ ซึ่งจะรวมถึงการพิจารณาคัดเลือกการลงทุนในหุ้นที่ดี มีศักยภาพ โดยผ่านความเห็นชอบจากที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่มีประสบการณ์ รวมทั้งข้อดีของการลงทุนในระยะยาว เพราะจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนในประเภทสินทรัพย์อื่นๆ

สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมตระหนักดีว่า การลงทุนในหุ้นนั้นแม้จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาในระยะสั้น แต่หากมีวินัยการลงทุนที่เคร่งครัด คัดเลือกลงทุนเฉพาะในหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เน้นรับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล และเน้นลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 5-10 ปีขึ้นไป การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในเงินฝากธนาคารและพันธบัตรมาก ซึ่งกองทุนประกันสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีชราภาพจำเป็นต้องแสวงหาดอกผลจากการลงทุนในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้กองทุนมีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายบำนาญชราภาพในอนาคต

สำหรับหลักเกณฑ์การลงทุนในหุ้นช่วงที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 535,485 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญ 8.78% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 47,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2549 ที่ให้ลงทุนในหุ้นได้ไม่เกิน 20% ของเงินกองทุน ทั้งนี้นับตั้งแต่เริ่มลงทุนในหุ้น กองทุนได้รับผลกำไรจากการลงทุนมาโดยตลอด โดยในครึ่งปีแรกของปี 2551 กองทุนได้รับผลตอบแทนจากหุ้น 1,747 ล้านบาท จากผลตอบแทนรวม 12,285 ล้านบาท

โดยในแต่ละปี คณะกรรมการประกันสังคมจะอนุมัติแผนการลงทุนประจำปี ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคัดกรองหุ้นสามัญที่ลงทุนได้ (Stock Universe) โดยพิจารณาคัดเลือกเฉพาะบริษัทที่มีผลประกอบการและปัจจัยพื้นฐานดี และเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง จะถูกคัดเลือกให้เหลือหุ้นที่ลงทุนได้เพียงประมาณ 70 บริษัท หลังจากนั้น ทีมนักวิเคราะห์และทีมผู้จัดการกองทุนของสำนักงานจะทำการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของ 70 บริษัท โดยการเลือกลงทุนในหุ้นตัวใดจะเป็นไปตามราคาและภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงตามที่ได้วางกลยุทธ์การลงทุนไว้ อย่างไรก็ตามหากมีหุ้นที่น่าสนใจลงทุนแต่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อหุ้นที่ลงทุนได้ สำนักงานจะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคมเป็นรายกรณี

ดังนั้นแล้วการที่จะมีการเมือง หรือภาครัฐหวังเข้ามาใช้เม็ดเงินเหล่านี้ เพื่อไปลงทุนในด้านใดก็ตาม จะให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือส่วนตัวเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่ได้ เพราะจะต้องมองถึงความจำเป็นและผลที่ได้รับกลับมาของการนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปลงทุนด้วย ว่าจะคุ้มค่าหรือพอเพียงต่อในอนาคตแค่ไหน หรืออาจกล่าวง่ายๆว่า ควรให้อิสระต่อการดำเนินงาน ในการเลือกการลงทุนแก่สปส.ซึ่งมีที่ปรึกษาด้านการลงทุนอย่างมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินการเอง และควรเป็นผู้คอยตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินงานในเรื่องต่างๆมากกว่าที่จะมาบังคับให้กองทุนต้องดำเนินการตามนโยบายนั้นๆของตน

ขณะเดียวกันเองผู้บริหารสปส.ก็ควรรู้จักรัดกุมต่อการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีความเหมาะสม เพราะทุกบาท ทุกสตางค์ที่ท่านใช้ไปได้ถามเจ้าของเงินก่อนแล้วหรือยัง? เพื่อบางทีค่าอบรมสัมมนาในครั้งต่อไป ที่อาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนเงินเดือนน้อยที่ทำงานมาครึ่งชีวิต จะได้ถูกปรับลดลงให้อยู่ในลักษณะที่พอเพียง สมเหตุสมผล
กำลังโหลดความคิดเห็น