xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสำรองฯ อาร์เอ็มเอฟมีลุ้น-คุ้มครองเงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-อาร์เอ็มเอฟ ยังมีสิทธิ์รับการคุ้มครองเงินฝาก เช่นเดียวกับ กบข.-สปส. เหตุกฏหมายไม่ได้ระบุชัดว่ายกเว้นใคร เผยกรณีเงินฝากจะได้รับการคุ้มครอง ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมา ด้านสมาคมบลจ.เตรียมชงบอร์ดพิจารณา ย้ำกองทุนทั้ง 4 ประเภท มีหลักการเดียวกัน ส่วนกองทุนรวม ผู้จัดการกองทุนไม่ห่วง เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเงินฝาก ประเมินส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมหากกระแสแรง แต่ยังห่วงซัพพลายน้อย หวั่นไม่มีของให้ลงทุน

นางสาวดวงกมล พิศาล เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เงินฝากของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนประกันสังคม (สปส.) ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากพ.ร.บ. สถาบันประกันเงินฝากแต่อย่างใด เนื่องจากตัวกฎหมายเองไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เงินฝากของทั้ง กบข.และ สปส. จะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน เพียงแต่เป็นแนวความคิดออกมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในมาตร 54 ของกฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคมนั้น ระบุเอาไว้ว่า ในกรณีที่เงินฝากของสถาบันการเงินที่จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายดังกล่าว จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะตั้งขึ้นมาก่อน ซึ่งในส่วนของสามคม บลจ.เอง ก็จะเสนอให้บอร์ดพิจารณารวมถึงเงินฝากของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ด้วย เนื่องจากกองทุนทั้ง 2 ประเภทมีหลักการเดียวกันกับ กบข.และ สปส. คือ การออมเพื่อวัยเกษียณ

“ที่ผ่านมา กบข.เอง เขาก็ไม่ได้ต้องการว่าจะต้องคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน แต่ด้วยความที่เงินออมส่วนใหญ่เป็นของข้าราชการจึงมีแนวความคิดดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งในกฎหมายเองก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใครจะได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น จึงยังมีสิทธิเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าบอร์ดจะให้ความสำคัญอย่างไรมากกว่า”นางสาวดวงกมลกล่าว

ด้านนายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวถึงการคุ้มครองเงินฝากในส่วนของกองทุนรวมว่า จริงๆ แล้วเงินลงทุนของกองทุนรวมเองไม่ได้อยู่ในรูปของเงินฝากมากนัก ดังนั้น ถึงแม้ว่าพ.ร.บ. คุ้มครองเงินฝากจะไม่คุ้มครองรวมไปถึงกองทุนรวมด้วย แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบอะไร ในขณะเดียวกัน อาจจะมีข้อดีตรงที่ผู้จัดการกองทุนใช้โอกาสนี้การฝากเงินในธนาคารที่มีความเสี่ยงไม่มาก แต่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

นายวศินกล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ ในแง่กระแสอาจจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมให้ขยายตัวได้เร็วมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการชี้ให้ลูกค้าเห็นด้วยว่า ต่อไปนี้การฝากเงินจะไม่ปลอดภัยทั้ง 100% แล้ว ซึ่งหลังจากนักลงทุนได้ฟังก็จะเริ่มคิดตามมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คงขึ้นอยู่กับกระแสด้วยว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะในช่วงปีแรกเงินฝากทั้งหมดยังคงได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าในระยะต่อไป ธุรกิจกองทุนรวมจะไม่ใช่คู่แข่งดึงเงินฝากโดยตรงอีกต่อไป เนื่องจากหลังจากกฎหมายคุ้มครองเงินฝากมีผลแล้ว บรรดาธนาคารพาณิชย์ที่มีบริษัทจัดการอยู่ในเครือของตัวเอง จะหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจร่วมกันในลักษณะเครือเดียวกันมากขึ้น แต่การแข่งขันในแง่ของโพรดักซ์จะยังมีอยู่ เช่นเดียวกับการทำการตลาด ที่เชื่อว่าในแง่ของกองทุนอาจจะแข่งขันไม่รุนแรงหรือชัดเจนเท่ากับธนาคาร เนื่องจากส่วนหนึ่งอาจจะขัดแย้งกับนโยบายของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าหลังจากใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเงินฝากแล้ว เงินจะไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมมากน้อยแค่ไหน เพราะยังมีคำถามอยู่ว่าเมื่อเงินไหลเข้ามาแล้วจะไปลงทุนอะไร เนื่องจากปัจจุบันตราสารที่จะลงทุนยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นทางเลือกลงทุนอันดับต้นๆ หากถึงเวลานั้นจริงไม่มีซับพลายให้เงินไปลงทุนก็ไม่สามารถดึงเงินเข้ามาได้ อีกทั้ง ถ้าดีมานด์สูงมากก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนต่ำลงไปด้วย

"ปัจจัยที่กล่าวมาเป็นแรงผลักดันว่า ต่อไปกองทุนอาจจะออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายกว่าในประเทศ ที่เงินลงทุนมีแต่สินค้าไม่มี ซึ่งถ้าหากดีมานด์เข้ามาเยอะแต่ซัพพลายไม่มีก็จะกดผลตอบแทนต่ำลง ซึ่งหากผลตอบแทนต่ำกว่าเงินฝากเมื่อไหร่ ก็แสดงว่าซัพพลายไม่พอ อย่างไรก็ตาม ถึงวันนั้น อาจจะมีทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นก็ได้"นายวศินกล่าว

ด้านนายไพศาล ครุฑดำรงชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.)ทหารไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะทำให้ผู้ฝากเงินมีความรัดมัดระวังในการฝากเงิน หรือการเข้าไปลงทุนมากขึ้น และส่วนตัวมองว่าพ.ร.บ.บับนี้ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไปอุ้มเหล่าธนาคารต่างๆ เหมือนครั้งที่ผ่านซึ่งต้องใช้วงเงินถึง 1.4 ล้านล้านบาทอีกแล้ว

“ลูกค้างินฝากจะเพิ่มความระวังตัว ขณะเดียวกันแบงก์ก็จะปรับตัวเข้าหาลูกค้ามากขึ้น เพื่อป้องกันลูกค้าโยกเงินหนี แน่นอนอาจะมีบางส่วนไหลเข้ามาสู่กองทุนรวมบ้าง แต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นรื่องปกติตามกระแสทั่วโลก อาทิที่สหรัฐ ในปัจจุบันเม็ดเงินส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมกองทุน มากกว่าจำนวนเงินที่ฝากในธนาคารทั้งระบบ แต่ในเอเชียยังไม่เหมือนกัน”

ส่วนจะเลือกลงทุนแบบไหน นั้นขึ้นอยู่กับตัวของผู้ลงทุนเองว่าจะสามารถแบกรับความเสี่ยงได้ขนาดไหน โดยหากต้องการผลตอบแทนที่สูง ก็ต้องสามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าก่อนตัดสินใจลงทุนประเภทใดควรทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวให้ดี โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนรวมผู้ลงทุนควรอ่านและศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆให้ถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจ

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเหตุผลในการให้มีพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย หรือคนที่มีเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 98% จากระบบเงินฝากทั้งหมด ให้ได้รับการคุ้มครอง หากสถาบันการเงินนั้นๆประสบปัญหา ส่วนคนที่มีเงินมากกกว่านั้น ไม่น่ามีปัญหาเพราะเขาติดต่อกับแบงก์บ่อย และมีความรู้เรื่องการลงทุนในด้านอื่นๆ เยอะ

นางสุกัญญา จันทรปรรนิก รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หลังจากพ.ร.บ.เริ่มมีผลบังคับใช้ แล้วต่อไปจะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระ โดยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 – 5 คนมาร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำหน้าหน้ากำหนดนโยบายทิศทางด้านการคุ้มครองให้กับประชาชน

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน เพราะแต่เดิมประเทศไทยยังไม่กฎหมายที่ชัดเจน แต่จะเป็นการออกกฏหมายมาแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น หรือ ณ ช่วงเวลานั้นมากกว่า อาทิเช่นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540”นางสุกัญญากล่าว

สำหรับในส่วนทางเลือกในการลงทุนนั้นมีอยู่หลายประเภท ขณะที่กระทรวงการคลังจะมีการออกพันธบัตรออกมาเป็นระยะ เพราะภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องระดมเงินเพื่อมาใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งจุดนี้ เชื่อว่าพันธบัตรที่ออกมาล้วนมีความน่าเชื่อถือมาก เพราะภาครับเป็นฝ่ายขอกู้เงินจากประชาชนเอง ดังนั้นจึงมองว่าแถบไม่โอกาสเลยเลยที่ภาครัฐจะเบี้ยวไม่จ่ายเงินคืนประชาชน

ส่วนการปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองนั้น รองผอ.สศค. กล่าวว่า เรื่องดัวกล่าวมีการกำหนดไวในพ.ร.บ.เรียบร้อยแล้ว สถาบันคุ้มครองต้องทำหน้าที่กำหนดวงเงินดังกล่าว ให้เหมาะสมกับช่วงเวลา และเศรษฐกิจในชณะนั้น ดังนั้นืหากเศรษบกิจมีการเปลี่ยนทางสถาบันก็สามารถปรับแก้วงเงืนคุ้มครองดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น