xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:การบริหารจัดการความสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

วิกฤตการณ์การเมืองไทยใช่ยุติที่มีรัฐบาลใหม่ ด้วยโอกาสและความน่าจะเป็นในการเกิดความรุนแรงยังคงคุกรุ่นเฉกเช่นภูเขาไฟรอวันปะทุ ถ้าไม่เร่งบริหารความสมานฉันท์เสียแต่เดี๋ยวนี้

ด้วยจะว่าไปแล้วการบริหารจัดการความสมานฉันท์ (Reconciliation management) ทางการเมืองมีคุณลักษณะครอบคลุมการบริหารความเสี่ยง (Risk management) และการบริหารวิกฤตการณ์ (Crisis management) เหมือนดังภาคธุรกิจที่จักเน้นหนักการจัดมาตรฐานการดำเนินการทั้งสองส่วนนี้เพื่อลดเงื่อนไขและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

เนื่องจากแน่ชัดแล้วว่าหากยังบริหารชาติบ้านเมืองเหมือนในสภาวการณ์ปกติจักไม่อาจผ่านห้วงยามคับแค้นรุนแรงจากความแตกแยกทางการเมืองไปได้ ยิ่งในสถานการณ์ภาคส่วนทางสังคมใหญ่โตอย่างรัฐบาล หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ตลอดจนแยกย่อยเป็นปัจเจกยังไม่สามารถตอบสนอง (Response) ต่อวิกฤตการเมืองที่กำลังยุ่งเหยิงสลับซับซ้อนทั้งทางปริมาณและคุณภาพเพราะขาดความรู้ความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินการลดขนาดวิกฤตการณ์ (Reduction) และการเตรียมความพร้อม (Readiness) เพื่อควบคุมปริมณฑลความเสียหายไม่ให้กระจายสู่ทุกอณูสังคม

กอปรกับระหว่างนี้สังคมไทยเองก็กำลังรุดหน้าเข้าสู่ความรุนแรงทางการเมืองเนื่องจากเสียงคาดการณ์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้น และการจัดเตรียมขั้นตอนวิธีการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้นยังไม่ดังหนักแน่นพอจะฉุดรั้งนักการเมืองผู้เป็นปัจจัยแห่งวิกฤตสังคมการเมืองไทยได้สำนึกถึงพันธกิจตนเองและพันธสัญญากับประชาชนมากกว่าหวังกุมอำนาจรัฐได้

ไม่ใช่แค่นั้น ถ้าวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนภายในโครงสร้างการเมืองไทย รวมถึงโอกาสและอุปสรรคภายนอก (Swot Analysis) ด้วยแล้วจะพบความเสี่ยงหลากหลาย ไล่เรียงตั้งแต่แนวนโยบายประชานิยมเปราะบาง โครงสร้างพรรคการเมืองรวมศูนย์ผู้นำ จนถึงการบริหารจัดการขาดธรรมาภิบาล ที่สะสมความล้มเหลวจนก่อเกิดเป็น ‘สนิมเนื้อใน’ กร่อนกัดตนเอง

ลำพังการเมืองในสภาฯ จึงไม่อาจฝ่าฟันขวากหนามวิกฤตการณ์คราวนี้ของสังคมไทยไปได้ตราบใดในระดับโครงสร้างทางการเมือง และพรรคการเมืองไม่แก้ไขจุดอ่อน (Weaknesses) ควบคู่กับสร้างจุดแข็ง (Strengths) เพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการบริหารประเทศชาติเพื่อ ‘ประโยชน์สุข’ ของประชาชนแท้จริง รวมทั้งเท่าทันปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เกี่ยวกับโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) อยู่เสมอ เพราะทั้งสองสิ่งนี้นอกจากคลุมเครือแล้ว ยังสลับกันไปมาได้ในท่วงทำนองโอกาสกลายเป็นอุปสรรคและอุปสรรคกลับเป็นโอกาส

วิกฤตการเมืองจึงมีลักษณะก้าวหน้าเป็นพลวัตที่ต้องการการวิเคราะห์และประเมินระดับความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจหลักของรัฐบาลตลอดเวลา ดังองค์กรธุรกิจที่ต้องพิจารณาระดับผลกระทบ (Impact) และโอกาสที่ความเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้นเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อวัตถุประสงค์และภารกิจในระดับที่องค์กรยอมรับไม่ได้

ดังนี้แล้วจักพบว่าวิกฤตการเมืองไทยที่ทวีต่อเนื่องร่วมครึ่งทศวรรษก่อตัวมาจากการไม่ได้ประเมินความเสี่ยงเรื่องความแตกแยกเลย ปล่อยให้ลุกลามราวไฟลามทุ่งจนเกือบยั้งหยุดไม่ได้ ด้วยยิ่งนานวันนักการเมืองไทยยิ่งฉายภาพความเป็นตัวแทนประชาชนแบบคับแคบตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆ แทนจะเป็นนักการเมืองผู้รักษาสิทธิประโยชน์คนทั้งประเทศก็เหลือแค่สิทธิประโยชน์ของคนเลือกเข้ามาเท่านั้น ซ้ำร้ายยังแยกจำแนกเป็นระดับภูมิภาค เหนือ-ใต้-อีสาน-กลาง ตามฐานคะแนนเสียงอันหนุนนำไปสู่การฉีกกระชากประชาชนออกจากกันตามการจัดสรรผลประโยชน์เหลื่อมล้ำที่กระหน่ำซ้ำด้วยการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายอย่างเอิกเกริกมโหฬาร

ถ้าสาธารณชนเห็นพ้องต้องกันว่าความขัดแย้งรุนแรงเกินยอมรับได้แล้ว ก็ต้องสืบสวน (Investigation) หาสาเหตุแตกแยกโดยด่วนเพื่อจะสมานบาดแผลไม่ให้ร้าวลึกเกินไปกว่านี้

ทว่าอย่างไรก็ดีเชื่อมั่นได้ว่ายิ่งสาวลึกยิ่งพบรากแก้วปัญหาว่ามาจาก ‘วิกฤตการเมืองแบบตัวแทน’ ที่ไม่เพียงตัวเองจะทำลายคุณธรรมจริยธรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่านั้น หากยังขยายค่านิยมเลวร้ายนี้สู่ประชาชนที่ยึดมั่นถือมั่นตัวบุคคลและพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วย

ครั้นจัดลำดับความสำคัญให้ความแตกแยกเป็นวาระเร่งด่วนของชาติที่รัฐบาลต้องเข้ามาบริหารจัดการให้เกิดความสามัคคีได้แล้ว ลำดับต่อมาต้องเร่งกำหนดแผนการจัดการวิกฤตการณ์ (Crisis management plan) ที่มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่แก่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลต้องเป็นกระบอกเสียงและแบบอย่างสร้างสรรค์ความสมานฉันท์เพื่อแผ้วถางความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติ (National unity) ที่ไม่ได้หมายถึงกีดกันอัตลักษณ์และคนชายขอบออกไป หากหมายถึงครอบครองจินตนาการใหม่ร่วมกันเกี่ยวกับการเมืองสะอาดปราศจากคอร์รัปชันที่ประชาชนทุกคนร่วมตรวจสอบและถ่วงดุลได้ ไม่ให้ใช้เสียงส่วนมากฟอกการกระทำผิดได้

ขณะเดียวฟากฝั่งผู้เสียหายจากความแตกแยกก็ต้องได้รับการเยียวยาโดยนโยบายการชดเชยและฟื้นฟู (Reparation & Rehabilitation Policy) ถึงแม้ไม่อาจนำชีวิตสูญเสียและอวัยวะสูญสลายกลับคืนมาได้ ทว่าก็สามารถเจือจางความคับแค้นรวดร้าวรานจากจิตใจได้ไม่มากก็น้อยเพื่อพวกเขาจะข้ามวิกฤตไปได้ด้วยการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ไม่ใช่แค่จัดสรรเงินชดเชย แต่ต้องเป็นสังคมทั้งมวลร่วมกันกอบกู้ศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่หายไปให้กลับคืนมา

ด้วยถึงที่สุด ต่อให้เพียรพยายามขนาดไหน ความสมานฉันท์ก็ไร้คุณค่าถ้าความยุติธรรมยังถูกทำลาย หรือผู้กระทำผิดไม่ยอมรับความผิดที่ก่อไว้ อีกทั้งตราบใดความจริง (Truth) ยังถูกซุกใต้พรมสมานฉันท์ ตราบนั้นความแตกแยกจะยังอยู่คู่สังคมไทยต่อไปไม่ว่าวันผันผ่านเท่าใด

กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นฐานรากการบริหารจัดการความสมานฉันท์ที่ไม่ใช่แค่ความเห็นพ้องพอใจร่วมกันตามถ้อยความพจนานุกรม แต่ต้องเป็นหางเสือเรือเคลื่อนขับรัฐนาวาไทยไม่ให้อับปางลงจากการกระแทกแนวหินโสโครกของความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนประเทศอินโดนีเซียที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission) หลังการสังหารหฤโหดเมื่อ ค.ศ.1965-1966 และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย

เหนืออื่นใดอย่าให้นักการเมืองอ้างความชอบธรรมและวาทกรรมเพื่อความมั่นคงของรัฐ (National security) จับ ‘วิกฤต’ และ ‘ฉันทามติ’ เป็นตัวประกันในการบริหารจัดการความขัดแย้งโดยลำพัง เพราะสุดท้ายอำนาจอธิปไตยของประชาชนจักถูก ‘จำกัด-กำจัด’ ออกจากสมการความสมานฉันท์ที่ถูกคำนวณแบบเกี้ยเซียะกันของกลุ่มกุมอำนาจรัฐและทุน.-

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น