xs
xsm
sm
md
lg

จุดเริ่มต้นสู่การบริหารเงินลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
สุกฤษฏิ์ พุทธวงศ์
เจ้าหน้าที่ควบคุมความเสี่ยง
บลจ.อยุธยา


จากนักศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียนสาขาการเงินมานั้น ทำให้ผมพอจะรู้ว่า การเริ่มต้นทำงานในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อพยายามบริหารเงินของนักลงทุนที่ไว้ใจเราให้ดีที่สุดนั้น แตกต่างจากทฤษฎีทางการเงินทั่วๆไปที่เราเคยศึกษามาอย่างไร ในสมัยที่ผมได้ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและได้มีโอกาสสัมผัสกับทฤษฎีทางการเงิน ทำให้ผมได้เห็นว่า “มูลค่า (Value)” ในเชิงรูปธรรมนั้น สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจที่จะลงทุนได้ ทฤษฎีทางการเงินต่างๆที่ถูกคิดค้นขึ้น ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่จะนำมาซึ่งการประเมินค่าต่อการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังเปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่ผมยังไม่รู้วิธีการใช้อย่างถูกต้อง

หลังจากที่ผมได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว เครื่องมือทางการเงินเบื้องต้นที่ผมพกติดตัวออกมาด้วยนั้น ยังไม่สามารถช่วยให้ผมตัดสินใจเลือกการลงทุนที่เหมาะสมต่อตัวเองได้ แต่อย่างน้อยเครื่องมือที่มีอยู่นี้ ก็ยังสามารถสร้างโอกาสให้ผมได้เข้ามาสัมผัสกับโลกของนักลงทุนผ่านมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นรูปแบบของการทำธุรกิจซึ่งผมไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนรู้มาก่อน บริษัทหลักทรัพย์จะออกกองทุนต่างๆ ซึ่งถูกบริหารด้วยคณะบุคคลซึ่งมีความรู้ทางด้านการเงินและรู้จักวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆเหล่านั้นเพื่อการบริหารเงินทุนที่เหมาะสม และคงอยู่ในกรอบระเบียบปฏิบัติเพื่อผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด นักลงทุนผู้สนใจจะนำเงินสะสมมาเลือกลงทุนในกองทุนต่างๆ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนตามแต่อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับหรือตามอัตราความเสี่ยงที่นักลงทุนจะสามารถรับได้

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นับตั้งแต่ที่ผมได้เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผมค่อยๆมีโอกาสได้เห็นขั้นตอนต่างๆ และการร่วมมือกันของหลายๆฝ่าย เริ่มตั้งแต่ฝ่ายการตลาด (Marketing) ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกเรียกกันภายในว่า “กลุ่มหน้าบ้าน” ซึ่งมีหน้าที่ในการพบปะกับลูกค้า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนของบริษัท และให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจที่จะลงทุน จนถึงฝ่ายบริหารการลงทุน (Investment Management) ของบริษัท ที่คอยดูแลการลงทุนโดยใช้ช่องทางและรูปแบบต่างๆ เพื่อให้กองทุนมีลักษณะของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่หลากหลาย แต่สำหรับตัวผมเองนั้น ได้อยู่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถือเป็น Middle Office มีหน้าที่คอยสนับสนุน ควบคุม และตรวจตรา ฝ่ายบริหารการลงทุนของบริษัท เพื่อไม่ให้นักลงทุนที่ไว้ใจการบริหารกองทุนของบริษัทได้รับความเสี่ยงที่เกินขอบเขตในระดับต่างๆ ตามที่ถูกกำหนดไว้ในกองทุน ฝ่ายบริหารการลงทุนและฝ่ายบริหารความเสี่ยงจะประสานงานร่วมกันเพื่อประเมินความเสี่ยงจากการลงทุน เช่น ทิศทางเศรษฐกิจ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์การเมือง อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ในการลงทุนเอง ยังต้องมีกฎเกณฑ์ของการลงทุนต่างๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อทุกๆฝ่าย ซึ่งทางส่วนนี้ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงาน (Compliance) มีหน้าที่คอยอัพเดตข้อกฎหมายต่างๆ ในขณะที่ฝ่ายควบคุมความเสี่ยงด้านการลงทุนมีหน้าที่คอยควบคุมการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของแต่ละกองทุน ในส่วนของ “กลุ่มหลังบ้าน” ประกอบไปด้วย ฝ่ายปฏิบัติการกองทุน ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีการลงทุนของกองทุนและคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และฝ่ายนายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำข้อมูลการลงทุนของลูกค้า

จากประสบการณ์ที่ผมได้รับในช่วงเวลาสั้นๆนี้ มันสามารถทำให้ผมเห็นข้อแตกต่างบางอย่างจากทฤษฎีทางการเงินที่เคยเรียนรู้มา กับการเรียนรู้นอกทฤษฎีที่ต้องค้นคว้าจากการทำงานในชีวิตจริง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในตำรา ในหลายๆ สถานการณ์ของการลงทุน ทฤษฎีทางการเงินที่ถูกนำมาใช้ อาจจะไม่เพียงพอที่จะนำเสนอทางออกที่เหมาะสม การตัดสินใจที่สมเหตุสมผล กระบวนการลงทุนที่ดี และการปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะฉะนั้น เราอาจจะเห็นได้ว่า ความรู้ในเชิงทฤษฎีสามารถเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการทำงาน แต่ประสบการณ์การทำงานก็เป็นสิ่งที่เราต้องสะสมเพื่อให้เรามีความชำนาญในการใช้ความรู้ทางการเงินที่เราศึกษามาให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น