xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:อภัยวิถีในการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ไฉน ‘ไทย’ ไม่เคยเก็บงำบทเรียนประวัติศาสตร์บาดแผลไว้ในลิ้นชักความทรงจำเลย ไยยังเพิ่มพูนบาดแผลร้าวลึกลงบนริ้วร่องรอยแผลเก่าๆ ที่ยังไม่ตกสะเก็ดซ้ำแล้วซ้ำเล่า!?

ทั้งที่ไทยหมายถึงการมีอิสระในตัว ไม่เป็นทาสใคร แล้วทำไมคนไทยไม่น้อยยังตกเป็นข้าทาสบริวารความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มกุมอำนาจรัฐผู้อยู่เหนือหัวประชาชนแบบอิงแอบโชคชะตาผสานอาชญากรรมมากกว่าคุณธรรม

ดังคุณลักษณะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไทยปัจจุบันที่ไม่ผิดเพี้ยนตัวอักษรในเจ้าผู้ปกครอง (The Prince) โดยนิโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolò Machiavelli) นัก เพราะนอกจากขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดด้วยเงินและความโปรดปรานในฐานะญาติสนิท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้กุมบังเหียนรัฐบาลตัวจริงแล้ว การไม่มีสติปัญญาและคุณธรรมใหญ่หลวงเทียบเท่าโชคชะตาที่หล่นใส่ตักยังทำให้การรักษาตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารลำบากยากยิ่ง และจะสูญเสียไปในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากไม่อาจฝังรากพร้อมกับกิ่งก้านสาขาที่มาด้วยกันได้หมด

อนาคตเจ้าผู้ปกครองที่ไม่ได้เป็นนายตนเองเช่นนี้ยังขึ้นอยู่กับเจตนา โชคชะตา และความเคียดแค้นพยาบาทอาฆาตของผู้มอบอำนาจแก่เขาด้วย เพราะต้องตกเป็นหนี้บุญคุณคนฉ้อฉลอกตัญญูแผ่นดินมาตุภูมิเรื่อยไป

ยิ่งได้ไฟฟืนโหมไหม้ใช้ความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้ถูกปกครองด้วยการเข้าไปแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาบนเลือดเนื้อแลคราบน้ำตาประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ เพียงเพื่อคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ปฏิบัติตามมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยแล้ว อำนาจของเขาเข้าข่ายได้มาโดยอาชญากรรมหาใช่คุณธรรมไม่

คุณธรรมที่ไม่ใช่แค่การปฏิบัติสอดคล้องศีลธรรมความดีงามยุติธรรมตรงข้ามชั่วช้าสามานย์อยุติธรรมเท่านั้น หากรวมถึงความเฉลียวฉลาดหาญกล้าด้วย

ดังนี้แล้วการแถลงนโยบายของรัฐบาลสมชาย วงษ์สวัสดิ์จะเป็นไปในนามผู้แทนปวงชนชาวไทยได้อย่างไรกัน หรือแอบจิตคิดคับแคบแค่ผู้ชื่นชอบรัฐบาลเท่านั้นเป็นประชาชนคนไทย จึงสามารถสลายหฤโหดทารุณเช่นนี้ได้!?

อนึ่งถึงก่อนได้ตำแหน่งไม่เหนื่อยยาก หากหลังได้อำนาจมาโดยกำลังของผู้อื่นบวกโชคชะตาผสานกับอาชญากรรมมากกว่าโดยกำลังของตนเองผนวกกับคุณธรรมเช่นนี้ ชะตากรรมเลวร้ายของ ฯพณฯ จึงยึดโยงชะตาชาติบ้านเมืองให้ตกต่ำตามไปด้วยจากการยิ่งอยู่ยาวยิ่งทบเท่าทวีแตกแยกขัดแย้ง

บาดแผลเก่าใหม่ปริเปลือยฉานชาดขึ้นเมื่อรัฐถูกนำโดยเจ้าผู้ปกครองขาดคุณธรรมน้ำมิตร

มากกว่านั้นเมื่อผู้ปกครองบิดเบือน ป้ายความผิดให้ผู้ชุมนุมว่าสร้างความรุนแรงเสียเองจนบาดเจ็บ พิการ กระทั่งเสียชีวิต จึงอาจกลายมาเป็นแรงพยาบาทในหมู่ผู้ถูกปกครองที่พร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความฮึกเหิมห้าวหาญไล่รัฐบาลอาชญากรทู่ซี้บริหารบ้านเมืองบนเศษซากประชาชนผู้ตื่นตัวเรียนรู้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy)

สายธาร 76 ปีประชาธิปไตยในอนาคตยังจะวนเวียนวงจรอุบาทว์เลือกตั้ง-รัฐประหารดังเดิมด้วยพฤติกรรมฉ้อฉลลุอำนาจของผู้นำรัฐจักเหนี่ยวนำประชาชนออกมาคลาคล่ำท้องถนนต่อต้าน ด้วยไม่อาจทนกล่าวถ้อยคำเกร่อๆ ‘ไม่เป็นไร’ อันเป็นกลไกทางวัฒนธรรมไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเชิงซุกขยะไว้ใต้ผืนพรมได้อีกต่อไป

ณ ปัจจุบันขณะ ประชาชนมหาศาลไม่ยอมศิโรราบรัฐบาลขาดคุณธรรม ยอมถั่งถมโถมใจกายแผ้วถางประชาธิปไตยที่ไม่ข้ามหัวปวงชน ทวงคืนสิทธิอำนาจเลือกตั้งแบบ One man, one vote จริงๆ

ถึงกระนั้นวันนี้ประชาธิปไตยไทยกลับยังคงเรียกร้องเลือดเนื้อวีรชนสม่ำเสมอ และหน้าเดินดื่มเลือดกลืนเนื้อกัดกระดูกคนไทยไปเรื่อยๆ เมื่อผู้ปกครองยังอ้างเสียงข้างมากข่มขู่คุกคามคนคัดค้านผ่านนโยบายสาธารณะและประทุษร้ายถึงตาย

ร้ายกว่านั้นยังขุดศพวีรชนขึ้นข่มขืนรอบแล้วรอบเล่า ผลัดเปลี่ยนเวียนเทียนกันในหมู่ผู้กุมอำนาจที่แม้นเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามตลอดหน้าประวัติศาสตร์ แต่คาแรกเตอร์หลักก็ยังเหมือนเดิมคือปัดปฏิเสธความรับผิด (Blame avoidance) ควบคู่กับโยนบาปกรรมแก่ผู้สู้นอกระบบการเมืองของนักการเมืองที่ถูกลดทอนเป็นแค่ ‘ศัตรูการเมือง’ (Political enemies) ที่ด้อยคุณค่าศักดิ์ศรีกว่ามนุษย์ จึงจำกัดแบบใดก็ได้ ไม่เหมือน ‘คู่ต่อสู้ทางการเมือง’ (Political adversaries) ที่หมายถึงนักการเมืองขั้วตรงข้ามที่ต้องเคารพความคิดเห็นต่างในฐานะคู่แข่งขัน

ทฤษฎีมือที่สาม (Third party) จึงถูกนำมาใช้อธิบายความสูญเสียของมวลชนตรงข้ามรัฐบาลแบบครอบจักรวาลมากเท่าๆ กับทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ที่นำมาขยายความการกำชัยชนะของมวลมหาประชาชน เนื่องด้วยพวกกุมอำนาจมักขลาดเขลาเกินกว่าจะวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อเท็จจริง หรือยอมรับความผิดพลาดพ่ายแพ้ของตัวเอง ดังปรากฏการณ์ 7 ตุลา 51ที่มีนัยสำคัญไม่ต่าง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ถึงห่างกันกว่า 3 ทศวรรษก็ตาม

ความเหมือนหนึ่งคือฟากผู้กระทำไม่ยอมรับว่าตนเองบ้าอำนาจสังหารไล่ล่าประชาชน

การให้อภัยจึงยากเกิดในใจหมู่ผู้ถูกกระทำ ด้วยเงื่อนไขหลักของการให้อภัยนั้นผู้กระทำหรือผู้ที่จะได้รับการให้อภัยต้องกล้าหาญเผชิญความจริง สำนึกผิด ยอมรับความผิดพลาดก่อน

ฉะนั้นไม่ใช่ผู้ให้อภัยไร้ ‘เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา’ ต่อผู้กระทำ ทว่ามักติดขัดเงื่อนไขผู้กระทำยังมองผู้ถูกกระทำดังเหยื่อ คงถ้อยอธิบายพฤติกรรมเหี้ยมโหดทารุณด้วยคำสวยหรูว่าเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เรื่อยมาถึงเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ จนล่าสุดเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย แม้จักต้องป่ายปีนเศษซากศพประชาชนกล่นเกลื่อนสภาเพื่อเข้าไปแถลงนโยบาย

ภายใต้วัฒนธรรมการเมืองไทยที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จแก่รัฐบาลเลือกตั้งมากจนการตรวจสอบถ่วงดุลขององค์กรอิสระ ศาลสถิตยุติธรรม และการเมืองภาคพลเมืองกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมเช่นนี้ คนถูกกลุ้มรุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือโดยมวลชนที่ถูกผู้ปกครองปลุกปั่นจึงดำรงคงสถานะ ‘เหยื่อ’ อยู่เสมอ

กระนั้นมวลชนผู้หลอมรวมตัวเป็นผลึกเพชรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยึดมั่นศรัทธาอหิงสาสันติที่ตกเป็นเหยื่อถูกกระหน่ำสัดสาดจากกระบอง แก๊สน้ำตา ตลอดจนอาวุธทรงอานุภาพสังหารกว่านั้นมากมานานหลายเดือนตลอดช่วงชุมนุมจนรุนแรงสุดในวันที่ 7 ตุลาทมิฬนั้น จะต้องมอดดับเพลิงแค้นเพื่อสร้างการเมืองใหม่ให้ได้ ด้วยการก้าวย่างมรรคา ‘การให้อภัยที่ไม่ใช่การลืม’ (Forgive, not forget) มากกว่าการ ‘ล้างแค้นทวงคืน’ ทำลายฝ่ายปฏิปักษ์แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือลวงหลอกตัวเองด้วยการเก็บกดปัญหาไว้ในใจ รอวันเวลาปะทุเดือด

แต่แน่นอนว่าการล่าสังหารกลางพระนครครานี้ต้องพ้นห้วงเงียบงันอีหลักอีเหลื่อเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการทำความจริงเชิงข้อเท็จจริง (Factual truth) ให้ปรากฏผ่านภาพข่าวสื่อมวลชนและนิติวิทยาศาสตร์ เหนืออื่นใดนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วความเคียดแค้นชิงชังยังจะเป็นม่านหมอกคลี่คลุมเมืองไทยทั้งทางวิชาการ การกระทำ ถึงจิตวิญญาณดังผลพวงเดือนตุลาหลายทศวรรษก่อน

การให้อภัยและความสมานฉันท์จักเกิดไม่ได้ถ้าไร้ความจริงและการสำนึกผิด

การรังสรรค์การเมืองใหม่มีคุณธรรมนำทางร้างอภัยวิถีไม่ได้ ด้วยการให้อภัยเป็นแก่นชีวิตทางคุณธรรมจริยธรรมหนึ่งของคนดีสังคมดี การฝ่าฟันรัฐบาลฉ้อราษฎร์บังหลวงของพันธมิตรฯ จึงควรเดินทางทั้งโลกภายนอกด้วยการพิชิตรัฐบาลทรราช และโลกภายในที่ต้อง ‘จิตวิวัฒน์’ สลัดล่ามร้อยตรวนตราตัวตนไว้ในเพลิงอดีตคั่งแค้น พร้อมพรักเผชิญความจริงแล้วจัดการความรู้สึกนึกคิดทางลบเปลี่ยนแปรเป็นบวกสร้างสรรค์สันติภาพภราดรภาพร่วมกัน

การชนะตัวเองด้วยการให้อภัยโดยปรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจให้มาอยู่ระนาบเดียวกันกับผู้กระทำด้วยแนวทางต่อสู้แบบสันติอหิงสาของพันธมิตรฯ นั้น อย่างน้อยที่สุดจะขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยไทยในอนาคตไปสู่การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ ด้วยปัญญามากกว่าความคับแค้นชิงชัง อีกทั้งยังก้าวพ้นปลักโคลนแก้แค้นทวงบุญคุณของนักการเมืองเก่า

พันธมิตรฯ ในฐานะผู้พิพากษาว่าจะให้อภัยหรือไม่จึงไม่ควรแผดเผาตัวเองด้วยเพลิงแค้น ปล่อยให้ ฯพณฯ ปัจจุบันรวมถึงที่จะตามมาถ้าเป็นนอมินีถูกกุมบังเหียนด้วยพันธนาการอาฆาตพยาบาทของเจ้าผู้ปกครองที่มอบอำนาจให้ จนตกห้วงเหว ‘สวรรค์ในอกนรกในใจ’ หลอกลวงตัวเองเรื่อยไปว่าทำถูกแล้วที่ประหัตประหารประชาชนเห็นต่าง.

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น