xs
xsm
sm
md
lg

Indiana Jones : แดนศิวิไลซ์...อยู่ไหนหนา

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


** บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ

และแล้วหนังภาคต่อชุด Indiana Jones ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็ไปสะดุดตอจนได้ เมื่ออดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต (ประเทศรัสเซียเดิม) ออกมาแสดงความเห็นว่า สปีลเบิร์กมองพวกเคจีบี (KGB – อดีตหน่วยดูแลความมั่นคงของสหภาพโซเวียต) ในแง่ร้าย อีกทั้งพยายามทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การโฆษณาชวนเชื่อของสตาลิน เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่งผลให้นักแสดงนำอย่าง แฮริสัน ฟอร์ด กลายเป็นบุคคลที่ถูกรัสเซียขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ และหนังผจญภัยเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้ออกฉายในประเทศหลังม่านเหล็กด้วย

บาดแผลที่ทั้ง 2 ชาติไม่สามารถสมานกันได้ เรื้อรังมายาวนาน ก่อนหนังสปีลเบิร์ก หนังสายลับในช่วงสงครามเย็น เช่นหนังชุดเจมส์ บอนด์ หรือใกล้เข้ามาหน่อย หนังระทึกขวัญจากนิยายของทอม แคลนซี่ ก็แสดงจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจน คือ ไม่ชื่นชมฝ่ายซ้าย

มิหนำซ้ำ ภาพของทหารฝ่ายตรงข้าม ถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ พวกเขาเหล่านั้นไร้ซึ่งมนุษยธรรม อาจจะไม่มีความนับถือตนเองด้วยซ้ำ ชีวิตทั้งชีวิตพลีให้อุดมการณ์อันโง่เขลา

ในฉากหนึ่งของการไล่ล่าระหว่างอินเดียน่า โจนส์ และเอฟบีไอ (หน่วยงานของรัฐบาลอเมริกัน - ที่ไม่วายถูกนำเสนอออกมาในแนวขบขัน) คนดูได้เห็นการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาที่ถึงกับชูธงว่า “ตายดีกว่าเป็นซ้าย” แทนภาพของความหวาดกลัวพลังมืดในยุคล่าแม่มด

อดีตนายทหารของโซเวียตคนหนึ่งกล่าวอย่างเป็นห่วงว่า เด็กรัสเซียรุ่นใหม่ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จะรู้สึกกับคนรุ่นพ่อแม่ของตนเองอย่างไร พวกเขาไม่รู้หรอกว่าในความเป็นจริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้น แต่หนังฮอลลีวู้ดก็ได้ล้างสมองพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว

อาจจะต้องชม เคท แบลงเชตต์ ด้วย ที่ส่วนหนึ่ง ถ่ายทอดบทบาททหารหญิงใจโหดได้อย่างชัดเจนจริงจัง เธอดีไซน์ตัวละครให้ออกมาในแนวตลกโปกฮา กิริยาท่าทางกระหายอำนาจคล้ายกับตัวการ์ตูน แน่นนอน เธอทำการล้อเลียนทั้งสำเนียงการพูด บทสนทนาเกินจริงที่เอ่ยถึงนโยบายพรรคและโจเซฟ สตาลิน

นับจนถึงวันนี้ Indiana Jones ภาคใหม่ทำเงิน 150 ล้านเหรียญฯ ในอเมริกา (ยังคงฉายอยู่อย่างต่อเนื่อง) ยังไม่รวมตลาดต่างประเทศที่คงไม่น้อยไปกว่านั้น บางทีการไม่ได้ฉายในรัสเซีย ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหญ่อะไร

ตัวละครอินเดียน่า โจนส์ ถูกสร้างขึ้นตามแบบฉบับฮีโร่ในภาพยนตร์ชุดยุค 30 โดย จอร์จ ลูคัส ซึ่งสร้างให้โจนส์ไปผจญภัยในยุครุ่งเรืองของพรรคนาซี การต่อกรระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ และไม่ซับซ้อน ทหารนาซีเป็นผู้ร้ายที่หวังครอบครองสมบัติอันล้ำค่า และโจนส์เป็นตัวแทนของนักอนุรักษ์ชาวอเมริกันที่ซื่อตรงต่อครรลองอันดีงาม (คล้ายๆ กับเจมส์ บอนด์ที่ขึ้นตรงต่อสมเด็จพระราชินี)

Raiders of the Lost Ark ออกฉายในปี 1981 อเมริกาเริ่มลดกำลังในสงครามเย็น เพราะการพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในเวียดนาม ชนชั้นกลางเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มปัญญาชนที่คลั่งไคล้ลัทธิสังคมนิยมหมดความหมายไปแล้ว

การแสวงหาความสุขในครอบครัวค่อยๆ เพิ่มความสำคัญในชีวิตคนอเมริกัน พวกเขาไม่ต้องการชมหนังที่ว่าด้วยการเมืองอีก หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขายังไม่พร้อมที่จะกลับไปทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง (นั่นทำให้ Apocalypse Now คว่ำไม่เป็นท่า และอีกเกือบ 6 ปี กว่าที่คนอเมริกันจะได้ดูและรักหนังอย่าง Platoon) พวกเขาได้ประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายขวา และเป็นดาราชื่อดัง พวกเขาพร้อมจะตั้งต้นใหม่อีกครั้ง

นั่นเป็นเหตุผลที่ Raiders of the Lost Ark ไม่ได้ทำการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างจริงจัง นอกเสียจากการแบ่งฝ่ายตามคตินิยมของคนอเมริกัน - - ผู้ร้ายของอินเดียน่า โจนส์ ก็คือ พรรคนาซี, กลุ่มทหารล่าอาณานิคมของอังกฤษ และล่าสุด พวกเคจีบี ของอดีตสหภาพโซเวียต

การกำเนิดขึ้นของ Raiders of the Lost Ark จึงเปรียบเสมือนการค้นพบครั้งสำคัญของหนังอเมริกัน ไม่มีหนังผจญภัยเรื่องไหนตื่นตาตื่นใจมากไปกว่านี้อีกแล้วในสมัยนั้น มันเรียกคืนความภาคภูมิใจที่หล่นหายไปไหนซักแห่งกลับคืนมา

ออกจะเป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ที่ Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull ไม่ได้มอบความรู้สึกแบบนั้นให้ ส่วนหนึ่งเพราะยุคสมัยอันไร้เดียงสาได้ผ่านพ้นไปสักระยะแล้ว

ที่จริงก็คือ ภาคใหม่ของ Indiana Jones เป็นหนังที่ให้ความบันเทิงอย่างเหลือล้น มันแสดงศักยภาพการเป็นนักเล่าเรื่องอันดับหนึ่งของสปีลเบิร์กได้อย่างงดงาม แต่ในยามที่ National Treasure, Pirates of the Caribbean, The Da Vinci Code หรือ The Mummy ได้เคยมอบประสบการณ์แปลกใหม่แก่คนดู สปีลเบิร์กอาจต้องพยายามมากกว่านี้ เพื่อพาตัวเองให้พ้นไปจากวงโคจรที่คนดูเคยชิน

ขยายความให้เข้าใจมากกว่านั้น บางทีสปีลเบิร์ก (หรือผู้เขียนบท – เดวิด เคปป์) จะต้องรื้อสูตรของตัวเองทิ้ง และเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ให้กลายเป็นการค้นพบใหม่อีกครั้งหนึ่ง - สูตรที่ไม่มีใครไปถึง และหาคนแทนที่ยาก

แม้จะออกมาสนุกแบบแกนๆ แต่เคปป์ ในฐานะคนเขียนบท ก็พยายามอย่างเต็มที่ ในการรวบรวมรายละเอียดรายรอบให้หนังดูมีน้ำหนักและซับซ้อนขึ้น ทั้งการนำเอาทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานามาดัดแปลง โดยเฉพาะเรื่องมนุษย์ต่างดาวที่ Area 51 นั้น คงถูกใจสปีลเบิร์กไม่น้อย

และเช่นเดียวกัน การค้นหาสมบัติล้ำค่าของอินเดียน่า โจนส์ ยังคงเกี่ยวพันกับวัตถุโบราณอันมีผลต่อความเป็นไปของมนุษยชาติ จากที่เคยอ้างอิงถึงพระคัมภีร์ หรือความเชื่อของฮินดู ในภาคใหม่ หนังเล่าถึงอารยธรรมที่สูญหายไปในลุ่มน้ำอะเมซอน

สนุกดีที่หนังฟันธงไปเลยว่า Supreme Being หรือสิ่งมีชีวิตสูงสุด ที่เรามักจะใช้กันในทางศาสนา – กลับกลายเป็นมนุษย์ต่างดาวแทน และมุมมองต่อมนุษย์ต่างดาว ก็พ้องกับสิ่งที่สปีลเบิร์กเคยทำไว้ใน E.T.: The Extra-Terrestrial คือมองผู้มาเยือนในแง่บวก (แตกต่างจากหนังฮอลลีวู้ดในยุคสงครามเย็น ที่มนุษย์ต่างดาวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์)

นี่เองอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริง ที่นายทหารรัสเซียบางคน เกิดอาการต่อต้านเนื้อหาของหนัง แต่ไหนแต่ไรมา คอมมิวนิสต์จะไม่เน้นย้ำความเชื่อทางศาสนาด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือเรื่องเหนือธรรมชาติ นอกจากการพยายามหาเหตุผลให้กับความเชื่อนั้นๆ

พวกเขาเชื่อว่าสมรรถภาพของมนุษย์ทุกคนต่างหากที่ก่อให้เกิดการพัฒนามากมาย ไม่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าองค์ใดทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเรื่องยูเอฟโอ หรือสิ่งมีชีวิตนอกโลกแล้ว หน่วยงานด้านอวกาศของโซเวียตเห็นเป็นเรื่องงมงาย และเป็นสิ่งมอมเมาประชาชนโดยแท้





กำลังโหลดความคิดเห็น