xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:ความหาญกล้าของสื่อในห้วงวิกฤตปัญญา (ตอนที่ 10)

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

Democracy is not a gift or a political regime that one is born with but something that must be fought for every inch of the way, in every society.

ประโยคนี้ใช่ใช้ได้เฉพาะประเทศเกาหลีใต้ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างหาญกล้าจนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติเท่านั้น หากไทยเองก็ควรได้รับเสียงปรบมือไม่ต่างกันนัก เพราะนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ก็ต้องแผ้วถางทางสายนี้ด้วยหยาดหยดเสียสละเลือดเนื้อประชาชนตลอดมาดัง 2 เหตุการณ์สำคัญวันอย่างวันมหาวิปโยคและพฤษภาทมิฬ

ด้วยอย่างน้อยๆ การถอยหลังลงคลองของระบอบประชาธิปไตยไทยใช่ฉายชัดผ่านเผด็จการทหาร-พลเรือนที่ประชาชนออกมาคลาคล่ำท้องถนนต่อต้าน แต่ยังมาจากการเลือกสวมใส่รองเท้าประชาธิปไตยตะวันตกที่ไม่ได้ขนาดกับเท้าตนเอง ยิ่งฝืนใส่ยิ่งเจ็บปวดรวดร้าว ยิ่งทนสวมยิ่งโขยกเขยก หากก็ยังยึดติดว่าสักวันเท้าเราจะพอดีกับเท้าชาวต่างชาติจนได้ถ้าฝืนทนใส่ไปเรื่อยๆ

ประชาธิปไตยไทยจึงเล่นท่วงทำนอง ‘ตัดตีนใส่เกือกมากกว่าตัดเกือกใส่ตีน’ เรื่อยมา

การสมาทานการเลือกตั้งเป็นสรณะประชาธิปไตยแล้วครอบลงบนสังคมไทยที่ผู้คนยังหลงคิดว่าคะแนนเสียงเป็นของขวัญต้องตอบแทนผู้มีอำนาจยามถึงฤดูกาลเลือกตั้งนั้นอันตรายยิ่ง เพราะไม่เพียงจะได้ผู้นำจิตคับแคบจัดสรรประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มคนเลือกพรรคตนเอง ทว่ายังถ่ายทอดดีเอ็นเอประชาชนรุ่นสู่รุ่นให้เลือกผู้นำจากผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์ภูมิภาคนิยมและชนชั้นนิยมที่นำไปสู่การเสียดุลยภาพสังคมไทย

การชวนมวลมหาประชาชนเพ่งพินิจ ‘ไซส์รองเท้าประชาธิปไตย’ ที่ไม่พอดี ทำให้เดินได้ไม่เต็มเท้า พร้อมชี้ชัดความพิกลพิการของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่นักเลือกตั้งส่วนมากจะได้รับเลือกเข้ามาจากการซื้อสิทธิขายเสียงและเครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ แล้วก็ฟอกความผิด กระทำทุจริตคอร์รัปชันง่ายดายด้วยกลไกเสียงข้างมากในรัฐสภา โดย ASTV และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปวารณาสร้าง ‘การเมืองใหม่’ จึงถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย

ภายใต้เสียงป่าวประกาศจะอยู่เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยนั้น นักการเมืองไม่เคยเอ่ยถึงการลุอำนาจทำคลอดนโยบายสาธารณะไร้วุฒิภาวะและวิสัยทัศน์ นักวิชาการก็บอดใบ้ไม่อ้างอิงความเลวร้ายเผด็จการรัฐสภาเพียงเพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามลัทธิพิธี 4 วินาที ปวงชนคนไทยเองก็ไม่คัดค้านนักการเมืองนำอำนาจอธิปไตยของตนเองไปปู้ยี้ปู้ยำชาติบ้านเมือง ขณะสื่อมวลชนก็ขลาดเขลาเกินกว่าจะขบถต่อขนบกดทับศักยภาพและจรรยาบรรณวิชาชีพ

การไม่กล้ากระโดดออกจากกะลาที่หุ้มห่อตัวเองไว้ในความมืดมิดทางปัญญา แล้วนำพาแสงสว่างมาสู่สังคมด้วยการพลิกกะลาแล้วโผผจญโลกกว้างความเป็นจริงที่พ้นกรอบคิดทฤษฎีเดิมๆ ของสื่อมวลชนตลอดจนนักวิชาการนั้นนัยหนึ่งนอกจากจะสะท้อนการยึดมั่นถือมั่นอันตีบตันตื้นเขินแล้ว ยังฉายชัดถึงความหาญกล้าทางจริยธรรมว่าจะพูดความจริงมากน้อยแค่ไหนด้วย

ทั้งๆ ที่ประชาธิปไตยก็คือทฤษฎีขีดเขียนขึ้นโดยมนุษย์ ไม่ได้มีสถานะเป็นกฎห้ามโต้แย้งหรือปรับเปลี่ยนไม่ได้ ฉะนั้นภายใต้สภาวะมหาวิกฤตการณ์การเมืองเช่นนี้สื่อมวลชนเช่น ASTV ที่ผนึกพลังพันธมิตรฯ นำเสนอการเมืองใหม่โดยไม่ทำลายหลักการสากลประชาธิปไตย แต่ชักชวนให้ทุกภาคส่วนสังคมเข้ามาก่อร่างสร้างประชาธิปไตยใหม่ แล้วช่วยกันคัดสรรรองเท้าประชาธิปไตยที่สวมใส่สบาย พอดีเท้า ไม่หลวมโครกหรือคับแน่นเกินไปจึงน่าจะเป็นทางเลือกร่วมกันในการก้าวย่างอย่างสร้างสรรค์บนวิถีทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืน (Sustainable democracy)

กล่าวเช่นนี้ ใช่หมายความว่าประชาธิปไตยไทยต้องตัดขาดจากกระแสสังคมโลก แต่ชวนครุ่นคิดว่ารองเท้าประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับคนไทยไม่จำเป็นต้องไซส์เดียวรุ่นเดียวกันกับชาวตะวันตกก็ได้ มากกว่านั้นยังสามารถเติมแต่งลวดลายสีสันสวยงามอันเป็นทุนวัฒนธรรมไทยลงในรองเท้าคู่นี้ก็ได้ ไม่ใช่หรือ?!

เพียงเปลี่ยนทฤษฎี มุมมองก็เปลี่ยน เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน เช่นนี้แล้วมีประโยชน์ใดจะผลักไสประชาชนไปติดบ่วง ‘เขาควาย’ (Dilemma) ที่ต้องเลือกระหว่างนักการเมืองเสื่อมทรามศีลธรรมกระทำฉ้อราษฎร์บังหลวงมากกว่ากับน้อยกว่าในกระแสธารการเมืองเก่า (The lesser of two evils)

การก้าวข้ามการเมืองเรื่องเลือกตั้งที่ไม่นำพาการตรวจสอบถ่วงดุล (Check & balance) จึงต้องถูกกำราบโดยตุลาการภิวัฒน์และประชาภิวัฒน์เสียแต่วันนี้ หากยังปล่อยยืดเยื้อยาวนานต่อไปประเทศชาติรังแต่จะสูญเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจที่มีมูลค่ากว่าความเสียหายมากมายมหาศาลกว่าการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจซบเซาลงจากการประท้วงรัฐบาลฉ้อฉลของพลเมือง

เงินแผ่นดินของประชาชนทั้งชาติกว่า 1.8 แสนล้านบาทที่ถูกผู้ใช้อำนาจรัฐคดโกงช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความพยายามยื้อยุดหยุดการตรวจสอบของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช คือความล้มเหลวรูปธรรมของนโยบายสาธารณะในกระแสการเมืองเก่ายากปัดปฏิเสธ

หากกระนั้นดังทราบกันถ้วนหน้าว่ากลุ่มคน องค์กร สถาบันที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมักถูกค่อนขอดครหาจากฟากนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนใจเอนเอียงรัฐบาล ถึงแม้ว่าข้อมูลที่ คตส. และ ASTV นำเสนอสู่สาธารณชนจะเป็นความจริงเชิงข้อเท็จจริง (Factual truth) ที่ล้วงลึกทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายอันสลับซับซ้อนก็ตามที

ท้ายสุดรัฐบาลไม่เพียงไม่ตอบ หากยังแก้เกี้ยวด้วยการฟ้องร้องกลับด้วยวงเงินมหาศาล ดังกรณี คตส. และ ASTV ที่โดนฟ้องร้องหลักร้อยล้านพันล้านจากการมุ่งมาดตรวจสอบรัฐบาลตามพันธกิจยึดมั่นว่าจะ ‘ตรวจสอบแทนประชาชน’ และเป็น ‘ยามเฝ้าแผ่นดิน’ ตามลำดับ

ทว่าร้ายแรงและน่ากังวลกว่ามากกลับเป็นสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ปกป้องผู้พูดความจริง มักเมินเฉยปล่อยให้ ‘ผู้มีความหาญกล้าทางจริยธรรม’ ต้องต่อกรอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางการสาดซัดศัตราวุธต่างๆ ของผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งแบบเปิดเผยใช้กฎหมายฟ้องร้อง และปิดลับเล่นเกมใต้ดินด้วยการล็อบบี้หรือประทุษร้ายถึงตาย

ทุกวันนี้เกือบทุกองคาพยพสังคมไทยมืดบอดทางปัญญา เพราะการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงถล่มทลายกลายเป็นความจริงที่ไม่อาจพูดได้ (Unspeakable truth) ไม่ต่างอันใดกับความจริงเรื่องโลกร้อนที่ช่วงแรกก็ถูกต่อต้านหนักหน่วง แต่ความจริงก็คือความจริง แม้จะเป็นความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง (An Inconvenient Truth) ก็ตาม

ความเหมือนคือ ASTV และพันธมิตรฯ สวมบทบาทด้านจริยธรรมเปิดโปงวิกฤตคอร์รัปชัน พร้อมเสนอทางออกในนามการเมืองใหม่ ในขณะอัล กอร์ ก็เปิดโปงวิกฤตสิ่งแวดล้อมแล้วเสนอทางรอดของมวลมนุษย์ หากความต่างก็เด่นชัดเช่นกัน ด้วย อัล กอร์จะได้รับการยกย่องจากสาธารณะ ขณะ ASTV และพันธมิตรฯ กลับถูกปรามาสจากสาธารณชน จนถ้อยคำคุ้นหูยิ่งอย่าง ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ น่าจะต่อท้ายด้วยว่า ‘แต่คนพูดความจริงมักตาย’

หรือว่าความจริงเช่นนี้ไม่ควรพูดหรือเอ่ยถามในสังคมไทย หากต้องการอยู่รอดปลอดภัย!?

สื่อทางเลือกหาญกล้าทางจริยธรรมถึงไม่วายชีวา ทว่าก็ต้องผจญวิกฤตความอยู่รอด ขาดทุนทรัพย์ดำเนินกิจการอันเนื่องมาจากบริษัทต่างๆ หวาดกลัวเกินกว่าจะลงโฆษณา กระทั่งทุกวันนี้ ASTV ดำเนินอยู่ได้ด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเชื่อมั่นว่าทั้ง ASTV และพันธมิตรฯ จะเพิ่มพูนเนื้อนาดินอุดมสมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตยได้

การเมืองใหม่ที่พันธมิตรและ ASTV ร่วมกันถักถ้อยจึงต้องก้าวมั่นบนระบอบประชาธิปไตยแบบแตกต่างมากกว่ารวมศูนย์ เปิดพื้นที่แก่ความเป็นอื่น (Other) เคียงคู่เสนอชุดจริยธรรมก้าวหน้ากว่าทวิภาวะ (Binary opposition) ขาวดำ ชั่วดี เด็ดขาดแยกมิตรศัตรู เพราะถึงที่สุดแล้วต้องดึงทุกกลุ่มสังกัดร้อยเรียงร่วมกัน ให้อำนาจกลุ่มเคยถูกปิดกั้นโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กดทับกลุ่มตักตวงเบียดบังประเทศชาติ โดยไม่ต้องถึงขั้นปักป้ายปรปักษ์ เหนืออื่นใดต้องเต้นด้วยหัวใจมนุษย์ผู้รักภราดรภาพตามวิถีการเมืองแบบมิตรภาพที่รับผิดชอบต่อผู้เห็นต่าง

แม้นการเมืองใหม่จะมีจริยธรรมเป็นเครื่องนำทาง แต่ระหว่างทางก็ต้องครองหัวใจคนด้วยการไม่ผูกขาดจริยธรรมจนเพื่อนพ้องร่วมสังคมที่ปฏิบัติตามไม่ได้หรือกระทั่งเห็นค้านบางประเด็นกลายเป็นปฏิปักษ์ไปเสียหมด.- (อ่านต่อตอน 11)

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น