xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

นายสมัครกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ชนะโต้วาที มิใช่ชนะใจประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

วิกฤตการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ยังพอมีทางออก

ทางออกที่ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ หรือเกิดความเสียหาย ทำร้าย-ทำลายประเทศชาติมากไปกว่านี้

ส่วนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่า นายสมัคร สุนทรเวช จะทำตัวให้สมกับเป็น “นายกรัฐมนตรี” หรือตัดสินใจเพื่อประเทศชาติส่วนรวมอย่างแท้จริง หรือไม่?

1. ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พึงสำเหนียกว่า เขามิใช่เพียงตัวเขาเองอีกต่อไป
หมายความว่า ตนเองได้เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เสียสละสิทธิส่วนตัวบางประการ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่รักษาสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม


สำคัญที่สุด คือ จะต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศส่วนรวม ยิ่งกว่าอำนาจ ตำแหน่ง และผลประโยชน์ส่วนตัว

หากผู้เป็นนายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความรับผิดชอบเช่นนี้ ก็จะไม่ยึดติดในตัวเอง ไม่พยายามเอาชนะคะคานผู้อื่น ไม่เอาสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีมาใช้เป็นเครื่องมือพิสูจน์ตัวเอง หรือเอาอนาคตของประเทศชาติมาเป็นเดิมพันส่วนตัว

การตัดสินใจใดๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะต้องทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม แม้ว่าการตัดสินใจนั้น อาจจะทำให้ตนเองต้องสูญเสียผลประโยชน์บางอย่าง หรือแม้แต่จะทำให้ตนเองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม

“นายกรัฐมนตรี” จำเป็นต้องคิดเช่นนี้ ถ้าใครไม่สามารถยึดถือหลักคิดเช่นนี้ ก็ไม่สมควรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

2. ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เห็นว่า นายสมัคร สุนทรเวช บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดร้ายแรง ใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหลายเรื่อง ตัดสินใจดำเนินการเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคลมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง


หากนายสมัครจะมีวุฒิภาวะและมีความจริงใจกับการเป็นนายกฯ ย่อมจะสามารถตั้งสติ คิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการใช้อำนาจในฐานะนายกฯ ของตนเอง จะเห็นว่า ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนนั้น มีน้ำหนัก มีเหตุมีผลเพียงพอ เช่น

กรณีมีมติ ครม. ออกแถลงการณ์เรื่องปราสาทพระวิหารโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ, กรณีการแต่งตั้งบุคคลที่มีชนักติดหลังเข้ามาเป็นรัฐมนตรี, กรณีมีมติ ครม.ให้รัฐมนตรีที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมาย, กรณีมติ ครม. แต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม มีคดีติดตัว และเป็นบริวารของระบอบทักษิณ เข้าไปยึดกุมอำนาจกำกับดูแลระบบและสถาบันการเงินของประเทศ, กรณีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยปราศจากธรรมาภิบาล, กรณีการบริหารราชการผิดพลาดบกพร่อง ดังที่มีการชำแหละในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น

\คนเป็นนายกรัฐมนตรี ควรจะต้องคิดและตัดสินใจเพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้อย่างสงบสุข บางเรื่อง แม้ตนเองเห็นว่าไม่ใช่ความผิดของตน แต่ด้วยความเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่มัวแต่จะโต้เถียง โต้วาทีเพื่อเอาชนะ มัวแต่อ้างว่าตนเองไม่ผิด ไม่ลาออก คล้ายกับคิดว่าถ้าโต้วาทีชนะก็จะบรรลุความสำเร็จสุดยอด โดยไม่แสดงความรับผิดชอบ เอาตัวเองเป็นหลัก แทนที่จะเอาบ้านเมืองเป็นหลัก เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

มิพักต้องเอ่ยถึงปัญหาของนายสมัครและพรรคพลังประชาชนโดยตรง ซึ่งตนเองก็รู้ดีว่า มีความเสี่ยงในคดีหลายคดี เช่น คดียุบพรรคพลังประชาชน, คดีหมิ่นประมาทที่ศาลอุทธรณ์กำลังจะมีคำพิพากษา 25 ก.ย.นี้ หลังจากที่ศาลอาญาตัดสินจำคุกนายสมัคร 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา, คดีทุจริตรถดับเพลิง คดีทุจริตโครงการขยะ ที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนอยู่ รวมไปถึงคดีชิมไปบ่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญใกล้จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด กรณีที่นายสมัครไปรับหน้าที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ของเอกชน ช่วยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นต้น

ควรหรือ... ที่คนเป็นนายกรัฐมนตรี จะเอาปัญหาส่วนตัว หรือเอาความเสี่ยงส่วนตัว เข้ามาเป็นตัวถ่วง หรือเป็นความเสี่ยงของประเทศชาติส่วนรวมด้วย ?


คนที่มีจิตสำนึกของความเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องไม่พยายามปกป้องตนเองด้วยการทำลายประเทศชาติ แต่จะต้องตัดสินใจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมเป็นหลัก แม้ว่าตนเองอาจจะต้องสูญเสียประโยชน์ส่วนตนบางประการก็ตาม

3. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายสมัครพูดจาเปลือยตัวตนผ่านรายการสนทนาประสาสมัคร บอกกับคนทั้งประเทศว่า ตนเองเป็น นักโต้วาที และสั่งสอนสังคมไทยว่า กลัวทำให้เสื่อม” โดยอ้างอิงถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ลงมือปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงรัฐบาลอย่างเด็ดขาดว่า เป็นเรื่อง “ความกลัวทำให้เสื่อม”

พูดง่ายๆ ว่า นายสมัครตราหน้าว่า เจ้าหน้าที่ “กลัว” ไม่กล้าปราบปรามประชาชน จึงทำให้เกิดความเสื่อม ความเสียหายในบ้านเมือง

วิธีคิดเช่นนี้ มิจฉาทิฐิอย่างนี้ หากนำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน บริหารประเทศ โดยเฉพาะในยามวิกฤตขณะนี้ จะเป็นความเสี่ยงภัยอย่างใหญ่หลวงของแผ่นดิน และจะนำพาบ้านเมืองเดินลงไปสู่หุบเหวของหายนะอย่างถาวร

น่าสงสัยว่า ที่ผ่านมา นายสมัครอาจจะใช้วิธีคิดเช่นนี้
เป็นวิธีคิดของนักโต้วาที มากกว่าวิธีคิดของคนเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ
เป็นวิธีคิดของคนที่ต้องการเอาชนะ มองเห็นคนที่คิดต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ต้องฟาดฟันให้ราบคาบ และใช้อำนาจที่ตนมีไปในการต่อสู้เพื่อชัยชนะของฝ่ายตนเอง มากกว่าจะรับฟังทุกฝ่าย เพื่อสานเสวนา ถักทอความเข้าใจ และแสวงหาทางเลือกที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติส่วนรวม

เนื่องจากวิสัยของนักโต้วาทีนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ




จะด้วยวิธีคิดของคนเป็นนายกรัฐมนตรีแบบนี้หรือไม่ จึงนำมาสู่การใช้อำนาจ และการมีพฤติกรรมที่เป็นภัยซ้ำเติมวิกฤตของแผ่นดินหลายประการ เช่น

(1) การพยายามใช้กลไกของรัฐเป็นเครื่องมือ เช่น ข้าราชการ หน่วยงานของรัฐต่างๆ เล่นงานฝ่ายที่คิดต่างจากตน โจมตีผู้อื่น ปกป้องตนเอง เพื่อหวังจะเอาชนะอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น การใช้สถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐใส่ร้ายป้ายสีประชาชน การใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือเล่นงานผู้ชุมนุม การใช้ข้าราชการไปฟ้องร้องขับไล่ผู้ชุมนุม การใช้ตำแหน่งลาภยศเป็นสินบนให้ข้าราชการยอมตนสวามิภักดิ์ ร่วมเล่นงานฝ่ายตรงข้ามของตน การอิงแอบใช้อำนาจของกองทัพ เป็นต้น

(2) การพยายามอิงแอบใช้ หรือแผลงใช้อำนาจของศาล เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ถึงกับอ้างว่า “ศาลให้ดาบมาถือไว้” ลองพิจารณากรณีให้เจ้าหน้าที่ไปฟ้องศาลแพ่ง เพื่อให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม และออกไปจากทำเนียบรัฐบาล


“เปลว สีเงิน” วิเคราะห์ในคอลัมน์ “คนปลายซอย” หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 29 ส.ค. 51 ว่า
“...กับสถานการณ์ขณะนี้ เป็นปัญหาบ้านเมือง-เรื่องการเมือง เหตุมาจากตัวนายสมัคร-พรรคทักษิณแท้ๆ แต่มันกลับไม่กล้าเผชิญเพื่อแก้ปัญหาตามหน้าที่ก่อน

หนีไปซุกทหาร แล้วแบกปัญหาเป็น "เผือกร้อน" ไปพึ่งบารมีศาลให้ท่านแก้ให้ ส่วนตัวเองก็ลอยหน้า-ลอยตา เป็นว่าต่อจากนี้ "รัฐบาลไม่เกี่ยว" แล้ว.. ..การยึด "ทำเนียบรัฐบาล" เป็นสถานที่ชุมนุมของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" พ้นหน้าที่ และพ้นความรับผิดชอบของรัฐบาลไปแล้ว! ดูสันดานมันทำ!

นายสมัคร ใช้ความชำนาญเล่ห์การเมือง ผลักปัญหา-ภาระทั้งหมดนั้นให้ไปอยู่ในเขตอำนาจของศาล จากร้องฉุกเฉินไปจนถึงขั้นตอน “แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี” ทำให้เกิดภาพเป็นว่า ขณะนี้ “ศาลแพ่ง” คล้ายต้องทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองแทนรัฐบาล โดย “เจ้าพนักงานบังคับคดี” อันเป็นหน่วยงานของศาล ต้องลงมาแบกรับปัญหา และต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม “มวลชนพันธมิตรฯ” แทนรัฐบาล ศาลจึงคล้ายเป็น “คู่กรณี” กับพันธมิตรฯ ไปโดยปริยาย!?

…นี่..ไม่เพียงเปลื้องภาระที่ตัวเองแก้ไม่ได้ให้ “พ้นตัว” ไปเท่านั้น นายสมัครยังใช้สันดานนักการเมืองเก๋าเกม “ฉวยโอกาสในวิกฤต” ด้วยการเสกให้งาช้างงอกในปาก อวดสังคมว่า “สั่งไม่ให้ใช้กำลังสลายการชุมนุม อยากจะชุมนุมก็ให้ชุมนุมกันไป” ก็ใช่น่ะซี..ใช้ศาลทำหน้าที่ “สลายการชุมนุม” แทนไปแล้วนี่!”


พึงตระหนัก... ท่านผู้พิพากษาอาวุโส (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา) “ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ” ถึงกับทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการ พร้อมทำสำเนาถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีเนื้อความสำคัญว่า

“..การยกปัญหาข้อขัดแย้งกันในทางการเมือง โดยวิธีการแผลงเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเมืองให้เป็นปัญหาระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือการแผลงเรื่องการดำเนินการทางการเมืองให้มาเป็นคดีอาญาในข้อหาร้ายแรงเป็นกบฏเพื่อหวังผลเอาอำนาจศาลยุติธรรมไปใช้ให้มีผลที่จะนำมาซึ่งชัยชนะกันในทางการเมือง หรือเพื่อระงับมิให้มีการแสดงออกหรือการกระทำในทางการเมืองของประชาชนนั้น จะเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียและความเชื่อมั่นของสถาบันศาลยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะในประเทศสากลทุกประเทศทั่วโลกนั้นจะรู้ว่าเขตอำนาจศาลยุติธรรมของทุกประเทศจะไม่มีเขตอำนาจศาลที่จะไประงับหรือยุติปัญหาทางการเมืองที่มีการแสดงออกโดยประชาชนได้แต่อย่างใดเลย…

การแผลงเรื่องของการเมืองให้มาเป็นปัญหาระหว่างเอกชนกับเอกชน กับการแผลงเรื่องการดำเนินการทางการเมืองให้มาเป็นคดีอาญาในข้อหาร้ายแรงว่าเป็นเรื่องความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรหรือเป็นกบฏนั้นจึงต้องเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องตรวจสอบถึง “ความชอบด้วยกฎหมายของเขตอำนาจศาลยุติธรรม” ให้ชัดเจนก่อนด้วยว่า การนำคดีมาสู่ศาลยุติธรรมนั้น ศาลยุติธรรมจะมีเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ โดยจะต้องทำการไต่สวนถึงต้นเหตุและปลายเหตุที่แท้จริงเสียก่อนว่า ศาลมีเขตอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการให้ได้หรือไม่ โดยเป็นปัญหาระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะศาลยุติธรรมไม่มีเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใดๆ อันเกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในทางความคิดเห็นหรือการแสดงออกใดๆ ในทางการเมืองใดๆ เพราะปัญหาดังกล่าวต้องแก้ด้วยเหตุผลกันในทางการเมืองเท่านั้น และศาลยุติธรรมไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นเครื่องมือในทางการเมืองได้เลย”


ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อาศัยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่ง ไปแอบอ้างทำการทุบตีประชาชน ไล่รื้อทรัพย์สินของผู้ชุมนุม จึงไม่น่าแปลกใจที่ศาลแพ่งจะต้องออกมาอธิบายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ว่าฝ่ายบริหารทำเกินเลย ตีความเกินคำสั่ง ไปสลายการชุมนุมและไล่รื้อเวทีที่สะพานมัฆวานฯ และมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีกับผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลไว้ก่อน จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา

(3) การอ้างแอบ อิงอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์

นายสมัคร อ้างว่า “ขอพึ่งพระบารมี” เพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนเอง จะเข้าข่ายว่า เป็นการนำ “สถาบันเบื้องสูง” มาใช้แก้ปัญหาที่ตัวเอง หรือไม่ ?

รวมถึงการอ้างว่า “เจ้านาย” ให้อยู่ต่อก็ดี หรือการเร่งดำเนินการไล่โรงเรียนและชุมชนเกียกกายออกไป เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยอ้างว่า “จะต้องรีบรื้อถอนบางส่วนออกไปให้ทันก่อนวันที่ 5 ธันวา และจะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์” ก็ดี เป็นการบังควรหรือไม่

ทั้งหมดนี้ เป็นแรงขับดันจากความอยากเอาชนะ การเอาตัวรอดของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้คำตอบอย่างที่ตนเองต้องการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ใช่หรือไม่ ?

และด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครอยากพูดต่อ หรือแสดงความเห็นลงมา เมื่อนายสมัครรายงาน เพราะเกรงจะถูกนำไปอ้าง

ทางออกของบ้านเมืองในขณะนี้ มี 2 ทาง คือ

1. นายสมัคร ต้องยอมเสียสละตัวเอง ไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษา หรือรอให้ใครปลดออก หรือเขี่ยออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องอ้างว่าตนเองไม่ผิด เพราะผิดหรือไม่ผิดจะต้องรอคำพิพากษาของศาล แต่ขณะนี้ บ้านเมืองกำลังลุกไหม้ คนเป็นนายกรัฐมนตรีจึงต้องแสดงวุฒิภาวะ “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยการลาออก ปลดชนวนปัญหา เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

2. นายสมัคร ยึดมั่นถือมั่นในตัวเองต่อไป บ้านเมืองจะหายนะอย่างไรก็ช่าง แต่ขอให้ตนเองสามารถเอาตัวรอด โดยไม่ได้รับผลกระทบ อาศัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำการใช้อำนาจและกลไกของรัฐ “รบกับฝ่ายตรงข้าม” และโต้วาทีต่อไป เหมือนคนที่มีปัญหาทางจิต ที่สะใจและพอใจที่ได้เปิดสภาเพื่อโต้วาที ในขณะที่ไฟโหมลุกไหม้บ้านเมือง

ซึ่งถึงวันหนึ่ง นายสมัครก็จะต้องถูกทำให้ออกไป “อย่างเจ็บปวดและน่าอัปยศอดสูที่สุด”
ขอให้พึงตระหนักว่า ไม่ใช่ความกลัวหรอกที่ทำให้เสื่อม แต่ความไม่หยั่งรู้ ไม่รับรู้ว่าอะไรเป็นความชั่ว หรือความไม่ละอายต่อความชั่วและเกรงกลัวต่อบาปต่างหาก ที่ทำให้เสื่อมทั้งตน เสื่อมทั้งชาติ


พึงสังวรว่า... นายสมัครคงจะมีชีวิตบนผืนแผ่นดินนี้อีกไม่ถึง 3,000 วัน ถึงวันนั้น นายสมัครต้องการจะให้ประวัติศาสตร์จดจำตนเองไว้ในฐานะอะไร และต้องการให้ลูกหลานมีชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปในฐานะอะไร?

จะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง หรือจะเป็นคนดื้อที่เห็นแก่ตัว ถึงกับยอมทำลายประเทศชาติ เพื่อเอาชนะ และในที่สุดก็ต้องมอดม้วยไปด้วยกัน !

ประเมินตนเองใหม่เถอะครับ ครั้งนี้ถึงยังเป็นนายกฯ อยู่ได้ ก็ปกครองใครไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น