xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ทิศทางนโยบายอุตสาหกรรมของมาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

มาเลเซียประสบผลสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว ไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงขึ้นตามลำดับ และปัจจุบันกำลังรุกสู่การพัฒนาประเทศในเฟสที่ 2 ไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้

มาเลเซียนับเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จากเดิมก่อนประกาศเอกราชในช่วงทศวรรษที่ 1950 ประเทศต้องพึ่งพารายได้จากสินค้าขั้นปฐมอย่างมาก โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกยางพาราและดีบุกมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ได้เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ การพิมพ์ พลาสติก ฯลฯ จากนั้นได้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก

มาเลเซียเริ่มใช้แผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับแรก ครอบคลุมการบริหารราชการในช่วงปี 2529 - 2538 ซึ่งกำหนดจะส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออกต่อไป โดยในช่วงนี้เองได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนามาเลเซียให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563

ต่อมารัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้แผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 สำหรับใช้ในช่วงปี 2539 - 2548 กำหนดพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยกลยุทธ์สำคัญ 2 ประการ

ประการแรก กลยุทธ์ Manufacturing ++ เป็นการขยายฐานจากเดิมที่เน้นการผลิต ไปสู่ปัจจัยบวก (+) ใน 2 ทิศทาง คือ ในส่วนต้นน้ำซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์ และในส่วนปลายน้ำ ซึ่งเป็นการตลาดและกระจายสินค้า พร้อมกันนี้จะต้องเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ตลอดทั้งห่วงโซ่แห่งคุณค่า โดยเน้นทั้งในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพ นวัตกรรม ระบบบริหารจัดการที่เยี่ยมยอด ฯลฯ

ประการที่สอง พัฒนาอุตสาหกรรมให้กระจุกตัวเป็นคลัสเตอร์ เป็นการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแผนฉบับที่ 2 ประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยภาคอุตสาหกรรมเติบโตโดยเฉลี่ยสูงถึง 6.2% ต่อปี แม้ในช่วงนี้มาเลเซียต้องเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ คือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ต้องไปขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จนหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่ามาเลเซียจะกลายเป็นประเทศต่อไปที่จะต้องเข้าโรงเรียนไอเอ็มเอฟ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การบริหารงานของ ดร.มหาเธร์ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟแต่อย่างใด โดยควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศพร้อมกับกำหนดค่าเงินริงกิตของมาเลเซียให้ผูกติดกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ แม้ว่าในช่วงแรกไอเอ็มเอฟได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซียอย่างรุนแรงว่าจะพาประเทศไปสู่ความล่มจม แต่ถึงทุกวันนี้ กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง โดยไอเอ็มเอฟได้เปลี่ยนจากการวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นการชมเชยนโยบายแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของมาเลเซียว่าดีเยี่ยมมาก

ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 เกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมของมาเลเซียตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับที่ 3 สำหรับใช้ในช่วงปี 2549 - 2563 ซึ่งกำหนดกลยุทธ์ไว้น่าสนใจหลายประการ โดยในบทความนี้จะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพียง 7 ประการเท่านั้น กล่าวคือ

ประการแรก การเสริมสร้างบทบาทของมาเลเซียในฐานะประเทศทำการค้ารายใหญ่ของโลก โดยส่งเสริมการส่งออกในผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูง เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มัลติมีเดีย สินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วน โดยจะส่งเสริมการพัฒนาแบรนด์ของตนเอง รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกแก่การค้า

สำหรับธุรกิจบริการประเภท Shared Services and Outsourcing (SSO) ซึ่งเป็นบริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังต่างประเทศ มาเลเซียนับว่าประสบผลสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา XMG พบว่าในปี 2550 มาเลเซียมีรายได้ในธุรกิจด้านนี้เป็นเงินประมาณ 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดโลก 1.2% และมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูง (Knowledge Worker) ทำงานด้านนี้ในมาเลเซียจำนวนประมาณ 50,000 คน

ธุรกิจ SSO ของมาเลเซีย ส่วนใหญ่อยู่ที่นครไซเบอร์จาย่าภายในโครงการมัลติมีเดียซูเปอร์คอร์ริดอร์ เป็นต้นว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคาร HSBC ได้จัดตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลทั่วโลก (Global Processing Hub) ที่นครไซเบอร์จาย่าในมาเลเซีย ส่วนบริษัทเชลล์และบริษัท DHL จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับภูมิภาคเอเชียขึ้นที่นครไซเบอร์จาย่าเช่นเดียวกัน ส่วนบริษัท HP และ BMW ได้จัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่นครไซเบอร์จาย่า

อนึ่ง จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา A. T. Kearney เมื่อปี 2547 พบว่ามาเลเซียมีศักยภาพสูงเป็นอันดับ 3 ในการก่อตั้งศูนย์ SSO ในต่างประเทศ โดยเปรียบเทียบ 25 ประเทศ พบว่าอินเดียมีคะแนนสูงสุด รองลงมา คือ จีนเป็นอันดับ 2 มาเลเซียเป็นอันดับ 3 สาธารณรัฐเช็คอันดับ 4 และสิงคโปร์อันดับ 5 โดยแม้บริษัทที่ปรึกษา A. T. Kearney ให้คะแนนสิงคโปร์มากกว่ามาเลเซียในด้านโครงสร้างพื้นฐานสาขาโทรคมนาคม ระบบกฎหมาย และระบบการเงิน แต่เสียเปรียบมาเลเซียในด้านต้นทุนการดำเนินการ ทำให้คะแนนรวมของมาเลเซียสูงกว่า

สำหรับมีข้อได้เปรียบสำคัญของมาเลเซีย คือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจ SSO ด้วย ประกอบกับมาเลเซียมีประชากรที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชาวต่างประเทศจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะชาวจีนและอินเดีย แม้ปัจจุบันได้แปลงสัญชาติเป็นมาเลเซียแล้ว แต่ก็ยังพูดภาษาจีนและอินเดียได้ ทำให้มีศักยภาพที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์คอลล์เซ็นเตอร์ได้หลายภาษา เช่น อังกฤษ จีน มาเลย์ อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ฯลฯ

ประการที่สอง ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยใช้ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมการส่งออก โดยมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนหลากหลายทั้งในส่วนการยกเว้นภาษีอากรและมาตรการ Investment Allowance ทั้งนี้ สำหรับการชักจูงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสำคัญมากเป็นพิเศษ รัฐบาลมาเลเซียยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม Pre-Package Investment Scheme พร้อมกับกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจยุทธศาสตร์ (Strategic Investment Fund)

ประการที่สาม ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเปลี่ยนไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เทคโนโลยีสูง การใช้ทุนเข้มข้น กิจกรรมฐานความรู้ โดยรวมถึงมาตรการส่งเสริมการวิจัย ออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนางราฟิดาห์ อาซิซ ได้เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศว่ามาเลเซียมุ่งเน้นการลงทุนในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยารักษาโรค เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หากเป็นกิจการที่ใช้แรงงานราคาต่ำเข้มข้นหรือเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีต่ำแล้ว เธอแนะนำด้วยความหวังดีว่าควรไปลงทุนประเทศอื่นๆ จะเหมาะสมกว่า เช่น จีน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย หรืออินเดีย

ประการที่สี่ ส่งเสริมภาคบริการให้เป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมาเลเซียประสบผลสำเร็จอย่างมากในด้านการท่องเที่ยว โดยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศของมาเลเซียได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา จาก 5.5 ล้านคน ในปี 2541 เป็น 13.3 ล้านคน ในปี 2545 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 17.5 ล้านคน ในปี 2549 และล่าสุดในปี 2550 ซึ่งมาเลเซียได้กำหนดเป็นปีท่องเที่ยว (Visit Malaysia Year 2007) จำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 20.9 ล้านคน

ประการที่ห้า อำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ใช้ความรู้เข้มข้น โดยส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาที่เน้นเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมยานยนต์ นาโนเทคโนโลยี

ประการที่หก การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเพิ่มอุปทานของบุคลากรที่มีทักษะทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการในด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ การพัฒนาเฟสแรกของวิสัยทัศน์ 2020 ของมาเลเซีย ได้เน้นการพัฒนาในส่วนที่เป็นรูปธรรมเป็นหลัก เป็นต้นว่า โครงสร้างพื้นฐาน โรงงาน แต่ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเฟส 2 ของวิสัยทัศน์ 2020 เป็นการเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้

อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนนับว่าเด่นมากและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะการเป็นผู้จัดการโรงงาน ทั้งนี้ บริษัทข้ามชาติของตะวันตกจะนิยมแต่งตั้งชาวมาเลเซียไปดำรงตำแหน่งเป็นบริหารระดับสูงในบริษัทสาขาที่ก่อตั้งในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ประการที่เจ็ด เสริมสร้างบรรยากาศธุรกิจที่มีการแข่งขัน โดยดำเนินการผ่านมาตรการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความโปร่งใส และเสริมสร้างความมั่นใจว่าระบบสิทธิและประโยชน์ของมาเลเซียจะสามารถแข่งขันได้กับของประเทศอื่นๆ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น