xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ราฟิดาห์ อาซิซ กับ 21 ปี แห่งนโยบายอุตสาหกรรมของมาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

นางราฟิดาห์ อาซิซ นับเป็นรัฐมนตรีหญิงที่โดดเด่นมากของมาเลเซีย โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซียมาเป็นเวลายาวนานถึง 21 ปี ถึงกับมีการกล่าวกันว่าน่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ทั้งในส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมค่อนข้างเปลือง

ก่อนอื่นต้องขอเล่าประวัติของนางราฟิดาห์ก่อน เธอเกิดเมื่อปี 2486 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมลายาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยก้าวเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัวในปี 2521 เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขณะมีอายุได้เพียง 35 ปี

จากนั้นในปี 2523 ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมนับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2530 เมื่ออายุได้เพียง 44 ปี ซึ่งตรงกับสมัยนายประมวล สภาวสุ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยนางราฟิดาห์ได้ดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานจนถึงเดือนมีนาคม 2551 ขณะที่ช่วงเดียวกันประเทศไทยเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปแล้วมากถึง 21 ครั้ง โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจำนวน 17 คน

การพัฒนาอุตสาหกรรมของมาเลเซียในช่วงการดำรงตำแหน่งของนางราฟิดาห์นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยภาคอุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 6.2% ต่อปี การใช้จ่ายในด้านวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชนได้เพิ่มจาก 0.2% ของ GDP ในปี 2539 เป็น 0.9% ของ GDP ในปี 2548 ขณะที่สัดส่วนของนักวิจัยต่อแรงงานเพิ่มจาก 5 คน ต่อ 10,000 คน เป็น 25 คน ต่อ 10,000 คน ในปี 2548

รัฐบาลมาเลเซียได้เน้นชักจูงการลงทุนที่มีคุณภาพสูง โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามาเลเซียมุ่งเน้นการลงทุนในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยารักษาโรค เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฯลฯ โดยหากเป็นกิจการที่ใช้แรงงานราคาต่ำ หรือใช้เทคโนโลยีระดับต่ำแล้ว ไม่ควรเข้ามาลงทุนในมาเลเซีย

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดมาตรการ Pre-Package Investment Scheme พร้อมกับกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจยุทธศาสตร์ (Strategic Investment Fund) สำหรับโครงการลงทุนคุณภาพสูงที่ได้ลงทุนในช่วงนี้ คือ การลงทุนในธุรกิจเวเฟอร์วงจรรวมในหลายโครงการ เป็นเงินประมาณ 160,000 ล้านบาท

ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัทอินฟิเนียน ของเยอรมนีได้ประกาศลงทุน 40,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเวเฟอร์วงจรรวมที่ Kulim Hi-Tech Park ของมาเลเซีย โดยการก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อปี 2550 ทั้งนี้ เมื่อเปิดดำเนินการเต็มโครงการ คาดว่าจะจ้างงานเป็นจำนวนมากถึง 1,700 คน

สำหรับจุดเด่นสำคัญของนางราฟิดาห์ คือ เป็นนักบริหารระดับมืออาชีพ มีสติปัญญาเฉียบแหลม และเป็นคนที่มีความรู้แน่น เนื่องจากระบบบริหารความรู้ดีมาก ทำให้มีข้อมูลจำนวนมากติดตัวอยู่ตลอดเวลา สามารถเรียกใช้ได้ทันที ส่งผลทำให้สามารถดำเนินกลยุทธ์พัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้โต้เถียงเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ได้

เธอมีบุคลิกที่ไม่เกรงกลัวผู้ใด แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีตำแหน่งใหญ่โตมากเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีของประเทศมหาอำนาจประเทศใดมาข่มขู่ เธอจะไม่กลัวเกรงใดๆ ทั้งสิ้น หากมาปะทะคารมกันแล้ว ต่างหน้าหงายกลับไปเกือบทุกราย เหมือนกับเป็นมวยคนละชั้นหรือกระดูกคนละเบอร์

ตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมการค้าโลกที่สิงคโปร์เมื่อปี 2539 เธอได้ปะทะคารมกับนางแคร์ลีน เบรเชฟสกี้ หัวหน้าผู้แทนทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก ไม่เพียงแต่รัฐมนตรีว่าการทรวงพาณิชย์ของประเทศต่างๆ จะเกรงกลัวเท่านั้น แม้แต่ระดับผู้นำประเทศก็ยังให้ความยำเกรง เนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะออกมาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่นางราฟิดาห์กลับไม่เกรงศักดิ์ศรีแต่อย่างใด วีรกรรมในครั้งนั้นทำให้สื่อมวลชนตั้งฉายาเธอนับตั้งแต่นั้นมาว่าเป็น Iron Lady of Trade หรือ สตรีเหล็กแห่งการค้า

ต่อมาในการแถลงข่าวการประชุมเอเปกเมื่อปี 2541 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ เธอได้ปะทะคารมอีกครั้งหนึ่งกับนางเมเดลลีน อัลไบรท์ ซึ่งมีตำแหน่งใหญ่โต โดยเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และได้รับฉายาว่าสตรีเหล็กเช่นเดียวกัน กลายเป็นศึก 2 นางพญา โดยเมื่อนางอัลไบรทได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีนางมหาเธร์ได้สั่งปลดนายอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เธอก็ได้สวนกลับอย่างทันทีทันใดไปว่าขอให้นางอัลไบรทพูดเฉพาะตามระเบียบวาระการประชุมเอเปกเท่านั้น อย่ามายุ่มย่ามแทรกแซงกิจการภายในของมาเลเซีย

นอกจากนี้ เธอยังปะทะคารมกับรัฐมนตรีของไทยด้วย เมื่อบริษัทโตโยต้า ต้องการส่งออกรถตู้โตโยต้าไฮเอทที่ผลิตจากโรงงานในประเทศมาเลเซียเข้ามาจำหน่ายยังไทย โดยขอเสียอากรขาเข้าเพียง 5% ตามอัตรา ASEAN Common Effective Preferential Tariff (CEPT) แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม เนื่องจากเห็นว่ามาเลเซียไม่เปิดตลาดรถยนต์ภายในประเทศ ดังนั้น จึงได้เก็บอากรขาเข้าในอัตรา 20%

คำปฏิเสธข้างต้นได้สร้างความไม่พอใจแก่เธอเป็นอันมาก โดยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อกลางปี 2549 ว่ามาเลเซียจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% เท่านั้น ไม่ใช่อัตรา 20% พร้อมกับกล่าวว่าประเทศไทยเองก็มีมาตรการในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการนำเข้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) เกี่ยวกับสินค้าน้ำมันปาล์ม

นอกจากนี้ เธอยังกล่าวพาดพึงว่าเหตุผลที่ไทยต้องการเก็บอากรขาเข้าในอัตรา 20% ก็เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ต้องการให้โตโยต้ามาตั้งฐานผลิตรถตู้ในมาเลเซียเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยต้องการบีบบังคับให้มาตั้งโรงงานประกอบรถตู้ในไทย

ในที่สุดฝ่ายไทยและมาเลเซียสามารถเจรจาตกลงยอมความกันได้เมื่อปี 2550 โดยฝ่ายไทยยินยอมเก็บอากรขาเข้ารถยนต์จากมาเลเซียในอัตราเพียงแค่ 5% ทำให้ปัจจุบันรถยนต์จากมาเลเซียจำนวนมากได้เริ่มเดินพาเหรดเข้ามาจำหน่ายในไทย ทั้งในส่วนรถตู้ของโตโยต้า รถยนต์โปรตอน และล่าสุดคือ รถยนต์นาซ่า

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังการดำรงตำแหน่งของนางราฟิดาห์ไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก ได้เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเมื่อกลางปี 2548 ดร.มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทโปรตอน ได้กล่าวว่าเธอออกใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ตามโครงการ Approved Permits (AP) อย่างไม่โปร่งใส โดยมอบใบอนุญาตจำนวนมากแก่ผู้นำเข้าบางราย ทำให้สามารถจำหน่ายรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศในราคาถูกเพื่อแย่งตลาดจากรถยนต์โปรตอน

ส่วนนางราฟิดาห์ได้ดับเครื่องชน โดยกล่าวว่าการออกใบอนุญาตล้วนแต่ดำเนินการไปอย่างโปร่งใสทั้งสิ้น พร้อมกับกล่าวว่าในจำนวนการอนุญาตนำเข้าตามโครงการ AP นั้น ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ารถยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้แข่งขันในตลาดเดียวกับรถยนต์โปรตอนซึ่งมีขนาดเล็กแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ยังกล่าวพาดพิงว่าหนึ่งในผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ตามโครงการ AP ยังเป็นบุตรของ ดร.มหาเธร์ด้วย โดยเป็นการนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อปอร์เช่จากเยอรมนี

ต่อมารัฐบาลมาเลเซียได้เปิดเผยข้อมูลข้างต้นต่อสาธารณะ พบว่าใบอนุญาต AP ให้นำเข้ารถยนต์จำนวน 67,000 คัน ในปี 2548 นั้น ส่วนใหญ่กระจุกตัวในมือของคนเพียงแค่ 4 คน ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส ส่งผลกระทบทางลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก

สำหรับการเลือกตั้งล่าสุดในมาเลเซียเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2551 แม้พรรครัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง โดยได้รับเก้าอี้เกินครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ยังชนะการเลือกตั้งเพียงแค่ 8 รัฐ จากทั้งหมด 13 รัฐ อย่างไรก็ตาม นางราฟิดาห์ยังชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐเปรัค โดยเฉือนเอาชนะคู่แข่ง 4,458 คะแนน

ภายหลังการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ได้ประกาศคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2550 ปรากฏว่านางราฟิดาห์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี โดยได้แต่งตั้งให้นาย Muhyiddin Yassin อดีตรัฐมนตรีว่าการเกษตร ให้มีดำรงตำแหน่งแทน โดยนายอับดุลลาห์กล่าวถึงเหตุผลว่านางราฟิดาห์จำเป็นต้องลงจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

สำหรับนาย Muhyiddin ซึ่งมาดำรงตำแหน่งแทนนั้น ความจริงแล้วไม่ได้เป็นคนหน้าใหม่ในกระทรวงแห่งนี้แต่อย่างใด โดยในอดีตได้เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการที่กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อปี 2527

นาย Muhyiddin ได้ให้ทัศนะว่านางราฟิดาห์ได้สร้างมาตรฐานการดำรงตำแหน่งไว้สูงมาก ทำให้มาเลเซียประสบผลสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างท่วมท้น ซึ่งตัวเขาเองต้องพยายามอย่างมากที่สุด เพื่อที่จะรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในระดับสูงต่อไปอีก โดยจะยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนต่อไปเช่นเดิม เนื่องจากเป็นนโยบายที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาในการชักจูงการลงทุน

สำหรับใน 5 รัฐ ที่ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งและครองตำแหน่งผู้บริหาร คือ รัฐกลันตัน เคดาห์ ปีนัง เปรัค และสลังงอร์ นั้น เขากล่าวว่าไม่ได้อาฆาตมาดร้ายต่อรัฐเหล่านี้แต่อย่างใด โดยกระทรวงจะยังคงร่วมมือประสานงานกับผู้บริหารของรัฐนั้นๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่อไปอีก

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น