xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:เศรษฐกิจเอเชียยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความนี้ผมขอเขียนถึงแนวคิดเรื่อง Decoupling ที่ว่าด้วยการแยกตัวของเศรษฐกิจเอเชียจากสหรัฐฯ ซึ่งจากพัฒนาการของเศรษฐกิจและการค้าทำให้มีความเข้าใจกันว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย เพราะเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยสามารถแยกตัว(Decouple)ออกจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผมมีความเห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียพึ่งพิงสหรัฐฯ น้อยลง แต่ยังไม่ถึงขั้น Decoupling เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยเป็นธรรมดา แม้ว่าจะมีผลน้อยลงก็ตาม

พื้นฐานของแนวคิดDecoupling อยู่บนความเชื่อที่ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกและเอเชียในปัจจุบันมีความแตกต่างจากอดีตมาก เนื่องจากในปัจจุบันมีประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น บราซิล รัสเซีย จีนและอินเดีย (กลุ่ม BRIC) เข้ามาทำการค้าขายและมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกมีความเกี่ยวพันกันสูงขึ้น ซึ่งดูได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกด้วยกันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 การขยายตัวของการเชื่อมโยงกันทำให้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจหลัก คือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ลง โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯมีปัญหา แต่ทว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ เลยเมื่อดูจากการส่งออกที่แทบจะไม่ได้ชะลอตัวลง

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าแนวคิดนี้ยังต้องการการศึกษาและวิจัยประกอบอีกมาก ทำให้ผมไม่ให้น้ำหนักกับแนวคิดนี้มากนัก เนื่องจากแม้ว่าเราจะมีประเทศกลุ่ม BRIC ที่มีบทบาทมากขึ้นก็ตาม แต่ทว่าทั้ง สหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ที่รวมกันเรียกกันว่ากลุ่ม G-3 ยังคงมีบทบาทมากในเศรษฐกิจโลก เพราะมีขนาดเศรษฐกิจสูงกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการใช้จ่ายในการบริโภคของประเทศในกลุ่ม G-3 นี้ สูงกว่ากลุ่ม BRIC มาก

นอกจากนี้ การที่เห็นว่ามูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกพุ่งขึ้นเร็วมาก ทำให้เชื่อว่าจะพึ่งพิงสหรัฐฯ น้อยลง ผมคิดว่าข้อสรุปดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องคือ การค้าระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกมีมูลค่าสูงขึ้นมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันด้านการผลิตที่สูงขึ้น มากกว่าจะมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าของประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน การเปิดเสรีทางการค้าที่มากขึ้น ทำให้มีการใช้ประโยชน์ด้วยการซื้อชิ้นส่วนการผลิตระหว่างกันในภูมิภาคสูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนการผลิตมากกว่าสินค้าอุปโภคบริโภค การค้าระหว่างกันจึงเป็นการเพิ่มขึ้นของการค้าสินค้าอุตสาหกรรมเดียวกัน (Intra-Industrial Trade) แต่อุปสงค์ขั้นสุดท้ายสำหรับสินค้าสำเร็จรูปก็ยังเป็นตลาด G-3 เป็นหลักเช่นเดิม

การที่มีการผลิตต่อเนื่องเป็นทอดๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เช่น ไทยอาจจะนำเข้าชิ้นส่วนขั้นต้นจากมาเลเซีย นำมาประกอบเป็นชิ้นส่วนที่ลำดับสูงขึ้น จากนั้นจึงส่งออกไปจีนที่นำเข้าชิ้นส่วนจากหลายประเทศมาประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อส่งออก การที่มีการผลิตเป็นลำดับขั้นเช่นนี้ทำให้ดูว่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการนับซ้ำกันในการส่งออกแต่ละครั้ง เช่น ไทยนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากมาเลเซีย 100 ล้านบาท มาประกอบเป็นสินค้าขั้นกลางลำดับที่สูงขึ้น และส่งออกไปจีนมูลค่า 120 ล้านบาท แท้ที่จริงไทยส่งออกสุทธิไปจีนเพียง 20 ล้านบาท เนื่องจากการบันทึกมูลค่าของการนำเข้าและส่งออกไม่ได้ใช้หลักคำนวณตามมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อป้องกันการนับซ้ำ แต่ในบัญชีนำเข้าและส่งออกมีการนับซ้ำหลายๆ ครั้งกว่าจะไปสู่สินค้าขั้นสุดท้าย จึงทำให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในภูมิภาคพุ่งขึ้นเกือบทุกประเทศ

แม้ว่าข้อมูลในปัจจุบันจะชี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ยังไม่ได้ชะลอตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งแตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในปี 2544 ที่เศรษฐกิจหลักของโลกอื่นๆ ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นทรุดตัวลงเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งแนวคิด Decoupling นำเรื่องนี้มาอ้างอิงด้วย ผมคิดว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นผันผวนตามสหรัฐฯ น้อยลง ไม่ได้เกิดจากการแยกตัวจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เกิดจากความแตกต่างของการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้กับปี 2544 โดยภาวะถดถอยในปี 2544 เกิดจากการแตกของฟองสบู่ธุรกิจ IT หรือที่มักเรียกกันว่า ฟองสบู่ดอทคอม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อฟองสบู่แตกและเศรษฐกิจถดถอย อาการจึงเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯและอีกหลายประเทศ ทำให้ดูเหมือนว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสหรัฐฯ ผันแปรตามสหรัฐฯ จึงทำให้เข้าใจกันว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นสำคัญ

ส่วนภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เป็นวิกฤติในตลาดการเงินของสหรัฐฯเพียงประเทศเดียว ประเทศอื่นๆ เพียงแต่ติดเชื้อไปบ้างเท่านั้น และได้รับผลน้อยกว่ามาก ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้แปรตามสหรัฐฯ เท่าใดนัก แต่ทว่าผมไม่ได้หมายความว่าประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ จะไม่ถูกกระทบจากการถดถอยครั้งนี้ เพียงแต่ถูกกระทบช้ากว่า เนื่องจากผลกระทบจะต้องผ่านกลไกด้านการค้าและการไหลของเงินทุนตามปกติ ซึ่งต้องใช้เวลานานประมาณ 3-6 เดือนกว่าที่ผลของการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การไหลของเงินทุนได้เริ่มมีผลแล้ว และได้ทำให้ค่าเงินของประเทศคู่ค้าสูงขึ้นมากเกือบทุกประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของประเทศนั้นๆไปยังสหรัฐฯในอนาคตเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป แม้ข้อมูลเบื้องต้นจะสนับสนุนแนวคิด Decoupling แต่ปัจจัยอื่นๆ เช่น การเชื่อมโยงการผลิตที่มากขึ้นของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก การนับซ้ำของมูลค่าการค้าระหว่างกัน และความแตกต่างของเหตุที่มาของความถดถอยในสหรัฐฯครั้งนี้ ผมยังเห็นว่า การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียรวมทั้งไทยผ่านการค้าและการไหลของเงินทุนอย่างแน่นอน แต่ทว่ากลไกการส่งผ่านผลกระทบจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้น เราต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินบาทและการส่งออกของไทย ที่ผมคาดว่าปัจจัยทั้งหมดจะกระทบเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ค่อนข้างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น