ซินหัวเน็ต - สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเตือนว่าวิกฤตซับไพรม์จะกระตุ้นให้เงินทุนจำนวนมหาศาลไหลสู่ตลาดทุนจีน ซึ่งจะกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในแดนมังกร ด้านฝานกังนักเศรษฐศาสตร์จีนเสริมว่าในช่วงปีนี้และปีหน้าจะมีเงินทุนระหว่างประเทศจำนวนมากไหลทะลักสู่ประเทศจีน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค. โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลและอาจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และฝานกัง สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งธนาคารประชาชนจีนและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อน ผลกระทบของวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาและการไหลของเงินทุนระหว่างประเทศที่มีต่อประเทศจีน ระหว่างการสัมมนาระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาประเทศจีนปี 2008
การสัมมนาดังกล่าวที่ใช้เวลา 3 วันได้เปิดม่านเมื่อวันเสาร์ที่ 22 มี.ค. โดยมีหัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ว่า “ประเทศจีนปี 2020: เป้าหมายการพัฒนาและทิศทางนโยบาย” ซึ่งได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากมาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของโลกและประเทศจีน
สติกลิตซ์ใช้คำว่า “สภาพการณ์ไม่ปกติ” กับปัญหาเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เขาตั้งคำถามว่า ในขณะที่ราคาสินค้าพื้นฐานรวมทั้งอาหารและน้ำมันดิบของทั่วโลกทะยานขึ้น จีนควรจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะวิธีลดภาวะเงินเฟ้อแบบเดิมๆ จะทำให้เกิดปัญหาว่างงานตามมา และเงินทุนที่ล้นเกินจากธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งไหลเข้าสู่ตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งตลาดทุนจีน อาจยิ่งเพิ่มแรงกดดันการเกิดเงินเฟ้อให้แก่จีน และการควบคุมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศจะยากยิ่งขึ้น
ฝานกังเห็นด้วยกับสติกลิตซ์ เขากล่าวว่า “วิกฤตซับไพรม์สหรัฐฯ มีผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งจีน ซึ่งจะแสดงออกใน 2 ด้านได้แก่การค้าและเงินทุน”
ข้อมูลจากศุลกากรจีนระบุว่า มูลค่าการนำเข้าส่งออกของจีนเดือนก.พ.ปีนี้มีมูลค่า 166,181 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นส่งออก 87,368 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 78,813 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เดือนดังกล่าวจีนได้เปรียบดุลการค้า 8,555 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเปรียบดุลการค้า 19,490 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือนม.ค.
แต่ฝานกังอธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกินดุลการค้าของจีนลดลงเป็นเพราะนโยบายควบคุมเศรษฐกิจมหภาคที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ ส่วนผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์อยู่ในวงจำกัดเท่านั้น ส่วนเงินทุนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศจีนในปี 2008 -2009 นอกจากไม่ลดลงแล้วยังจะเพิ่มขึ้นด้วย
ฝานกังอธิบายถึงสาเหตุที่วิกฤตซับไพรม์ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ประเทศจีนว่า หนึ่งในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐลดค่าอย่างฮวบฮาบ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทำให้การเก็งกำไรกับเงินเหรินหมินปี้หรือเงินหยวนของจีนยิ่งเพิ่มขึ้น
และสอง แม้ว่าวิกฤตซับไพรม์จะทำให้ภาคสินเชื่อของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปซบเซาลง แต่ยังมีเงินทุนจำนวนมหาศาลอยู่ทั่วโลกที่มองหาโอกาสการลงทุน ฝานกังกล่าวว่า ขณะที่ตลาดการเงินของประเทศพัฒนาแล้วกำลังไหวกระเพื่อม ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว อาจกลายเป็นเป้าหมายของเงินทุนระหว่างประเทศเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ฝานกังเน้นว่า “ขณะที่วิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ ต้องมองว่าจำนวนเงินทุนที่มากขึ้นย่อมหมายถึงความคล่องตัวในระบบการเงินที่มากขึ้น และหมายถึงมันง่ายที่จะเกิดความเสี่ยงจากอัตราการขยายตัวของการลงทุนที่เร็วเกินไป”
ฝานกังอธิบายอีกว่า ภาวะเงินเฟ้อที่จีนเผชิญอยู่ในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ได้แก่ราคาน้ำมันและอาหารทั่วโลกที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนที่สูงขึ้นผลักดันให้ราคาสินค้าภายในประเทศสูงตาม ซึ่งไม่ใช่ความต้องการภายในประเทศเป็นตัวกำหนด ดังนั้นฝานกังจึงเตือนว่า เมื่อดำเนินนโยบายการเงินจำต้องระวังว่า ความต้องการเงินตราที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อลักษณะนี้ จะตอบสนองต่อความต้องการการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
ขณะเดียวกันฝานกังไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าเงินหยวนพรวดพราดในครั้งเดียว เขากล่าวว่า เพื่อป้องกันเงินทุนจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาเก็งกำไร จีนจำเป็นต้องมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ค่อนข้างเสถียรภาพ
ด้านสติกลิตซ์แนะนำว่า จีนควรอาศัยความต้องการภายในประเทศมากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแทนพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะควรเปลี่ยนรูปแบบการส่งออกที่การผลิตต้องสิ้นเปลืองทรัพยากร.