xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้ว! ชาวจีนคนแรก รับตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ไอเอ็มเอฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จู หมิน ชาวจีนคนแรกที่ได้รับตำแหน่งระดับสูงในไอเอ็มเอฟ หลังจากที่กลุ่มประเทศยุโรปเป็นผู้คุมมาตลอด สหรัฐฯ เองก็ได้เป็นใหญ่ในธนาคารโลก และญี่ปุ่นมีเสียงดังในธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) (ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี-จู หมิน รองผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 3 พ.ค.นี้ คาดเพิ่มสิทธิเสียงให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

โดมินิก สเตราส์ คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 ก.พ. แต่งตั้งให้นายจูหมิน รองผู้ว่าธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นธนาคารกลางของจีน เป็นที่ปรึกษาพิเศษของไอเอ็มเอฟ นับเป็นชาวจีนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งใหญ่ในกองทุนฯ นี้

ในการนี้ จะทำให้จีนรวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ได้มีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้องการปฏิรูปการบริหารที่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก และจัดสรรสัดส่วนของสิทธิในการออกเสียงของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริง

หวาง เป่าตง โฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำสหรัฐฯ กล่าวกับเอเอฟพีว่า ทางการจีนแสดงความยินดีกับความก้าวหน้านี้ โดยหวังว่าจะได้กระชับและประสานการทำงานร่วมกันระหว่างไอเอ็มเอฟ และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในเอเชีย เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ

โดมินิก กล่าวว่า จู จะมีบทบาทสำคัญในการนำประสบการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ที่มีมาทำงานกับเขา และทีมบริหารในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกกองทุนฯ ในกาลข้างหน้า และผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและความมั่นคงทางการเงิน

จู หมินได้ทำงานให้กับ ธนาคารประชาชนจีน เมื่อปีที่แล้ว หลังจากเป็นผู้บริหารอาวุโสของ ธนาคารแห่งประเทศจีน (บีโอซี) นานกว่าสิบปี และคาดว่าจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 3 พ.ค.นี้

เป็นที่คาดมานานแล้วว่า จู ซึ่งได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และเป็นเศรษฐกรประจำธนาคารโลกระหว่างปี 2534-2539 ว่าเขาคงจะได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานรับผิดชอบในระดับสูงของกองทุนไอเอ็มเอฟ บ้างคาดว่าเขาอาจจจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

การแต่งตั้งที่มีขึ้นเมื่อวันพุธ เป็นการตัดสินใจของบรรดาผู้นำของกลุ่ม จี 20 ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพื่อสร้างความสมดุลกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ในการมีสิทธิมีเสียงต่างๆ ซึ่งมีการเรียกร้องมานาน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มประเทศยุโรปจะเป็นผู้คุมกองทุนนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ก็เป็นใหญ่ในธนาคารโลก และญี่ปุ่นจะมีเสียงดังในธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)

จนเมื่อปี 2551 หลิน อี้ฟู (จัสติน หลิน) ชาวจีน ก็ได้เป็นคนแรกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้เป็นหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก

สหรัฐฯ ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งก็หมายถึงกลุ่มประเทศยุโรป ที่มีเสียงมากเกินไป โอนสัดส่วน 5% ไปยังกลุ่มประเทศทีมีสิทธิเสียงต่ำเกินไป ซึ่งเป็นประโยชน์กับจีน

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีในนาม BRIC ว่า บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน พยายามเรียกร้องโควต้าของการออกเสียงในไอเอ็มเอฟ โดยลดสัดส่วนของประเทศพัฒนาแล้วจาก 57% เหลือ 50%

ตามข้อมูลปัจจุบันของไอเอ็มเอฟ จีนมีสัดส่วนการออกเสียงอยู่ที่ 3.72% มีน้ำหนักน้อยกว่าฝรั่งเศสที่มีสัดส่วน 4.94% ทั้งที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าถึง หนึ่งเท่าครึ่ง

คาดว่าหลังการทบทวนโควต้าซึ่งจะเสร็จสิ้นในปี 2554 จีนจะเป็น 1 ใน 5 ของผู้ถือสิทธิออกเสียงสูงสุดในไอเอ็มเอฟ

กำลังโหลดความคิดเห็น