xs
xsm
sm
md
lg

จีนรับโดนพิษวิกฤตโลกอย่างหนัก แบงค์ชาติเลิกจำกัดสินเชื่อธนาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงงานในตงก่วนใจกลางของเขต “โรงงานโลก” ในกวางตุ้ง เจ็งปิดกิจการหลังโดนพิษ “สึนามิ” เงินโลก ขณะนี้ สมาคมผู้ประกอบการทุนต่างชาติแห่งเมืองตงก่วน คาดว่าก่อนถึงปีใหม่ จะมีบริษัทโรงงานในตงก่วน และเซินเจิ้น ปิดกิจการถึง 9,000-45,000 ราย
ผู้จัดการออนไลน์--ณ ชั่วโมงนี้ ใครๆก็คงต้องร้องเพลง “ไอ้หวังตายแน่...” หากไม่ฟิตรับมือ “สึนามิ” การเงินโลก แม้เศรษฐกิจที่เคยบูมระเบิดของแดนมังกร ยังรับวิกฤตโลกเริ่มจู่โจมจีน และจะสาหัสในปีหน้า แบงค์ชาติจีนถึงกับระดมอีกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพ และอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยยกเลิกข้อจำกัดการปล่อยกู้ของบรรดาธนาคาร

สำนักข่าวซินหัวอ้างโฆษกธนาคารประชาชนจีนหรือแบงก์ชาติจีน นายหลี่ เชาซึ่งกล่าวในวันศุกร์ (31 ต.ค.) ว่าจีนจะต้องปรับตัวยืดหยุ่นนโยบายเศรษฐกิจรวมถึงนโยบายการเงินการธนาคาร เพื่อลดทอนผลกระทบจากวิกฤตโลกที่กำลังรุกคืบสู่เศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจีนยังต้องพึ่งพิงความต้องการจากตลาดต่างแดนอยู่มาก

“เพื่อโต้ตอบวิกฤตโลกอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ และรักษาเสถียรภาพและการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไป ธนาคารจีนจึงยกเลิกข้อจำกัดการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร” หลี่กล่าว ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณที่แรงที่สุดของเจ้าหน้าที่จีน

ก่อนหน้าในสัปดาห์ที่ผ่านมา อู๋ เสี่ยวหลิง อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน ก็กล่าวว่า ธนาคารกลางจะหยุดตรวจสอบสินเชื่อกิจการขนาดเล็กที่เป็นโควตาสินเชื่อที่ทางการจีนกำหนดไว้สำหรับปีนี้ และจะยกเลิกข้อจำกัดโควตาสำหรับสินเชื่อทุกประเภทในปี 2009 ทั้งนี้ ก่อนหน้าธนาคารกลางจีนได้คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อในครึ่งปีแรกนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อและการลงทุนที่ขยายตัว

เศรษฐกิจแดนมังกรเคยคึกคักสุดในปี 2007 ที่ร้อยละ 11.9 แต่ขณะนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี สามไตรมาสของปีนี้ ตกลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.9 นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี ที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมาอยู่ที่เลขตัวเดียว

และในวันพุธ(29 ต.ค.) จีนได้โต้ตอบสถานการณ์โดยประกาศลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยหนที่สามในรอบ 6 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม หลี่กล่าวว่าสำหรับการผ่อนปรนนโยบายการเงินครั้งล่าสุดนี้ อัตราเงินสดสำรองของธนาคารที่ต้องเจียดให้ธนาคารกลาง ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากตอนนี้ยังมีสภาพคล่องอยู่สูงในระบบธนาคาร สำหรับธนาคารกลางติดตามความวุ่นวายทางการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะระดมนโยบายผสมผสานควบคู่ไปกับนโยบายมหภาค เพื่อกระตุ้นความต้องการภายใน พร้อมยืนยันว่า จีนมี “ความสามารถพร้อมมูล” ในการต่อกรวิกฤตโลกครั้งนี้

ชี้ธนาคารจีนอ่วม รายได้ดิ่งเหว
อีกด้าน รองประธานบริหารแห่งธนาคารแห่งประเทศจีนหรือ แบงค์ ออฟ ไชน่า (บีโอซี) นาย จู หมิน ได้ยอมรับระหว่างการประชุมว่าด้วยการเงินในเซี่ยงไฮ้เมื่อวันเสาร์ (1 พ.ย.) ว่าความวุ่นวายเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมหาศาล และยังเป็นที่วิตกกันว่าความเปราะบางของสกุลเงิน ก็จะยิ่งกดดันบรรดาธนาคารในประเทศด้วย

นายจู ยังได้ชี้อีกว่าในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ขั้นภาวะถดถอย และกลุ่มเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่งของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จะยิ่งอ่อนเปลี้ย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อจีนอย่างแรง

วิกฤตเงินโลกเพิ่งจะเริ่มส่งผลกระทบถึงจีน และตอนนี้ สัญญาณร้ายก็ได้อุบัติขึ้นแล้ว นั่นคือ อัตราขยายตัวในผลกำไรภาคอุตสาหกรรม และรายได้รัฐบาลได้หดฮวบลง วิกฤตการเงินจะโหมโรงขึ้นมาก่อน และจะตามมาด้วยความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและการเมืองใน 8-12 เดือน” นาย จูกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารเริงร่ากับผลกำไรก้อนมหึมา แต่ตอนนี้ อัตราขยายตัวของรายได้ตกลงไปถนัด

แม้ว่ากลุ่มธนาคารจีนถือหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการจำนองซับไพร์ม ที่ควบคุมได้ แต่พวกเขาก็จะเผชิญกับความเสี่ยงการค้าเงินสกุลต่างประเทศอย่างแรงเนื่องจากความวุ่นวายในตลาดเงินแห่งต่างๆ

สำหรับบีโอซี จัดเป็นยักษ์ใหญ่ปล่อยกู้เงินสกุลต่างประเทศของจีน ได้แถลงผลกำไรสามไตรมาสแรกไปเมื่อวันพุธ( 29 ต.ค.) ชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 12 จากที่เคยโชติช่วงที่ระดับร้อยละ 43 ระหว่างครึ่งปีแรก ทั้งนี้ บีโอซีมีหนี้มูลค่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบริษัทจำนองสัญชาติมะกันคือ Freddie Mac and Fannie Mae ณ ปลายเดือนกันยายน และยังถือหนี้ของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับซับไพร์ม อีก 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกไปจากนี้ ปัจจัยอีกหลายตัว ก็จะยิ่งจู่โจมตัวเลขเบื้องล่างสุดของบัญชีกำไร-ขาดทุน (bottom line) ภาคธนาคาร อาทิ ความเสื่อมลงของคุณภาพสินทรัพย์ธนาคาร ส่วนต่างผลกำไรที่หดลงเนื่องจากแนวโน้มการตัดลดดอกเบี้ยโลก

ขณะเดียวกัน ภาคต่างๆในเศรษฐกิจจีน ทะยอยเฉาลงด้วยพิษวิกฤต ล่าสุดการสำรวจรายเดือนของทางการจีน เผยเมื่อวันเสาร์ (1 พ.ย.) ภาคการผลิตตกลงอย่างถนัด นับเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่ยืนยันผลกระทบวิกฤตโลกกำลังจู่โจมเศรษฐกิจที่เคยบูมระเบิดของจีน.
กำลังโหลดความคิดเห็น