xs
xsm
sm
md
lg

มหานครเซี่ยงไฮ้สั่นสะเทือน ปักกิ่งทาบรัศมีศูนย์กลางการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนสายการเงินในปักกิ่ง
 
เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล - นครเซี่ยงไฮ้เป็นที่ตั้งตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดของจีน มีตลาดพันธบัตรและตลาดเงิน ตลอดจนสำนักงานใหญ่ในจีนของธนาคารต่างชาติหลายราย มาวันนี้ นครชายฝั่งทะเล ซึ่งมองกันมานานว่าจีนหมายมั่นปั้นมือให้เป็นมหานครนิวยอร์กแห่งแดนมังกร กำลังถูกกรุงปักกิ่งท้าทายช่วงชิงตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินไปครองอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้

เมื่อหลายปีก่อน หลังจากมีการพัฒนาย่านตะวันตกของกรุงปักกิ่งจนเป็นที่รู้จักกันว่าไฟแนนเชียลสตรีท เมืองหลวงทางการเมืองแห่งนี้ก็ดึงดูดใจธนาคารและนายแบงก์จากนิวยอร์ก, แฟรงก์เฟิร์ต และปารีสให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ที่นี่ โดยมีเหตุผลสำคัญก็คือได้อยู่ใกล้กับผู้วางนโยบายของจีนมากขึ้น เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินทั้งหมดของจีนล้วนอยู่ในกรุงปักกิ่ง รวมทั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารในประเทศที่ใหญ่ที่สุดของจีน 4 แห่ง นอกจากนั้น คู่แข่งจากต่างประเทศหลายรายก็ทยอยกันเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ

“ในปักกิ่งคุณจะมองเห็นภาพรวมทั้งหมดได้ ขณะที่ในเซี่ยงไฮ้นั้น มีความจำกัดเฉพาะท้องถิ่นอยู่มาก” นายแบงก์อาวุโสสถาบันลงทุนของสหรัฐฯ รายหนึ่งบอก

ทว่าเซี่ยงไฮ้ยังคงเฟื่องฟู โดยธนาคารต่างชาติ 9 รายกลุ่มแรกได้อนุมัติจัดตั้งธนาคารสาขาขึ้นที่นี่ ในจำนวนนี้มีซิติกรุ๊ป และสแตนดาร์ดชาร์เติร์ดรวมอยู่ด้วย ธนาคารเหล่านี้พอใจฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง และชื่อเสียงของธนาคาร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเมือง

ทั้งปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ยังต้องเผชิญคู่แข่งที่น่ากลัวคือฮ่องกง อดีตอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งมีการส่งมอบคืนแก่จีนในปี 2540

ที่ฮ่องกงนั้น พวกนายธนาคารต่างพึงใจกับมาตรการจัดเก็บภาษีในระดับต่ำ, ความโปร่งใสของระบบกฎหมาย และยังเป็นแหล่งของมืออาชีพทางการเงิน ที่พูดภาษาจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินระดับบิ๊กหลายราย เช่น เจ.พี.มอร์แกน เชส แอนด์โค.และด๊อยต์ชแบงก์ เอ.จี. ซึ่งต่างก็เข้ามาทำธุรกิจธนาคารเพื่อการลงทุนมากกว่าการทำธนาคารพาณิชย์ในจีน ได้เลือกตั้งสำนักงานหลักในปักกิ่ง ตึกระฟ้าอายุไม่กี่ปีบนไฟแนนเชียลสตรีทคลาคล่ำไปด้วยทีมงานจากธนาคารต่างประเทศ แม้ไฟแนนเชียลสตรีทอยู่ไกลจากฟากตะวันออกของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจต่างชาติส่วนใหญ่มาช้านานแล้ว ทั้งการจราจรยังติดขัด แต่ย่านไฟแนนเชียลสตรีทก็มีโรงแรมหรูหราตั้งอยู่หลายแห่ง

“การอยู่ใกล้กับตลาด, ลูกค้า และผู้กำกับดูแลกฎเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ” แจ็กสัน เฉิง หัวหน้าฝ่ายบริหารในจีนของโซซิเอเต้ เจเนราล เอส.เอ. (ซ็อคเจน) ซึ่งเป็นธนาคารฝรั่งเศส ได้ให้ความเห็น

ซ็อคเจนตัดสินใจเปิดสาขาธนาคารในกรุงปักกิ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงไตรมาส4 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม จะยังคงดำเนินธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ต่อไป

กล่าวได้ว่าบุคคลที่ผลักดันให้กรุงปักกิ่งกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินก็คือนายหวัง ฉีซัน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งในปี2547 คนผู้นี้ มีประสบการณ์ในภาคการเงินมายาวนาน ชื่อเสียงของเขาเลื่องลือว่าเป็นมือฉมังในการแก้ไขปัญหา เมื่อต้นปีนี้ หวังได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านปัญหาเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

เมืองหลวงแดนมังกรยังเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจของรัฐบาลกลางกว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมทั้งบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ และบริษัทน้ำมัน โดยคาดกันว่าวิสาหกิจรัฐหลายรายเตรียมระดมทุนโดยเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และควบรวมกิจการในปีนี้

นายฮั่ว เสียว์ เวิ่น หัวหน้าสำนักงานการเงินของคณะผู้บริหารกรุงปักกิ่งชี้ว่า การคาดการณ์ดังกล่าวทำให้กรุงปักกิ่งกลายเป็นตลาดที่นายแบงก์มองเห็นกำไรงาม

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม คณะผู้บริหารกรุงปักกิ่งได้ออกคู่มือแนวทางในการพัฒนาภาคการเงิน โดยระบุว่าแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2548 นั้น “มีความระมัดระวังเกินไป”

กรุงปักกิ่งจะขยายไฟแนนเชียลสตรีท เพื่อรองรับธุรกิจเกิดใหม่ในย่านนี้ เช่นธุรกิจการจัดหาเงินทุนโดยการเช่าระยะยาว, ธุรกิจนายหน้าซื้อขายในตลาดล่วงหน้า และบริษัททรัสต์เพื่อการลงทุน นอกจากนั้น ยังจะพัฒนาในส่วนของการจัดตั้งบริการงานภายในสำนักงานสำหรับธนาคารต่างชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นายธนาคารต่างชาติระบุว่า กรุงปักกิ่งยังขาดนโยบายบางประการในการจูงใจบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่นมาตรการให้สิทธิ์พิเศษด้านภาษี ขณะที่เซี่ยงไฮ้เองก็ใช่ว่าจะหยุดนิ่งเสียเลย โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ในการประชุมที่ย่านการเงินของเซี่ยงไฮ้คราวหนึ่ง เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า การพัฒนานครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศยังคงเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

ถึงกระนั้น นายหลี่ เจ้า โฆษกธนาคารประชาชนจีนก็ติงว่า ธนาคารกลางสนับสนุนให้เมืองต่างๆ ส่งเสริมฐานะทางการเงินของตนเอง แต่การสร้างศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศที่ว่านั้น พูดย่อมง่ายกว่าทำ เพราะธนาคารกลางเองก็มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง และมีสำนักงานรองอยู่ในเซี่ยงไฮ้ โดยกล่าวว่า สำนักงานใหญ่อยู่ใกล้กับตลาดจะทำให้สามารถป้องกันเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น