คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ฑลิต โชคทิพย์พัฒนา
ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา
ระยะหลังๆท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจโลกคงเริ่มสังเกตได้ว่านักเศรษฐศาสตร์เริ่มเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาจากการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ มาเป็นเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเสียมากกว่า พูดอีกนัยก็คือนักวิเคราะห์เริ่มเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือไม่ก็กำลังอยู่ในภาวะดังกล่าวแล้ว คำถามต่อมาที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายก็คือเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังคงมีความร้อนแรงอย่างในภูมิภาคเอเซีย คำศัพท์ที่หลายๆท่านอาจจะได้ยิน strategist หรือ นักวิเคราะห์ใช้กันมากๆช่วงนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นคำอย่าง decoupling theme หรือแนวคิดที่ว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีการแยกตัวจากกันอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นประเทศในภูมิภาคเอเซียจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยตัวเองถึงแม้เศรษฐกิจหลักๆอย่างสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม ซึ่งผมจะขอใช้พื้นที่ในบทความนี้ และอาจจะต่อไปอีกสักอาทิตย์เขียนถึง decoupling theme จากมุมมองของนักลงทุนในตลาดทุนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิชาการโดยวิชาชีพ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ และช่วยให้จัดการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการครับ
ก่อนที่จะพูดถึง decoupling theme ผมขอกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่ผู้คนพูดถึงกันอย่างแพร่หลายก่อน นักเศรษฐศาสตร์มักนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยการปรับตัวลงของ GDP อย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกัน ถึงแม้เราจะยังไม่เห็นชุดตัวเลขดังกล่าว แต่ leading indicators ต่างๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ดูตามตำรา Econ 101 ก็ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นถึงภาวะถดถอยที่กำลังเคลื่อนตัวใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น jobless claim, housing index, non-farm payroll หรือ ISM Index และที่สำคัญและเห็นได้ชัดที่สุดก็คืออาการ “กลัว” ของนักลงทุนในตลาดทุนที่เทขายหลักทรัพย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราได้เห็นอาการดังกล่าวล่าสุดก็ในช่วงปี 1990 และ ปี 2001 แต่ถ้าถามส่วนตัว ผมมองว่าถึงแม้ภาวะถดถอยจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับประเทศที่สามารถผลิตนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลได้มากที่สุดในโลก ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งอีกไม่นาน การเข้าสู่ภาวะถดถอยคงไม่เป็นไปแบบหมดท่าหรือเป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กัน ข้อสังเกตที่ดีอันหนึ่งของรอบนี้ก็คือราคา commodity ที่ไม่ได้ปรับตัวลดลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเลย
ทีนี้หากจะพูดถึงเรื่องการ Decouple เราควรมองเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่การแยกตัวทางเศรษฐกิจ (economic decoupling) และการแยกตัวทางตลาดการเงิน (financial decoupling) หากจะพูดถึงการแยกตัวของเศรษฐกิจนั้น หลายฝ่ายอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนโดยประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) เป็นส่วนใหญ่ โดยจากปี 2003 ถึงปี 2007 GDP ของประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตถึงร้อยละ 35 ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเติบโตเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
นอกไปจากนั้น การเติบโตของ GDP ของโลกเราในช่วงเวลาดังกล่าว กว่าครึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตัวเลขอีกชุดที่ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจเอเซียสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ก็คือมูลค่าการส่งออกของจีนไปยังประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเซียที่มีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม G7 เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลหลักๆที่ได้กล่าวมา หลายฝ่ายจึงเริ่มพูดถึงการแยกตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ต้องอย่าลืมนะครับว่าการค้าระหว่างประเทศเอเซียด้วยกันส่วนใหญ่เป็นการค้าวัตถุดิบเสียส่วนใหญ่ แต่การค้ากับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐฯจะเป็นในรูปของ finished goods ซึ่งถึงแม้มูลค่ารวมอาจจะดูน้อยกว่า แต่ก็มีข้อแตกต่างกันมากอย่าง ยกตัวอย่างเช่นอัตรากำไร นอกไปจากนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และอินเดียที่มองกันว่าร้อนแรงมาก มีแต่กระโดดสูงขึ้นทุกวัน สวนทางกับสหรัฐฯที่จะมีแต่สูญเสียความสำคัญ จริงๆแล้วถ้าดูแยกผลผลิตมวลรวมของโลกตามประเทศแล้ว จีนรวมกับอินเดียก็ยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 21 เท่านั้น มากกว่าสหรัฐฯประเทศเดียวที่ระดับร้อยละ 20 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกไปจากนั้น ที่เราได้สัมผัสถึงผลกระทบของซับไพรม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนวนของพิษเศรษฐกิจรอบนี้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน ซึ่งเป็นผลของการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก ผลกระทบทางตรงกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อาจจะถดถอย ยังคงเป็นเรื่องนามธรรมอยู่
ที่ผมได้กล่าวมาเป็นการเกริ่นในส่วนของ economic decoupling ซึ่งอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่มองกัน ในบทความหน้าจะเป็นการกล่าวถึง financial decoupling ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และก็คงจะจบด้วยแนวทางการบริหารพอร์ตการลงทุนในตราสารทุนที่ใช้อยู่ รวมไปถึงทางเลือกการลงทุนที่บลจ.อยุธยามีให้นักลงทุนได้เลือกกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสมกับตนเองในสภาวะปัจจุบัน
โดย ฑลิต โชคทิพย์พัฒนา
ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา
ระยะหลังๆท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจโลกคงเริ่มสังเกตได้ว่านักเศรษฐศาสตร์เริ่มเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาจากการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ มาเป็นเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเสียมากกว่า พูดอีกนัยก็คือนักวิเคราะห์เริ่มเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือไม่ก็กำลังอยู่ในภาวะดังกล่าวแล้ว คำถามต่อมาที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายก็คือเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังคงมีความร้อนแรงอย่างในภูมิภาคเอเซีย คำศัพท์ที่หลายๆท่านอาจจะได้ยิน strategist หรือ นักวิเคราะห์ใช้กันมากๆช่วงนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นคำอย่าง decoupling theme หรือแนวคิดที่ว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีการแยกตัวจากกันอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นประเทศในภูมิภาคเอเซียจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยตัวเองถึงแม้เศรษฐกิจหลักๆอย่างสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม ซึ่งผมจะขอใช้พื้นที่ในบทความนี้ และอาจจะต่อไปอีกสักอาทิตย์เขียนถึง decoupling theme จากมุมมองของนักลงทุนในตลาดทุนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิชาการโดยวิชาชีพ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ และช่วยให้จัดการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการครับ
ก่อนที่จะพูดถึง decoupling theme ผมขอกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่ผู้คนพูดถึงกันอย่างแพร่หลายก่อน นักเศรษฐศาสตร์มักนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยการปรับตัวลงของ GDP อย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกัน ถึงแม้เราจะยังไม่เห็นชุดตัวเลขดังกล่าว แต่ leading indicators ต่างๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ดูตามตำรา Econ 101 ก็ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นถึงภาวะถดถอยที่กำลังเคลื่อนตัวใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น jobless claim, housing index, non-farm payroll หรือ ISM Index และที่สำคัญและเห็นได้ชัดที่สุดก็คืออาการ “กลัว” ของนักลงทุนในตลาดทุนที่เทขายหลักทรัพย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราได้เห็นอาการดังกล่าวล่าสุดก็ในช่วงปี 1990 และ ปี 2001 แต่ถ้าถามส่วนตัว ผมมองว่าถึงแม้ภาวะถดถอยจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับประเทศที่สามารถผลิตนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลได้มากที่สุดในโลก ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งอีกไม่นาน การเข้าสู่ภาวะถดถอยคงไม่เป็นไปแบบหมดท่าหรือเป็นไปอย่างรวดเร็วเท่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กัน ข้อสังเกตที่ดีอันหนึ่งของรอบนี้ก็คือราคา commodity ที่ไม่ได้ปรับตัวลดลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเลย
ทีนี้หากจะพูดถึงเรื่องการ Decouple เราควรมองเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่การแยกตัวทางเศรษฐกิจ (economic decoupling) และการแยกตัวทางตลาดการเงิน (financial decoupling) หากจะพูดถึงการแยกตัวของเศรษฐกิจนั้น หลายฝ่ายอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนโดยประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) เป็นส่วนใหญ่ โดยจากปี 2003 ถึงปี 2007 GDP ของประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตถึงร้อยละ 35 ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเติบโตเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
นอกไปจากนั้น การเติบโตของ GDP ของโลกเราในช่วงเวลาดังกล่าว กว่าครึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตัวเลขอีกชุดที่ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจเอเซียสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ก็คือมูลค่าการส่งออกของจีนไปยังประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเซียที่มีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม G7 เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลหลักๆที่ได้กล่าวมา หลายฝ่ายจึงเริ่มพูดถึงการแยกตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ต้องอย่าลืมนะครับว่าการค้าระหว่างประเทศเอเซียด้วยกันส่วนใหญ่เป็นการค้าวัตถุดิบเสียส่วนใหญ่ แต่การค้ากับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐฯจะเป็นในรูปของ finished goods ซึ่งถึงแม้มูลค่ารวมอาจจะดูน้อยกว่า แต่ก็มีข้อแตกต่างกันมากอย่าง ยกตัวอย่างเช่นอัตรากำไร นอกไปจากนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และอินเดียที่มองกันว่าร้อนแรงมาก มีแต่กระโดดสูงขึ้นทุกวัน สวนทางกับสหรัฐฯที่จะมีแต่สูญเสียความสำคัญ จริงๆแล้วถ้าดูแยกผลผลิตมวลรวมของโลกตามประเทศแล้ว จีนรวมกับอินเดียก็ยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 21 เท่านั้น มากกว่าสหรัฐฯประเทศเดียวที่ระดับร้อยละ 20 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกไปจากนั้น ที่เราได้สัมผัสถึงผลกระทบของซับไพรม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนวนของพิษเศรษฐกิจรอบนี้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน ซึ่งเป็นผลของการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก ผลกระทบทางตรงกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อาจจะถดถอย ยังคงเป็นเรื่องนามธรรมอยู่
ที่ผมได้กล่าวมาเป็นการเกริ่นในส่วนของ economic decoupling ซึ่งอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่มองกัน ในบทความหน้าจะเป็นการกล่าวถึง financial decoupling ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และก็คงจะจบด้วยแนวทางการบริหารพอร์ตการลงทุนในตราสารทุนที่ใช้อยู่ รวมไปถึงทางเลือกการลงทุนที่บลจ.อยุธยามีให้นักลงทุนได้เลือกกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสมกับตนเองในสภาวะปัจจุบัน