xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:วิกฤตการณ์ Subprime ของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆนี้ผมได้ไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง “เรื่องวิกฤตการณ์ Subprime ของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อประเทศไทย” ที่กระทรวงพาณิชย์ จึงขออนุญาตนำประเด็นสำคัญๆ มาเล่าให้ฟังโดยสรุปดังนี้

หนึ่ง วิกฤตการณ์ Subprime

Subprime lending หมายถึง สินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้คุณภาพต่ำที่ไม่สามารถกู้ยืมผ่านตลาดสินเชื่อปกติได้เพราะมีประวัติการกู้ยืมไม่ดีพอ เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเพราะมีโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนสูง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมจะสูงกว่าปกติ Subprime lending ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ลูกค้า Subprime คิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของประชากรสหรัฐฯ

สอง สาเหตุของการเกิดวิกฤตการณ์ Subprime

ในภาพรวม ผู้ที่เกี่ยวข้องและก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ Subprime แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ผู้กู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินต่างๆ ตลาดเงิน รัฐบาลและธนาคารกลาง สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ Subprime ได้แก่ ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแตกต่างไปจากเดิม โดยธนาคารสามารถขายตราสารหนี้เพื่อนำเงินมาปล่อยสินเชื่อได้ จึงมีการนำตราสารหนี้ Subprime ไปขายแก่สถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ และนำเงินมาปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ที่มีประวัติการกู้ไม่ดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ การให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบางประเภทกำหนดให้ชำระเงินคงที่ 2 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น (Balloon mortgages) ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินหลังจากปีที่สองได้ ทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นเป็นจำนวนมาก Subprime lending ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ในปี 2005 1ใน 5 ของที่อยู่อาศัยเป็นลูกค้า Subprime และ ในปี 2550 Subprime mortgage มีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัญหาการไม่สามารถชำระเงินได้ของลูกหนี้ Subprime ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ Subprime และมีผลต่อราคาที่อยู่อาศัย ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ต่ำลง เกิดการถดถอยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินเกิดการขาดทุน จากการที่ราคาตราสารที่มี Subprime เป็น underlying asset ลดลง ทำให้สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เนื่องจากกังวลต่อความเสี่ยงของหนี้เสียที่เกิดจาก Subprime ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯโดยรวม และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเหลือเพียงประมาณร้อยละ 1-1.5 ต่อปี

สาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักประมาณร้อยละ 70 ของGDP โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯได้มีแนวโน้มลดลงจาก 16% ในปี 2547 เหลือ 12.6% ในปี 2550 โดยตลาดส่งออกของไทยได้กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น อาเซียน ยุโรป หรือตะวันออกกลาง นอกจากนั้น ประเทศในเอเซียได้มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยได้ค่อยๆ แยกตัวออกจากการพึ่งพาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (decouple) มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยมีระบบภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยมีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายตัวมากขึ้นของภาคการเงินอื่นนอกเหนือจากสถาบันการเงินเช่น ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ระบบการกำกับดูแลภาคการเงินที่มีมาตรฐานสากลมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงคาดว่าจะไม่มากนัก แต่ก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมตัวและปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สี่ ผลกระทบต่อระบบการเงินของไทย

สถาบันการเงินของไทยที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน (Collateralized Debt Obligation : CDO) ซึ่งมี Subprime lending เป็น underlying asset มีน้อย ดังนั้น ผลกระทบต่อระบบการเงินโดยตรงของไทยจะมีน้อยมาก แต่อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากตลาดเงินโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น และผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลงมาก ซึ่งอาจจะทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ห้า แนวทางการรับมือ

สำหรับในประเทศ
ไทยควรกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น เช่น การกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออก

สำหรับการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศนั้น เพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศผันผวนหรืออิงกับสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากเกินไป (ปัจจุบัน เอเชียส่งออกไปสหรัฐฯ ร้อยละ 60 ของ GDP) ประเทศในเอเชียต้องร่วมมือกันส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น และร่วมมือกันรับความผันผวนจากตลาดเงินเพื่อให้เกิดการ decouple จากระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สรุปแล้วเราคงต้องติดตามการรับมือและการแก้ไขปัญหาของสหรัฐฯ ที่มีการออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ว่า จะสามารถเยียวยาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ได้มากน้อยเพียงใด และปัญหาการขยายตัวของหนี้เสียของลูกหนี้ Subprime ไปสู่ลูกหนี้ชั้นดีและสินเชื่อประเภทอื่นๆ จะควบคุมได้หรือไม่ และคาดว่า ปัญหา Subprime จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไปอีกประมาณ1-2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น