xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.รับวันนี้แทรกแซงบาท อุดส่วนต่างค่าเงินตลาดออฟชอร์-ออนชอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ยอมรับว่าวันนี้ เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้เกิดส่วนต่าง 2 ตลาด ออฟชอร์-ออนชอร์ เกิดช่องว่างเก็งกำไร ส่งผลส่วนต่างลดลงอยู่ที่ประมาณ 0.15 บาท/ดอลลาร์ ส่วนยอดคงค้างจาก 30% ต้องส่งคืนนักลงทุนเหลืออีก 300 ล้านดอลลาร์ เตือนแบงก์พาณิชย์ 17 แห่ง พร้อมรับมือมหันตภัยการเงินโลก

วันนี้(3 มี.ค.) นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า วันนี้ทางธปท.ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท หลังยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เป็นวันแรก เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน

ส่วนเงินทุนไหลเข้าและไหลออกในวันนี้มีความสมดุลกัน มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่มาก จากผลกระทบที่ตลาดในเอเชียต่างก็ปรับตัวลดลง โดยบัญชี non-resident เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่ถึง 100 ล้านดอลลาร์

ขณะนี้ค่าเงินบาทในตลาดในประเทศ (onshore) และตลาดต่างประเทศ (off shore) เคลื่อนไหวเข้าใกล้กันมากแล้ว เนื่องจากการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ทำให้การปิดกั้นตลาดทั้งสองถูกยกเลิกไปด้วย โดยค่าเงินบาทในตลาด onshore อยู่ที่ 31.55/62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ ค่า off shore อยู่ที่ 31.40/90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ก็ดูแล ตอนนี้เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยน ปล่อยลอยก็ไม่ได้ เราเข้าไปทำให้มัน smooth ระหว่างวัน" ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงินธปท.กล่าว

สำหรับเงินในบัญชี URR หรือบัญชีเงินที่ดำรงสำรอง 30% ขณะนี้มียอดคงค้างอยู่ประมาณ 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง ธปท.ได้มอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ส่งคืนภายใน 10 วัน ส่วนผู้ที่เลือกทำ fully hedge อายุ 1 ปีก็ให้ปิดสัญญาได้เลย ส่วนที่ทำอายุ 3 เดือน สามารถยกเลิกได้เมื่อหมดอายุสัญญา

นางสุชาดา กล่าวอีกว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ จะทำให้ธปท.และกระทรวงการคลังมีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องและดูแลตลาดเงินเพิ่มขึ้น โดยกฎหมายธปท.ฉบับใหม่เปิดช่องให้ธปท.เปิดรับฝากเงินจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งจะช่องทางดูแลสภาพคล่องโดยไม่ต้องออกพันธบัตร จึงจะไม่กระทบกับผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร แต่ธปท.ก็สามารถออกพันธบัตรได้หากต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีก

**เตือนแบงก์พาณิชย์ 17 แห่ง พร้อมรับมือ

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพ สถาบันการเงิน (ธปท. กล่าวหลังเรียกผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 17 แห่งเพื่อมาชี้แจงนโยบายการกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ว่า ธปท.เห็นว่าสถาบันการเงินต้องระมัดระวังผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ประเทศสหรัฐฯที่จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินโลกอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะสร้างความผันผวนมากขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตามมองว่าปีนี้หากเศรษฐกิจไทยดีขึ้นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะได้ประโยชน์แต่การแข่งขันก็จะมีมากขึ้น

ส่วนระยะยาว สถาบันการเงินจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกฏหมายการเงินใหม่ 3 ฉบับ ทั้งพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.แบงก์ชาติ และพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้

โดยปีนี้ ธปท.จะเน้นการตรวจสอบเชิงรุก และให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน การบริหารความเสี่ยงที่ดีในด้านเครดิตและสภาพคล่อง รวมถึงการปฏิบัติตามเกณฑ์ของทางการภายใต้กฏเกณฑ์ใหม่ๆและความเพียงพอของกองทุนต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

ปีนี้ การตรวจสอบสถาบันการเงินจะเน้นความเข้มแข็งของเงินกองทุนและจะมีเครื่องมือตรวจสอบใหม่ที่เป็นกิจลักษณะเพื่อประเมินความเข้มแข็งของสถาบันการเงินแต่ละแห่งและทั้งระบบเพื่อรองรับการใช้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซิล 2 นายบัณฑิต กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น