xs
xsm
sm
md
lg

กกร.จี้ออกมาตรการฉุกเฉิน แฉ! เริ่มมีเก็งกำไรพันธบัตร-กองทุนอสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกร.แนะแบงก์ชาติออกมาตรการเร่งด่วน ป้องกันเก็งกำไรค่าบาท หลังยกเลิกมาตรการ 30% ลั่นเข้าตรจสอบยิบทุกสัปดาห์ เพราะยังไม่เห็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แบงเกอร์แฉ เริ่มมีการเก็งกำไรในตลาดพันธบัตร และกองทุนอสังหาฯ

วันนี้ (3 มี.ค.) นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.จะประเมินผลอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น

ทั้งนี้ หากพบว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว กกร.จะนัดประชุมด่วนเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากเห็นว่ามาตรการรองรับที่ ธปท.นำออกมาใช้หลังจากยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะยาว แต่มาตรการระยะสั้นที่ใช้ป้องกันการเก็งกำไรนั้นยังไม่มีให้เห็น ดังนั้น จึงฝากให้รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อดูแลผลกระทบค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการส่งออกหายไป 5% ซึ่งหากเงินบาทยังแข็งค่าต่อไปอาจจะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตหรือถึงขั้นปิดกิจการ และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ประธาน กกร.มองว่า มาตรการกันสำรอง 30% ยังถือว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแล้ว แต่การจะนำกลับมาใช้ใหม่หรือไม่ในอนาคตย่อมขึ้นกับรัฐบาล หรืออาจเป็นการออกมาตรการเสริม เพราะ กกร.มีความเป็นห่วงผู้ส่งออกที่เป็น SME ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศที่ผลิต เพื่อการส่งออกจะไม่สามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ หากเงินบาทแข็งค่าเกินไป และอาจส่งผลให้บริษัทรายย่อยที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศต้องปิดกิจการลง

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรดูแลการแข็งค่าของเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่แข่ง รวมถึงเข้ามาดูแลเรื่องการเก็งกำไรจากค่าเงินบาท เนื่องจากขณะนี้พบว่า มีบางส่วนเริ่มเข้ามาเก็งกำไรแล้วจากพันธบัตร และกองทุนอสังหาริมทรัพย์

ส่วนมาตรการที่ ธปท.ออกมานั้น มองว่า ไม่ใช่มาตรการใหม่ และเป็นมาตรการในระยะยาวที่คงจะไม่สามารถเห็นผลได้มากในระยะอันใกล้นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น