xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.แนะ 4 มาตรการ รับมือตลาดหุ้นป่วน-หลังยกเลิก 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาธิการ ก.ล.ต.เสนอให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ทันที ชี้ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ มีผลกระทบลุกลามทั้งระบบ ธปท.แทรกแซงแบบครึ่งๆ กลางๆ แก้ปัญหาไม่เต็มที่ พร้อมแนะ 4 แนวทางรองรับ ทั้งการกำหนดเป้าหมายเงินบาท การประกันความเสี่ยงเงินทุนไหลเข้า หนุนเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ และคลัง-ธปท.ตกลงร่วมกันในการดูแลเงินบาท

วันนี้(27 ก.พ.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณtกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) : ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด โดยกล่าวถึงอุปสรรคในการพัฒนาตลาดหุ้นไทย ซึ่งนายธีระชัย ระบุว่า ภาครัฐควรจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ พร้อมหามาตรการมารองรับ

โดยในส่วนของ ก.ล.ต.ได้เสนอ 4 มาตรการ ดังนี้ 1. การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกระทรวงการคลังควรหารือ ธปท.ในการกำหนดทิศทางของค่าเงินบาทให้ชัดเจนในช่วง 1-2 ปี ว่าต้องการเห็นค่าเงินบาทระดับเท่าใด แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศเป้าหมายดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินกว่าประเทศคู่แข่ง

2. สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรหรือเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ควรให้มีการทำประกันความเสี่ยง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเงินต้นที่นำเข้ามาลงทุนก็ไม่สูญหายไปไหน 3. ควรเปิดให้ภาคเอกชนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะภาคเอกชนมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการดูแล หากเสียหายก็เป็นของภาคเอกชนเอง

และ 4. กระทรวงการคลังและ ธปท.ควรปรับเปลี่ยนแนวนโยบายในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนชั่วคราว เนื่องจาก ธปท.ยังเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่สามารถตัดสินใจได้เต็มที่ เพราะขณะนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องเล็ก จึงต้องร่วมกับรัฐบาลเข้าไปดูแลด้วยการนำเรื่องหารือกระทรวงการคลังและเสนอ ครม.รับทราบ เพราะมีข้อยกเว้นในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.เงินตราให้สามารถบริหารจัดการค่าเงินบาทชั่วคราวได้ เพื่อลดปัญหามาตรการกันสำรอง 30%

ส่วนบรรยากาศการซื้อขายใน ตลท. ต่างชาติยังเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย เพราะยังมีแรงซื้อมากกว่าการขาย ต่างชาติไม่กังวลเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การเมือง เพราะมีความชัดเจนว่าประเทศคงไม่เข้าไปสู่การรัฐประหารเหมือนในอดีต ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยก็จะปกติสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น