xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยเรื่องการ decouple ของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ฑลิต โชคทิพย์พัฒนา
ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยา


ในบทความอาทิตย์ที่แล้ว ผมได้เกริ่นถึง decoupling theme ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์ และนักเศรษฐศาสตร์นิยมพูดถึงในปัจจุบัน โดยได้จำแนกการ decouple ไว้เป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ economic decoupling และ financial decoupling ที่จะกล่าวถึงในบทความอาทิตย์นี้จะเป็นส่วนของ financial decoupling โดยผมจะขอเน้นไปทาง asset class ที่อยู่ภายใต้การจัดการ ซึ่งก็คือตลาดตราสารทุน

ในภาพรวม เราคงต้องยอมรับว่าหากเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียสามารถยืนได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว ในระยะยาวตลาดการเงินก็ควรจะยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ด้วยเช่นกัน ที่ต้องเน้นคำว่า “ในระยะยาว” ก็เพราะเราคงต้องให้เวลาตลาดปรับตัวกับสภาวะที่เปลี่ยนไปเสียก่อน ทุกวันนี้นับเป็นความโชคดีของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มี exposure ในตราสารประเภท securitization น้อยมาก ทำให้สถาบันการเงินไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติซับไพร์ม แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือบรรยากาศการลงทุนที่เสียไป ก็ไม่แปลกครับ เพราะเงินลงทุนที่ไหลเวียนอยู่ในตลาดการเงินในเอเชียส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศพัฒนาแล้ว อย่างดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเอง ก็มีสัดส่วนการถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติเกินกว่าร้อยละ 35 การที่จะมองสินทรัพย์ที่จัดอยู่ใน asset class เดียวกันอย่างเช่นหลักทรัพย์ในเอเชีย กับหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ โดยต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ หาก risk appetite เริ่มเปลี่ยน การเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงก็คงเป็นไปในรูปแบบ across the board อย่างน้อยก็ในช่วงระยะสั้น

หากเราพิจารณาถึงผลตอบแทนของดัชนีหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาแล้ว จะสังเกตเห็นถึงการ outperform ดัชนีหลักทรัพย์ในตลาดพัฒนาแล้ว เช่น ดัชนีดาวโจนส์ ในระดับสูงถึงร้อยละ 20 – 30 เลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากท่านผู้อ่านติดตามบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติมาตลอดจะสังเกตได้ว่า จุดขายหลักๆของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ในช่วงที่ผ่านมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ อย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานในสายการเงินและการลงทุน ผมไม่เคยได้ยินนักวิเคราะห์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ท่านไหนพูดถึง GDP growth ของประเทศสหรัฐฯในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 6 เลย

แต่ในขณะเดียวกัน แทบจะทุกครั้งที่ผมเข้าร่วมวงสนทนาเรื่องมุมมองภาวะเศรษฐกิจในเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ต่างถกเถียงกันอย่างได้อรรถรส ว่า GDP growth ประเทศจีนในปีถัดไปจะตกลงต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือไม่ ด้วยปัจจัยพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกันอย่างมากนี้เอง ทำให้การปรับตัวของดัชนีมีความแตกต่างอย่างมีนัยะ โดยหากเราพิจารณาค่า correlation ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักๆในเอเชีย หรือแม้แต่ของประเทศไทยเอง กับดัชนีดาวโจนส์ เราก็จะเห็นตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่อ่อนลง อย่างไรก็ตาม ค่าดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราได้สัมผัสกันในชีวิตประจำวันของนักลงทุน ที่ยังคงมองดัชนีดาวโจนส์เป็น leading indicator ของการเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์ในประเทศ

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด คงพอสรุปได้ว่า มุมมองของผมต่อการ decouple ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียจากประเทศพัฒนาแล้ว คงไม่ได้สมบูรณ์ดังที่หลายฝ่ายมอง โดยเฉพาะการแยกตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เราได้สัมผัสในเวลานี้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปของอารมณ์ และบรรยากาศการลงทุนที่แปรเลี่ยนรายวันจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ โดยที่ยังไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการบริโภค ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชีย ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯคงไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แบบรุนแรงและรวดเร็วดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ผมก็ยังคงมองว่าเศรษฐกิจเอเชียจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยปัจจัยภายใน ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีนที่จะจัดงานโอลิมปิกในปีนี้ หรือสิงคโปร์เองก็ตามที่เร่งสร้างคาสิโนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

ในส่วนของ บลจ. อยุธยาเองก็ได้เล็งเห็นถึงโอกาสที่นักลงทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงไปสู่ตลาดฯในภูมิภาค โดยได้ออกกองทุนเปิดอยุธยา เอเชียน แวลู แอนด์ โมเมนตัม ซึ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่จัดว่ามีทั้ง value และ momentum ในเดือนกุมภาพันธ์ ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และในเดือนนี้ก็กำลังจะเปิดตัวกองทุนเปิดอยุธยา อาเซียน เวียดนาม โฟกัส ซึ่งลงทุนในหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศ ASEAN โดยเน้นประเทศเวียดนามเป็นหลัก แน่นอนครับจากการที่ดัชนีตลาดฯทั่วโลกได้ปรับตัวลงมาแรงตั้งแต่ต้นปี ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเสนอการลงทุนในตราสารทุนในช่วงนี้ แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ว่าสิ่งที่เราเห็นในตอนนี้เป็นผลของการคาดการณ์ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้นเท่านั้น ในระยะยาว เราน่าจะเห็นนักลงทุนปรับตัวได้ดีขึ้นต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง โอกาสที่จะได้ของดีราคาถูกก็คือตอนที่ทุกคนขาดความเชื่อมั่นจนมองข้ามสิ่งดีๆที่อยู่ข้างหน้าไปนี่แหละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น