xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียที่เติบโตอย่างอิสระยิ่งขึ้นอาจเป็นตัวช่วยพยุง ศก.โลก-US

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เศรษฐกิจเอเชียและยุโรป แม้ยังเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องรับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็กำลังมองกันว่า เอเชียและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เวลานี้มีความแข็งแกร่ง จนไม่น่าที่จะถูกอเมริกาดึงให้พลอยทรุดหนักย่ำแย่เหมือนเช่นในอดีต และความสามารถต้านทานพายุเศรษฐกิจทรุดตัวของสหรัฐฯได้มากขึ้นเช่นนี้เอง อาจจะส่งผลให้กลายเป็นเสาหลักนำพาการฟื้นตัวของอเมริกาและของโลกได้ด้วย

พวกนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต่างเชื่อกันแล้วว่า สหรัฐฯกำลังบ่ายหน้าสู่ช่วงระยะแห่งเศรษฐกิจหดตัว โดยที่ภาวะผันผวนของตลาดการเงิน และตัวเลขข้อมูลแสดงถึงความอ่อนแอของการจ้างงาน ภาคที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ต่างก็กำลังให้ภาพที่มืดมนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เฮนรี พอลสัน ต้องพูดถึงการทรุดตัว “อย่างแรง” ของเศรษฐกิจอเมริกัน ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ(โออีซีดี) บอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ “โดยสาระสำคัญแล้วกำลังเคลื่อนตัวอยู่กับที่ไม่ไปไหน" และอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คนดัง อลัน กรีนสแปน ก็เอ่ยปากเตือนว่า กำลังเกิดวิกฤตทางการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ท่ามกลางกระแสคำทำนายอันเลวร้ายเช่นนี้ บรรดาเศรษฐกิจในเอเชียที่กำลังเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และทางฟากยุโรปที่ยังมีพลวัตอย่างมาก ดูจะกำลังกลายเป็นความหวังที่ว่า โลกยังจะสามารถหลีกเลี่ยงการชะลอตัวอย่างแรง หรือหากเลวร้ายที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไปทั่วทั้งพื้นพิภพได้

สำหรับพวกที่เชื่อในทฤษฎี “แยกขาดจากกัน” (decoupling) ย่อมมองว่าเศรษฐกิจทั่วโลกเวลานี้ ต้องพึ่งพิงขึ้นต่อสหรัฐฯน้อยลงกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วในจีนและอินเดีย รวมทั้งการค้าระหว่างชาติในเอเชียก็เพิ่มพูนขึ้นมาก ตลอดจนเศรษฐกิจยุโรปก็มีการพลิกฟื้นกระเตื้องดีขึ้น

แต่แนวความคิดที่ไปไกลถึงขั้นการแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือเห็นว่าการชะลอตัวของสหรัฐฯไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อส่วนอื่นๆ ของโลก ย่อมเห็นชัดกันอยู่ว่าไม่สมเหตุสมผลเอาเลย เมื่อพิจารณาจากลักษณะของเศรษฐกิจสมัยใหม่ของโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งประเทศต่างๆ ต้องเชื่อมโยงกันและพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างมาก

การที่กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวโต้แย้งในสัปดาห์ที่แล้วว่า “ไม่ได้มีการแยกขาดจากกันหรอกระหว่างบรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่กับบรรดาเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว” ตลอดจนเลขาธิการโออีซีดี อังเคล กูร์เรีย ซึ่งพูดบนเวทีเดียวกันว่า ตัวเขาไม่มี “ความเชื่อถือในเรื่องการแยกขาดจากกัน” ก็น่าจะหมายถึงการแยกขาดจากกันอย่างเด็ดขาดนี้เอง

จอห์น วิลเลียมสัน นักวิจัยอาวุโสแห่ง สถาบันปิเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ชี้ว่า “การแยกขาดจากกัน” ยังสามารถอธิบายด้วยแนวความคิดที่ว่า แม้เศรษฐกิจทรุดตัวในสหรัฐฯจะพาให้ส่วนอื่นๆ ของโลกต้องเติบโตด้วยอัตราที่ช้าลง แต่ส่วนอื่นๆ ของโลกก็ยังจะสามารถประคับประคองตัวผ่านพ้นมาได้ แทนที่จะเหมือนเมื่อก่อนที่จะพลอยดำดิ่งตามสหรัฐฯไปด้วย

แนวความคิดอย่างหลังนี้บ่งบอกนัยที่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแล้วในบรรดาพลังต่างๆ ที่กำลังส่งอิทธิพลก่อรูปโฉมของเศรษฐกิจโลกเวลานี้

วิลเลียมสัน บอกว่า เมื่อใช้แนวความคิดเรื่องการแยกขาดจากกันในแบบหลังมาอธิบาย ทำให้เขาเชื่อว่าการเติบโตของบรรดาเศรษฐกิจในเอเชีย จะสามารถกลายเป็นเสาหลักอิสระอีกเสาหนึ่งสำหรับค้ำจุนเศรษฐกิจโลก อันเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยปรากฏในช่วงเวลาของเศรษฐกิจย่ำแย่ครั้งก่อนๆ

เขาเสริมด้วยว่า ในคราวนี้ด้วยความช่วยเหลือจากเอเชีย “ภาวะถดถอยใดๆ ของสหรัฐฯจึงน่าที่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นลงและถดถอยตื้นกว่าเดิมมาก”

ทางด้าน ชาร์ลส์ ไวพลอสซ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันบัณฑิตการระหว่างประเทศและการพัฒนาศึกษา ณ นครเจนีวา ยอมรับว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปจากอดีตคือเวลานี้เอเชียก้าวผงาดขึ้นมา และสามารถบรรเทาผลจากการชะลอตัวของสหรัฐฯได้ดีทีเดียว

แต่เขาเห็นว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปว่ามีการแยกขาดจากกัน หรือว่ายังแยกกันไม่ขาด และสิ่งที่ชัดเจนก็คือหากสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนอื่นๆ ของโลกก็ต้องถูกกระทบแน่นอน ดังจะเห็นได้จากค่าเงินดอลลาร์ซึ่งกำลังอ่อนตัวลงเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินตราหลายๆ สกุล ก็ทำท่าจะกระทบต่อบรรดาเศรษฐกิจในเอเชียอยู่แล้ว

เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะทำให้สินค้าออกของสหรัฐฯมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น อีกทั้งในตลาดสหรัฐฯเองก็จะมีความต้องการสินค้าที่ทำในต่างประเทศน้อยลงด้วย

มองในภาพรวมแล้ว “ข่าวดีคือเอเชียจะกลายเป็นแหล่งที่มาของความเติบโตซึ่งยืนได้ด้วยตัวเอง” แต่เขาก็ชี้ด้วยว่า “เอเชียกำลังจะมีฐานะเป็นหัวรถจักรหัวหนึ่ง ทว่าจะเป็นหัวรถจักรที่อ่อนแรง”
กำลังโหลดความคิดเห็น