xs
xsm
sm
md
lg

เอสแคปชี้ ศก.เอเชียสู่ยุค “ไม่แน่นอน” คาด “ไทย” ปีนี้เติบโต 4.9% เท่าปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน/เอเอฟพี/เอเจนซี - บรรดาเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก กำลังเข้าสู่ระยะแห่ง “ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก” โดยพวกประเทศซึ่งชี้นำด้วยการส่งออกจะประสบความเสียหายหนักที่สุด จากความผันผวนทางการเงินที่ยังคงดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยนั้น คาดว่า ปีนี้จะเติบโต 4.9% เท่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตามรายงานล่าสุดที่นำออกเผยแพร่เมื่อวานนี้ (27) ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) อันเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ

“หากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ตกอยู่ในกรณีเลวร้ายที่สุดในบรรดาภาพสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นทั้งหลาย รวมทั้งเงินดอลลาร์ก็อ่อนตัวลงอย่างฮวบฮาบด้วย ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจจำนวนมากในภูมิภาคแถบนี้ ก็จะอยู่ในระดับสาหัส

“พวกที่เปราะบางที่สุดจะเป็นบรรดาผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสูง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และไต้หวัน” รายงานชิ้นนี้ซึ่งใช้ชื่อว่า “สำรวจเศรษฐกิจและสังคมเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2008” กล่าวในตอนหนึ่ง

รายงานของเอสแคป แจกแจงว่า พวกผู้ส่งออกในเอเชีย-แปซิฟิก จะต้องเผชิญเคราะห์ร้ายถึง 2 ชั้น กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่ทำให้ดีมานด์ในสินค้าของผู้ส่งออกเหล่านี้ลดต่ำลง แถมยังจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยและดึงให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนปวกอันจะทำให้สินค้าอเมริกันแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก

ภาพอีกส่วนหนึ่งที่รายงานชิ้นนี้วาดไว้ ซึ่งก็แสดงถึงสภาพที่ไม่เป็นผลดีของผู้ส่งออกสินค้าในเอเชีย-แปซิฟิก ก็คือ เอสแคปคาดหมายว่า ประเทศจำนวนมากของโลก นำโดยสหรัฐฯ กำลังมีอัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรมลดลง จึงน่าจะดึงให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดระหว่างประเทศ ลดลงมาจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ซึ่งเพิ่งทำไว้ในปี 2008 นี้ ทว่าราคาอาหารกลับจะยังคงสูงลิ่วต่อไปตลอดปีนี้ อันจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ เพราะอาหารย่อมครองสัดส่วนสูงทีเดียวในยอดรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ถึงแม้สกุลเงินตราของพวกเศรษฐกิจในเอเชียจะแข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้สามารถเผชิญราคาน้ำมันและอาหารซึ่งเพิ่มสูงได้มากพอดู แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกอยู่ดี

พวกประเทศที่สกุลเงินตรามีการปรับค่าแข็งขึ้นมากที่สุด เวลานี้จึงกำลังเผชิญการแข่งขันอย่างดุเดือดจากผู้ผลิตต้นทุนต่ำ ทั้งในด้านสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ และสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร รายงานของเอสแคประบุ

อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ในอีกด้านหนึ่งว่า แม้ความผันผวนทางการเงินในสหรัฐฯ จนเกิดเป็นภาวะสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก จะสร้างผลร้ายต่อบรรดาเศรษฐกิจที่ชี้นำด้วยการส่งออกของเอเชีย-แปซิฟิกดังที่กล่าวมา แต่มันก็กำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

เอสแคป แจกแจงว่า เมื่อเป็นที่คาดหมายกันว่าภูมิภาคแถบนี้จะมีอัตราเติบโตเข้มแข็ง สินทรัพย์ในเอเชีย-แปซิฟิก ก็ย่อมเป็นที่สนใจของนักลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับที่พวกกองทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐในภูมิภาคแถบนี้ ก็กำลังถูกเกี้ยวพาให้ไปลงทุนช่วยแบงก์และสถาบันการเงินที่ประสบความลำบากในสหรัฐฯและยุโรปกันมากขึ้น

“สมดุลด้านอำนาจทางการเงินที่ปรับเปลี่ยนไปเช่นนี้ ยังปรากฏให้เห็นจากการไปลงทุนในต่างแดนเพิ่มขึ้นมากมายอย่างน่าตื่นใจของบรรดาบริษัทเอเชีย-แปซิฟิก” รายงานฉบับนี้ชี้

ขณะเดียวกัน หัวรถจักรทางเศรษฐกิจในเอเชียอย่างจีนและอินเดีย ก็คาดหมายว่าจะช่วยทำให้ภูมิภาคแถบนี้มีความยืดหยุ่นรับมือกับสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยได้มากขึ้นด้วย เมื่อเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่ทั้งสองยังน่าจะขยายตัวได้ต่อไป พร้อมๆ กับที่เสนอโอกาสใหม่ๆ ให้แก่พวกเศรษฐกิจที่ชี้นำด้วยการส่งออกรายอื่นๆ

เอสแคป พยากรณ์ว่า ในปีนี้อินเดียจะยังสามารถรักษาอัตราเติบโตไว้ได้ที่ 9.0% ขณะที่ในจีนนั้น การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของภาครัฐ ก็จะเป็นตัวกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ

โดยภาพรวมแล้ว รายงานนี้ ทำนายว่า พวกเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชีย-แปซิฟิก ปีนี้จะเติบโตระดับ 7.7% ขณะที่พวกประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัว 1.6% ชะลอลงจาก 2.0% ในปี 2007

สำหรับประเทศไทย เอสแคป คาดว่า ปีนี้จะโต 4.9% ซึ่งเรียกได้ว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว และยังอยู่ต่ำกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 5.8%

รายงานชิ้นนี้ มองว่า ในปี 2008 ทั้งการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนในไทยจะกลับฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยประคับประคองยอดส่งออกที่เห็นกันว่าน่าจะลดต่ำลงในระยะไม่กี่เดือนต่อจากนี้ไป เนื่องจากเศรษฐกิจของพวกประเทศอุตสาหกรรมชะลอตัวลง

ในส่วนเรื่องน่ากังวลมากที่สุดในปี 2008 ของไทย รายงานเอสแคป บอกว่า ก็คล้ายๆ กับประเทศเอเชีย-แปซิฟิกอื่นๆ นั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อ โดยที่เงินเฟ้อกลับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงใกล้สิ้นปีที่แล้ว สืบเนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารทะยานลิ่ว รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมราคาสินค้าบางอย่างอีกด้วย เอสแคป ทำนายว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้จะอยู่ราวๆ 3.3% สูงขึ้นกว่าปี 2007 พร้อมกับกล่าวด้วยว่า “มีความไม่แน่นอนอย่างมากมายเหลือเกินในเรื่องอัตราเงินเฟ้อจากราคาอาหาร”
กำลังโหลดความคิดเห็น