xs
xsm
sm
md
lg

การอภิปรายถกเถียงปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนย่อมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้จะทวีความเข้มข้นขึ้นถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ และยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นถ้าเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบถกเถียงเช่นที่อมาตยาเซ็นบอกว่าอินเดียมีวัฒนธรรมที่ชอบถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ ก็จะมีความอดทนอดกลั้นมากพอ แต่สังคมใดไม่มีความอดทนอดกลั้น การถกเถียงอาจลงเอยด้วยการทำร้ายกัน

การถกเถียงก็เพื่อที่จะใช้เหตุผลเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง โดยบางครั้งผู้ชนะอาจจะกลายเป็นผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสนอนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือเพื่อการพัฒนาประเทศ พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายต่างกันในแง่หนึ่งคือการถกเถียงกันในตัว โดยต่างฝ่ายต่างคิดว่าวิธีมองปัญหา ข้อเสนอการแก้ปัญหาและการพัฒนาของฝ่ายตน ของพรรคตนดีกว่าของฝ่ายตรงกันข้าม

แต่การที่จะถกเถียงปัญหาโดยได้คำตอบอย่างถูกต้องเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ดังนั้นจึงมีกรณีที่นโยบายสำคัญๆ กลายเป็นนโยบายที่ผิดพลาดเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของการค้นหาสัจธรรมของมนุษย์ ซึ่งสามารถแยกแยะถึงจุดอ่อนที่นำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาผิดพลาดจนนำไปสู่ผลเสียนั้นมีหลายประการ แต่ที่จะยกมาเป็นประการสำคัญมีดังต่อไปนี้ คือ

1. ขาดความรู้ในทางประวัติศาสตร์
2. วิเคราะห์โดยใช้ตัวแปรเดียว
3. ใช้ตรรกที่ผิดพลาด
4. ขาดข้อมูล
5. ขาดความรู้
6. ความมีอคติ
7. ครอบงำโดยกรอบอุดมการณ์ ความเชื่อ
8. ความดันทุรัง
9. พยายามหักล้างฝ่ายตรงกันข้าม
10. ปกปิดปมด้อยของความไม่รู้

โดยจะขยายความให้เห็นดังนี้

1. ปัญหาทุกปัญหามีรากเหง้าของความเป็นมา มีที่มาที่ไป มิได้เกิดในช่องว่างอากาศ ดังสุภาษิตวิลันดาบทหนึ่งกล่าวว่า “ปัจจุบันถูกกำหนดโดยอดีต และมันจะกำหนดอนาคต” หรือในทางพุทธศาสนา “อดีตคือเหตุ ปัจจุบันคือผล ปัจจุบันคือเหตุ อนาคตคือผล” การวิเคราะห์ปัญหาทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จำเป็นต้องวิเคราะห์ที่มาของอดีตด้วยซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์จึงมีข้อบกพร่องในการวิเคราะห์ปัญหา

2. คนจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะวิเคราะห์ปัญหาโดยมองที่ตัวแปรตัวเดียว (mono-causal analysis) เช่นการวิเคราะห์โดยมองเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมองว่าถ้าเศรษฐกิจดีทุกอย่างก็จะดีหมด ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป หรือบางคนไปไกลกว่านั้น วิเคราะห์ว่าการที่ประเทศไม่พัฒนาเกิดจากตัวผู้นำเพียงคนเดียว ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้นำเพียงคนเดียวไม่สามารถจะทำให้ประเทศพัฒนาหรือล่มจมได้ถ้าส่วนอื่นๆ ของประเทศนั้นไม่เอื้ออำนวย การมองปัญหาเพียงตัวแปรตัวเดียวเป็นการมองที่สุ่มเสี่ยงมาก

3. คนจำนวนไม่น้อยวิเคราะห์ปัญหาโดยมีตรรกที่ผิดพลาด หรือการใช้เหตุผลถกเถียงที่ไม่ถูกต้อง เช่นมีการกล่าวว่า ประเทศมหาอำนาจเอาเปรียบประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อเอาเปรียบมากขึ้นทำให้คนป่วยเป็นโรคจิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา การใช้เหตุผลเช่นนี้มองไม่เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างสองตัวแปร เป็นการสรุปการวิเคราะห์โดยไม่มีพื้นฐานของทฤษฎี เหตุผล และข้อมูล อันเป็นที่รู้กันในหมู่นักวิชาการว่าเป็นการวิเคราะห์แบบไร้เหตุไร้ผล (non sequitur)

4. การถกเถียงปัญหานั้นต้องมีข้อมูลมากพอ ถ้าไม่มีข้อมูลก็อาจจะแสดงความคิดเห็นโดยใช้สามัญสำนึกแต่ถูกหักล้างโดยข้อมูลได้โดยง่าย เช่นมีนักธุรกิจคนหนึ่งกล่าวว่า การทำธุรกิจแบบระบบครอบครัวของจีนเป็นระบบที่ดีกว่าแบบสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเป็นระบบที่ใช้มาแล้วในประเทศจีนหมื่นกว่าปี ผู้พูดไม่มีข้อมูลเพราะประวัติศาสตร์ประเทศจีนมีเพียงประมาณสี่พันปี หรือบางครั้งก็อ้างถึงห้าพันปี การมีธุรกิจแบบครอบครัวมาหมื่นปีจึงแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ข้อมูลของผู้พูด พูดอย่างหลวมๆ โดยไม่มีหลักฐานที่ถูกต้อง

5. การวิเคราะห์ถกเถียงปัญหาโดยไม่มีความรู้ก็เป็นปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง เช่น คำพูดแบบดูถูกดูแคลนที่ว่าประเทศจีนไม่มีทางที่จะพัฒนาได้ และอินเดียนั้นไม่มีอนาคต โดยไม่มีความรู้เรื่องตัวแปรที่จะนำไปสู่การพัฒนา ผู้เขียนเองได้กล่าวว่าสองประเทศนี้จะพัฒนาเมื่อยี่สิบปีก่อน แต่มีนักวิชาการหลายคนพูดทำนองไม่ยอมรับและหัวเราะเยาะเนื่องจากไม่มีความรู้ทางทฤษฎี มาในปัจจุบันเมื่อมีการทวงถามก็ได้แต่หัวเราะและยิ้มเจื่อนๆ หรือผู้ที่บอกว่าประเทศจีนมีธุรกิจระบบครอบครัวมาหนึ่งหมื่นปีนั้นได้กล่าวในการอภิปรายในครั้งเดียวกันว่า ประเทศไทยเสียดินแดนทางใต้คือ กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์มหาราช! ซึ่งสะท้อนถึงความไม่รู้เรื่องเอาจริงๆ

6. ความมีอคติจะทำให้การบิดเบือนและการวิเคราะห์ปัญหา เช่น เมืองจีนในสมัยเหมา เจ๋อตุง จะมองทุกอย่างในแง่การต่อสู้ของชนชั้น เป็นการขัดแย้งระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม ครั้งหนึ่งมีการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาหัวก้าวหน้าจำนวนมากกล่าวหาผู้เขียนว่ามองจีนแบบฝรั่งเพราะมองว่าเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มเหมา เจ๋อตุง และแก๊งทั้งสี่ กับกลุ่มหลิว เส้าฉี เติ้ง เสี่ยวผิง และโจว เอินไหล ความอคติดังกล่าวนำไปสู่การถกเถียงที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ซึ่งพิสูจน์แล้วโดยข้อมูลและประวัติศาสตร์

7. การวิเคราะห์อภิปรายปัญหาอาจจะถูกกำหนดโดยกรอบ อุดมการณ์ ความเชื่อ จนเหมือนม้ามีกระบังหน้า จับตัวแปรทุกอย่างใส่ในกล่องใบเดียว อะไรที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์หรือความเชื่อ หรือความรู้ที่มีอยู่เดิมก็จะถูกตัดออกไปจากการพินิจพิจารณา ผลที่สุดทำให้ไม่สามารถจะมองเห็นข้อมูลที่เป็นความจริง เช่น ความเชื่อที่ว่าทุกอย่างเป็นสี่เหลี่ยม ถึงแม้จะเห็นทรงกลมก็ยังพยายามจะมองให้เป็นสี่เหลี่ยม

8. การพยายามถกเถียงเข้าลักษณะดันทุรัง จนแต้มต่อข้อมูลและเหตุผล ก็ยังถกเถียงอย่างข้างๆ คูๆ เพื่อเอาชนะคะคานฝ่ายตรงกันข้าม ยิ่งเถียงยิ่งแสดงออกถึงความไม่รู้ ในสังคมมีคนแบบนี้เป็นจำนวนมาก

9. บางครั้งอาจจะมีคนที่พยายามแสดงภูมิรู้และใช้ภาษาที่จาบจ้วงเพื่อทำให้น้ำหนักข้อถกเถียงของคู่ต่อสู้น้อยลง แต่ผู้มีความรู้ย่อมเห็นได้ชัดว่าคำพูดหรือเหตุผลของใครจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ถ้าอ่านจากการแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์จะแยกแยะได้ทันทีว่าผู้แสดงความคิดเห็นมีความรู้ มีระดับความคิดอยู่ในขั้นใด หลายคนมีความรู้แค่ผิวเผินแต่พยายามแสดงภูมิอย่างผิดๆ

10. การแสดงภูมิโดยไม่ตรงประเด็นที่ถกเถียง เพื่อเป็นการแก้เกี้ยวเนื่องจากมีปมด้อยเพราะความไม่เข้าใจ หรือรู้โดยส่วนลึกๆ ว่าเป็นคนที่มีภูมิความรู้น้อยกว่าจึงพูดจาในลักษณะยกตนข่มท่าน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ฟังหรือผู้อ่าน

ในสังคมไทยนั้นระบบการศึกษามักมุ่งเน้นการท่องจำ ผู้เรียนก็เรียนเพื่อการสอบและการทำงาน นอกจากนั้นยังไม่นิยมอ่านหนังสือ จากการสำรวจของยูเนสโกได้พบว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละเพียง 8 บรรทัด ซึ่งไม่น่าจะน้อยขนาดนั้นและไม่แน่ใจว่าใช้วิธีการวิจัยอย่างไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าคนไทยอาจจะนิยมการอ่านหนังสือน้อยกว่าญี่ปุ่นหรือชาติอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ภูมิปัญญาจึงจำกัด เวลาถกเถียงปัญหาจะใช้วิธีการดังต่อไปนี้คือ (ก) เรียนรู้อะไรมาก็จับใส่กรอบอันนั้น เช่น เรียนรู้กฎหมายก็จับทุกอย่างใส่ในวิชากฎหมาย เรียนรู้มาทางการศึกษาก็จะยกการศึกษาเป็นหลักโดยไม่มีความรู้เรื่องอื่น (ข) ใช้สามัญสำนึกในการวิเคราะห์ปัญหา (ค) ใช้ความรู้ทางศาสนาพุทธซึ่งส่วนใหญ่เป็นความรู้ขั้นจำกัดในการตีความปัญหาบ้านเมืองและพฤติกรรมมนุษย์ (ง) ใช้ชาตินิยม เผ่าพันธุ์นิยม ในการวิเคราะห์ปัญหาและเสนอทางออก (จ) ไม่ใช้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น แสดงความเห็นโดยไปแบบน้ำขุ่นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งที่อาจจะขยายวง เพราะเมื่อคนไม่ใช้เหตุผลในการพูดจา ไม่ใช้ข้อมูลและความรู้ในการถกเถียงปัญหา ขาดความเที่ยงธรรม บรรยากาศในการใช้ปัญญา ใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์ปัญหาของสังคมก็ถูกบดบังอย่างน่าเสียดายยิ่ง สภาพดังกล่าวนี้อาจจะสรุปได้ว่า อคติเป็นนิตย์ ตรรกเป็นพิษ ปัญญาวิปริต จิตไม่เที่ยงธรรม ครอบงำโดยอวิชชา กบในกะลาครอบ

ทางออกก็คือการมีการศึกษาที่มีระบบการคิดวิเคราะห์ รู้จักการใช้เหตุใช้ผล โดยมีตรรกอันเป็นที่ยอมรับ มีการศึกษาหาความรู้ทั้งในทางทฤษฎี ปฏิบัติและข้อมูล ที่สำคัญคือการพัฒนาทัศนคติที่มีความเป็นธรรมในการรับฟังและการแสดงออก กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีวุฒิภาวะในทางปัญญาการ ทางออกที่เสนอมานี้คงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น