xs
xsm
sm
md
lg

ผวาบาทแตะ 30 ส่งออกพัง เอกชนจี้คลัง-ธปท.เคาะ 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกชนห่วงบาทแข็ง 30 บาทต่อเหรียญ ส่งออกพังแน่ อัตราการขยายตัวติดลบทันที เรียกร้องรัฐบาลต้องชัดเจนมาตรการกันสำรอง 30% อย่าทำให้คลุมเครือ ขณะที่ผลสำรวจอุตสาหกรรมพบ 3 อุตสาหกรรม อาหารเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์ และเคมีภัณฑ์ ส่อพังพาบ หากบาทแข็งไม่เลิก หอการค้าไทยสั่งสมาชิกทำข้อเสนอแนะ ก่อนพบ “สมัคร” ในนาม กกร. ต้นมี.ค.นี้ ด้านนักวิชาการนิด้า เตือนรัฐบาลใหม่รับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตซับไพรม์ และราคาน้ำมันแพง แนะส่งเสริมการผลิต-หนุนท่องเที่ยวสร้างความแข็งแกร่ง

นายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานอนุกรรมการการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากเงินบาทปีนี้แข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ การส่งออกที่เคยคาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 10-12.5% จะลดเหลือเพียง 4.6% และหากแข็งค่าไปถึง 30 บาท/เหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัวติดลบทันที และไม่อาจประเมินตัวเลขที่หายไปได้

“ทุกๆ บาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว 0.2% และส่งออกได้ยากขึ้น และยิ่งเงินบาทแข็งค่าแบบไม่มีเสถียรภาพ จะทำให้โรงงานไม่สามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ และไม่สามารถกำหนดราคาเพื่อการส่งออกได้ ซึ่งจะทำให้สูญเสียตลาดในที่สุด ดังนั้น รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน”

นายชัยนันท์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้ชัดเจนในขณะนี้ ก็คือ มาตรการกันสำรอง 30% จะเอาอย่างไร ต้องมีคำตอบให้ชัดเจน เพราะหากรัฐบาลและธปท. ไม่สามารถหาข้อสรุปหรือข้อยุติได้ ผลกระทบจะเกิดกับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้นักเก็งกำไรเข้ามาฉวยโอกาสกับค่าเงินบาทมากขึ้น

“ธปท.ควรสร้างความชัดเจนโดยเร็ว เพราะการออกข่าวรายวัน ทำให้เกิดการเก็งกำไรหนักขึ้น และที่ผ่านมา ธปท. ออกมาให้ข่าวว่า มีผู้ส่งออกเร่งขายดอลลาร์และเก็งกำไร แต่ไม่เคยระบุได้ว่าใครเป็นคนเก็งกำไร และไม่สามารถจัดการได้ จะเลิกไม่เลิกต้องพูดให้ชัด และหากตัดสินใจจะยกเลิก ก็ต้องมีมาตรการรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ถ้าแข็งเร็ว จะกระทบส่งออกมาก”นายชัยนันท์กล่าว

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ชัดเจน โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องมีการหารือกันมากกว่านี้ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ

วันเดียวกันนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการต่อผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน และแนวโน้มการประกอบกิจการในปี 2551 ใน 9 อุตสาหกรรม จากกลุ่มสำรวจทั่วประเทศ 489 ราย ระหว่างวันที่ 11 ธ.ค.50 ถึง 28 ม.ค.51 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 47.12% ระบุว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการผลิต 45.06% จะเพิ่มการผลิต และ 7.82% ระบุว่าจะลดการผลิต และคาดว่าการผลิตขยายตัวลดลง 22.20% ขณะที่ภาคการจ้างงานส่วนใหญ่ 68.45% ยังไม่ลดการจ้างงาน อีก 26.39% จะเพิ่มการจ้างงาน แต่ 5.15% จะลดการจ้างงานและคาดว่าการจ้างงานจะลดลง 13.82%

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจ ผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์ เป็นเพียง 3 อุตสาหกรรมใน 9 สาขาระบุว่าจะปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้จากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบต่อการลดคนงาน ย้ายฐานผลิตและปิดกิจการสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าระดับ 32 บาท/เหรียญสหรัฐ ผู้ประกอบการระบุว่าจะส่งผลต่อการลดการผลิต ลดคนงาน ย้ายฐานผลิต และปิดกิจการ 17.06% 6.68% 0.25% และ 0.25% ตามลำดับ แต่หากเงินบาทต่ำกว่า 30 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ผลกระทบจะรุนแรงขึ้นต่อการลดการผลิต ลดคนงาน ย้ายฐานผลิต และปิดกิจการ เพิ่มเป็น 27.73% 12.40% 1.02% และ 2.08%

สำหรับราคาน้ำมันดิบ หากยิ่งสูงขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยหากราคาน้ำมันดิบอยู่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ผลต่อการลดการผลิต ลดคนงาน ย้ายฐาน ปิดกิจการ จะอยู่ที่ 3.60% 0.70% 0% และ 0% ตามลำดับ และจะเพิ่มเป็น 10% 5.64% 0.25% และ 1.01% เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มเป็น 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเพิ่มเป็น 16.53% 7.81% 0.53% 1.32% เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มเกิน 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

“ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วน คือ แทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกิน 33-34 บาท/เหรียญสหรัฐ พยุงราคาพลังงานในประเทศไม่ให้สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยปีก่อนที่ 30-32 บาท/ลิตร และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ สนับสนุนการลดต้นทุนผลิต และเพิ่มการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และขอให้มีความชัดเจนในเรื่องมาตรการกันสำรอง 30% เพราะหากไม่ชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นไปอีก”นายอัทธ์กล่าว

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวภายหลังการประชุมสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ วานนี้ (19 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการแต่ละด้านไปรวมบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะจากสมาชิกแต่ละจังหวัดและภาค รวบรวมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และจะนำไปรวมกับปัญหาและข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลใหม่ได้เร่งดำเนินการ ในโอกาสที่คณะกรรมการภาคเอกชนสามฝ่าย (กกร.) จะเข้าหารือกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต้นเดือนมี.ค.นี้

“สมาชิกต้องการรับฟังนโยบายของรัฐบาลก่อน เพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดไม่เห็นด้วยและอยากเพิ่มเติมให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอะไร โดยคาดว่าภายในสัปดาห์จะได้ข้อเสนอที่ต้องการสะท้อนให้รัฐบาลใหม่รับรู้และนำไปปฎิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนเรื่องค่าบาท ราคาน้ำมัน และทบทวนนโยบายมาตราการกันสำรอง 30% ยังไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นทางการ คงต้องดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลระยะหนึ่ง”นายประมนต์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง กล่าวว่า หลังจากการติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ตน มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องมองปัญหาให้ออกว่า ต้นตอที่แท้จริงคือเรื่องอะไร และหาทางแก้ไขให้ตรงจุด

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้ คือ ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพร์ม) และปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่มาจากภายนอก ขณะที่ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการค้าจากต่างประเทศถึง 65% โดยมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงประการแรก จึงอยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างมาก เช่นเดียวกับปัญหาราคาน้ำมัน ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่ส่งผลต่อภาคการผลิต ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นและปัญหาอัตราเงินเฟ้อตามมา นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการสูญเสียเงินตราเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 8.5 แสนบาเรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หากจะเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนนั้น ต้องเน้นไปที่การฟื้นฟู และสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้หายไป จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศและต่อเนื่องไปถึงการบริโภค

"รัฐบาลยังต้องเร่งส่งเสริมภาคการผลิตและการท่องเที่ยว โดยปรับปรุงให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่มากขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมักจะส่งออกส่งสินค้าหรือผลิตสินค้าที่ไม่มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ทำให้บางครั้งได้กำไรน้อย ไม่คุ้มค่ากับการผลิตและส่งออก อย่างเช่น สินค้าทางการเกษตร ที่จะเน้นเพียงการส่งออกพืชผล โดยไม่นิยมการแปรรูป นี่เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลแถลงแล้วว่า ต้องการส่งเสริม เพื่อเพิ่มศักยภาพของการผลิตและบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพราะต้องยอมรับว่า เรามีคู่แข่งมากขึ้นและคู่แข่งก็เข้มแข็งขึ้น" รศ.ดร.มนตรี กล่าว

รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศด้วยว่า การแก้ปัญหาความยากจนต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หากรัฐบาลจัดเป็นนโยบายเร่งด่วนได้ก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะนับตั้งแต่ปี 29 เป็นต้นมา แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายรายได้ที่แย่ลง โดยพื้นที่ที่มีรายได้สูงๆ กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ หรือในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลควรเน้นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้ประชาชน โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพของการสร้างรายได้ พัฒนาและสร้างโอกาสของการเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจขนาด กลางและย่อม (SME) เชื่อมโยงไปถึงการส่งเสริมและการพัฒนา SME ให้มีศักยภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความยากจน

"รัฐบาลอาจมองว่า การส่งเสริมกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้เกิดธุรกรรมด้านการเงิน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวจะต้องระวังให้การใช้เงินของกองทุนหมู่บ้านถูกนำไปใช้อย่างถูกทาง เพื่อนำไปประกอบ ธุรกิจ เช่นเดียวกับการพักหนี้เกษตรกร ที่ต้องเน้นการส่งเสริมให้ถูกวิธี ให้เข้าใจว่าเป็นการพัก เพื่อให้มีเม็ด เงินไปลงทุนต่อ ไม่ใช่พักแล้วไม่ต้องชำระหนี้ เพราะหากเกิดการเข้าใจผิดก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบ ของสถาบันทางเงินเหมือนที่ผ่านมา" รศ.ดร.มนตรี กล่าว

สุดท้ายเป็นเรื่องของการลงทุนในโครงการใหญ่อย่างเมกะโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ รถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟชานเมือง หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการพัฒนาสนามบิน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง เพราะจะก่อให้เกิดภาระหนี้สิน แต่อาจใช้วิธีการร่วมทุนกับภาคเอกชนโดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง โดยจะมีพระราชบัญญัติร่วมทุนที่คาดว่าจะถูกนำเสนอต่อสภาฯ ที่สามารถรองรับตรงนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น