xs
xsm
sm
md
lg

“อ็อกแฟม” หนุนไทยทำซีแอลยามะเร็งต่อและขยายครอบคลุมยาอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ็อกแฟม เรียกร้องไทยให้ทำซีแอลยามะเร็ง 3 รายการต่อไป และขยายคลอบคลุมยาอื่นๆ อีก และเป็นผู้นำในการทำซีแอลให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วย ขณะที่ รองประธานหอการค้า จี้รัฐเร่งปราบเทปผีซีดีเถื่อน ตัวการถูกจัดอันดับเป็นพีเอฟซี ชี้ควรชะลอซีแอลให้ผ่านช่วงเมษายนก่อนค่อยหารือกันใหม่

เวลา 10.30 น.วันนี้ (19 ก.พ.) ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ (FCCT) นางซาราห์ ไอร์แลนด์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก อ็อกแฟม น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์องค์กรหมอไร้พรมแดน นพ.พงษ์เทพ วงษ์วัชรไพบูลย์ ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานหอการค้าไทย ร่วมกันแถลงข่าวผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องซีแอลที่อาจมีต่อคนยากจนในเรื่องการเข้าถึงยา ทั้งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา

นางซารา กล่าวว่า อ็อกแฟมในฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านการพัฒนาสังคม มี 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ได้แก่ 1. รัฐบาลควรดำเนินการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอลกับยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 รายการต่อไป 2.รัฐบาลต้องถือว่าการทำซีแอลเป็นพันธกิจที่ในอนาคตอาจจะมีการทำซีแอลกับยาตัวอื่นด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น และ 3.ประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนเพื่อปูทางให้ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคและทั่วโลกกล่าที่จะทำซีแอล

นายบัณฑูร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำซีแอลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สมาคมผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) จะพิจารณาจัดสถานะประเทศไทยเป็นประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรง (พีเอฟซี) ในเดือนเมษายนนี้ ดังนั้น ควรเลื่อนการทำซีแอลออกไปก่อน หลังจากนั้น จะดำเนินการอย่างไรค่อยหารือกันอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อยาราคาแพง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เป็นประเทศยากจน มีรายได้จำนวนมาก และพอกับการจัดซื้อยาราคาแพงเหล่านี้ ส่วนการทำซีแอลถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่นำมาใช้

นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยถูกจัดสถานะเป็นประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL) เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องการทำซีแอล แต่เป็นเพราะไทยไม่เข้มงวดและจริงจังในการใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ควบคุมสินค้าประเภทซอฟต์แวร์ ซีดี ดีวีดี โดยปล่อยให้มีการจำหน่ายอย่างเปิดเผย ซึ่งทำให้สหรัฐฯนำมาอ้างได้ว่า สูญเสียรายได้เฉพาะประเทศไทย 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ข้อเท็จริงแล้ว เชื่อว่า สูญเสียรายได้แค่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น ดังนั้น หากรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบซีดี ดีวีดี ก็อาจทำให้การทำซีแอลเป็นประเด็นที่ไม่มีความสำคัญเนื่องจากมูลค่าความเสียหายเรื่องซีดี สูงกว่าการทำซีแอลมาก

“ในระหว่างนี้หากรัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการเอาจริงเอาจังกับการปราบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างเทปผี ซีดีเถื่อน ก็อาจช่วยให้ไทยไม่ถูกเลือกสถานะเป็นประเทศละเมิดสิทธิบัตรรุนแรง (พีเอฟซี) ได้ ส่วนกรณีที่หยิบเอาการทำซีแอลของไทยมาอ้างเพื่อจัดสถานะไทยนั้น ผมทราบจากสถานทูตสหรัฐฯ มานานแล้วว่า เขาพยายามจะจัดสถานะไทย แต่ที่ผ่านมามีกระบวนการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงชะลอเรื่องนี้ออกไป แต่พอไทยมีรัฐบาลจากรัฐประหารก็หยุดการเจรจาเอฟทีเอดังกล่าว สหรัฐฯ จึงหยิบเรื่อซีแอลมาอ้างจัดสถานะไทยแทน” นายบัณฑูร กล่าว

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ซีแอลไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่รัฐบาลก็ควรชะลอการทำซีแอลออกไป เนื่องจากอาจกระทบกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรายได้หลักของประเทศ ร้อยละ 70 มาจากการส่งออก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ นอกจากนี้ 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าสูงมากกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่าค่าเงินของจีน 1 เท่าตัว ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งจีเอสพี ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมอาจมีสินค้ากว่า 2-3 พันรายการ ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงภาคแรงงานจำนวนกว่าล้านได้รับความเดือดร้อน

นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปัญหายาราคาแพงเนื่องมาจากอุตสาหกรรมยาในสหรัฐฯและยุโรป เป็นบริษัทที่มุ่งแสวงหากำไร โดยจำหน่ายยาให้กับประเทศกำลังพัฒนาในราคาเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประชาชนมีรายได้ที่แตกต่างกัน โดยรายได้เฉลี่ยของคนสหรัฐมากกว่าไทย 14 เท่า และยุโรปมากกว่าไทย 20 เท่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมเพราะยาไม่เหมือนสินค้าหรูหรา ทั้งๆที่ยาเป็นสินค้าจำเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไทยถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 ของโลก ทั้งๆ ที่ คนจนมีสิทธิเหมือนกับทุกคนในการเข้าถึงยาได้ การตัดสิทธิคนจนเป็นการกระทำที่ไม่ถูก แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผลแต่โลกก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความถูกต้อง

เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศถามถึงกรณีที่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้มาจากประชาธิปไตยแต่ทำซีแอลที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ในส่วนของรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย เหตุใดถึงจะทบทวนเรื่องซีแอล นายบัณฑูร กล่าวว่า ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ทุกคนต่างหวังว่าจะได้ตัวแทนของประชาชนที่มากำจัดความยากจน และความทุกข์ยากของประชาชน แต่ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่เคยได้ผู้แทนของประชาชนที่มาจากประชาธิปไตยที่มาทำหน้าที่เหล่านี้เลย มีแต่มาแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศชาติและคอร์รัปชั่น ขณะที่ประชาธิปไตยในไทยก็สนับสนุนให้มีการคอร์รัปชั่นมากขึ้นด้วย เมื่อมีการทุจริตประชาชนก็ยากจนมากขึ้น ตราบใดที่ประชาชนยากจน ไม่มีการศึกษาที่ดีพอ การคอร์รัปชันก็จะมีมากเช่นนี้ต่อไป

ด้าน นพ. พงษ์เทพ วงษ์วัชรไพบูลย์ ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รัฐบาลไทยจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคนละ 2,100 บาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ 726 แห่ง ได้ใช้ยาที่มีราคาเพียงเม็ดละไม่เกิน 10 บาท เนื่องจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอ ปัจจุบันยามะเร็งจึงมีการสั่งจ่ายเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนและโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ไม่ถึงโรงพยาบาลระดับชุมชนเพราะยามีราคาแพงจนคนจนไม่มีเงินเพียงพอที่จ่ายค่ายาด้วยตนเอง จึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าทำซีแอลช่วยเหลือคนจน ขณะที่บริษัทยาก็ไม่ได้รับผลกระทบยังสามารถขายยาให้กับคนรวยได้

**นักวิชาการแนะเจรจากับ บ.ยา
วันเดียวกัน นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือซีแอลว่า แรกเริ่มเดิมทีความคิดในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ถือเป็นคุณูปการต่อชีวิตมนุษย์ ดังนั้น การให้ลิขสิทธิ์ของผู้คิดค้น ในการครอบครองความคิดหรือผลงานประดิษฐ์จึงเป็นสิ่งชอบธรรมและยุติธรรม แต่ในภาวะวิกฤติ เช่น เรื่องของยาที่เป็นผลงานการคิดค้นที่ถูกตั้งราคาขึ้น ไม่ใช่บนราคาต้นทุนในการผลิต แต่เป็นการตั้งราคาบนความจำเป็นในการใช้ยาในโรคนั้นๆ ยิ่งยาที่ใช้ในการรักษาโรคร้ายแรงก็ยิ่งมีการตั้งราคาให้สูงขึ้น ทำให้เกิดมีปัญหาการเข้าถึงยา

นพ.จรัส กล่าวถึงการใช้ CL ยาโรคเอดส์ ว่า คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพราะเป็นโรคที่ร้ายแรงและผู้ป่วยได้รับความทรมานทุรนทุราย แต่ในประเด็นที่จะขยายเครือข่ายการรักษาโรคไปถึงยารักษาโรคอื่นๆ เช่นมะเร็ง ทำให้ต้องคิดถึงทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้คิดค้นยา และตัวผู้ป่วยในเชิงมนุษยธรรม เชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่การตกลงเจรจากัน เพราะหากเดินหน้าชนอย่างเดียวก็จะส่งผลต่อผู้ที่คิดผลิตยาขึ้นมา ทั้งนี้ ตนขอเสนอแนวทาง 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร 2.เจรจาต่อรองหาจุดร่วมระหว่างธุรกิจและมนุษยธรรม และ 3.แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ผลิต

“นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การขอรับบริจาค แต่ก็อาจจะไม่ใช่หนทางที่ดีนัก ผมคิดว่าการเจรจาตกลง และการอะลุ้มอล่วยน่าจะช่วยให้หาทางออกตรงกลางได้ ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า การทำซีแอลยามะเร็ง ควรจะเป็นรูปไหน ก็คือไม่มีคำตอบใดถูกต้องที่สุด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ เพราะหากเราดื้อดึงดันที่จะทำซีแอลอย่างเดียว บริษัทอาจจะไม่ส่งยามาขาย เราก็จะไม่มียามาใช้อยู่ดี”

ต่อข้อถามถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขชุดใหม่กับแนวโน้มการยกเลิกซีแอล นพ.จรัส กล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ขอให้มีการเจรจาอย่างจริงใจ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ก่อนจะทำอะไรขอให้ถามตัวเองว่าคิดดีแล้วหรือยัง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของคุณธรรม และสติ ถ้าใช้ทั้ง 2 อย่างนี้ก็จะได้คำตอบที่ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น