xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ เชื่อสหรัฐเลื่อสถานะไทยดีขึ้น หลังเข้มงวดทรัพย์สินทางปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พาณิชย์ เตรียมเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยต่อสหรัฐฯ ภายในสัปดาห์นี้ หวังสหรัฐเลื่อนสถานะไทยอยู่ในบัญชีจับตา ขณะที่กรณีการทบทวนซีแอลเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข

วันนี้(19 ก.พ.) นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังกังวลการทบทวนของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับกลุ่มประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปต่าง ๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยถูกจัดอยู่ในอันดับละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศถูกจับตามอง (WL) เป็นประเทศจับตามองพิเศษ (PWL) โดยมองว่าไทยยังคงมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยมีการปราบปรามอยู่ตลอดเวลาอย่างเข้มงวด

โดยในปี 2550 ที่ผ่านมาถือว่ามีการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินค่อนข้างได้ผลดี แต่สหรัฐฯยังมองว่าไทยมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ ซึ่งในสัปดาห์นี้กรมฯ จะนำข้อมูลและสถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ให้ผู้แทนการค้าสหรัฐประจำประเทศไทยรับทราบข้อเท็จจริง

ด้านภาคเอกชนจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแก่สหรัฐเช่นกัน หลังจากสหรัฐเก็บข้อมูลต่าง ๆจากไทยแล้วจะมีการสรุปกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะไทยที่ถูกจับตามองพิเศษ เพื่อเสนอต่อสหรัฐ ภายในสัปดาห์นี้

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานหอการค้าไทย กล่วถึงผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องซีแอลที่อาจมีต่อคนยากจนในเรื่องการเข้าถึงยา ทั้งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำซีแอลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สมาคมผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) จะพิจารณาจัดสถานะประเทศไทยเป็นประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรง (พีเอฟซี) ในเดือนเมษายนนี้ ดังนั้น ควรเลื่อนการทำซีแอลออกไปก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการอย่างไรค่อยหารือกันอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อยาราคาแพง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เป็นประเทศยากจน มีรายได้จำนวนมาก และพอกับการจัดซื้อยาราคาแพงเหล่านี้ ส่วนการทำซีแอลถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่นำมาใช้

นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยถูกจัดสถานะเป็นประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL) เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องการทำซีแอล แต่เป็นเพราะไทยไม่เข้มงวดและจริงจังในการใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ควบคุมสินค้าประเภท ซอฟแวร์ ซีดี ดีวีดี โดยปล่อยให้มีการจำหน่ายอย่างเปิดเผย ซึ่งทำให้สหรัฐนำมาอ้างได้ว่า สูญเสียรายได้เฉพาะประเทศไทย 400 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ข้อเท็จริงแล้ว เชื่อว่าสูญเสียรายได้แค่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ดังนั้น หากรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบซีดี ดีวีดี ก็อาจทำให้การทำซีแอลเป็นประเด็นที่ไม่มีความสำคัญเนื่องจากมูลค่าความเสียหายเรื่องซีดี สูงกว่าการทำซีแอลมาก

“ในระหว่างนี้หากรัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการเอาจริงเอาจังกับการปราบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างเทปผี ซีดีเถื่อน ก็อาจช่วยให้ไทยไม่ถูกเลือกสถานะเป็นประเทศละเมิดสิทธิบัตรรุนแรง(พีเอฟซี) ได้ ส่วนกรณีที่หยิบเอาการทำซีแอลของไทยมาอ้างเพื่อจัดสถานะไทยนั้น ผมทราบจากสถานทูตสหรัฐฯ มานานแล้วว่า เขาพยายามจะจัดสถานะไทย แต่ที่ผ่านมามีกระบวนการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงชะลอเรื่องนี้ออกไป แต่พอไทยมีรัฐบาลจากรัฐประหารก็หยุดการเจรจาเอฟทีเอดังกล่าว สหรัฐฯ จึงหยิบเรื่อซีแอลมาอ้างจัดสถานะไทยแทน”นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามแม้ซีแอลไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่รัฐบาลก็ควรชะลอการทำซีแอลออกไป เนื่องจากอาจกระทบกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรายได้หลักของประเทศ ร้อยละ 70 มาจากการส่งออก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ นอกจากนี้ 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าสูงมากกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่าค่าเงินของจีน 1 เท่าตัว ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งจีเอสพี ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมอาจมีสินค้ากว่า 2 -3 พันรายการที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงภาคแรงงานจำนวนกว่าล้านได้รับความเดือดร้อน

นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปัญหายาราคาแพงเนื่องมาจากอุตสาหกรรมยาในสหรัฐและยุโรปเป็นบริษัทที่มุ่งแสวงหากำไร โดยจำหน่ายยาให้กับประเทศกำลังพัฒนาในราคาเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประชาชนมีรายได้ที่แตกต่างกัน โดยรายได้เฉลี่ยของคนสหรัฐมากกว่าไทย 14 เท่า และยุโรปมากกว่าไทย 20 เท่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมเพราะยาไม่เหมือนสินค้าหรูหรา ทั้งๆที่ยาเป็นสินค้าจำเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไทยถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 ของโลก ทั้งๆ ที่ คนจนมีสิทธิเหมือนกับทุกคนในการเข้าถึงยาได้ การตัดสิทธิคนจนเป็นการกระทำที่ไม่ถูก แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผลแต่โลกก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น