xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าออกแถลงการณ์หนุนเลิกCL-ค้านเลิก30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอการค้าไทยหนุนยกเลิกซีแอล ชี้ไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย หากสหรัฐฯ ปรับบัญชีประเทศไทย และใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า แต่คัดค้านการปลดล็อกมาตรการกันสำรอง 30% หวั่นบาทแข็งค่าหนัก กระทบส่งออก ทำโรงงานปิดคนตกงาน ชี้หากเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการรับมือให้ดี ส่วนการดูแลค่าครองชีพ พร้อมให้ความร่วมมือถ้าต้นทุนไม่เพิ่ม

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการทบทวนการประกาศบังคับใช้สิทธิผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) ในยารักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิดว่า การหารือของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข น่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ โดยนำข้อมูลต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน และตัดสินใจโดยไม่คำนึงว่าผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเสียไป หรือกลุ่มใดจะได้ประโยชน์

ทั้งนี้ การใช้ซีแอลกับยารักษาโรคระบาด หรือโรคอันตรายรุนแรง อย่างเอดส์ ก็เห็นด้วย แต่หากใช้กับโรคที่ไม่เรื้อรัง หรือไม่ใช่โรคเฉพาะ รัฐบาลจำเป็นต้องดูที่ความจำเป็นก่อน เพราะเจ้าของสิทธิบัตรล้วนแต่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และอาจทำให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้น ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า เช่น การตัดจีเอสพี ที่แต่ละปีไทยใช้สิทธิ์ประมาณ 20% ของมูลค่าการค้ารวมไทยและสหรัฐฯ (ประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ก็จะกระทบการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่การใช้ซีแอลยามะเร็ง จะทำให้รัฐประหยัดเงินที่จะซื้อยาจากเจ้าของสิทธิบัตรได้ปีละ 2,000-4,000 ล้านบาท

“การตัดสินใจต้องเอาประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อน แต่ถ้าเอาประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่ง แล้วอีกกลุ่มเสียประโยชน์ ต้องมีคำอธิบายได้ ถ้าเรายังตัดสินใจใช้ซีแอล และมีการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า รัฐต้องมีอะไรช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก หรือถ้าไม่ใช่ซีแอล รัฐก็ต้องมีคำตอบให้กับผู้ป่วย หรือต้องจัดสรรงบประมาณเรื่องยาเพิ่มเติม”

สหรัฐฯ จะมีการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่จะประกาศผลเดือนเม.ย.นี้ โดยประเด็นที่สหรัฐฯ จับตามองไทยอยู่ ก็คือ การใช้ซีแอลยามะเร็งเพิ่มเติมอีก 4 รายการ หากไม่ยกเลิก ก็มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรง (พีเอฟซี) ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับไทยในรูปแบบต่างๆ

สำหรับมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้นำมาใช้ตั้งแต่เดือนธ.ค.2549 นายประมนต์กล่าวว่า ทำให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะสามารถทำให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากนัก ที่สำคัญไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนระยะยาวในไทย การที่นักลงทุนชะลอการลงทุนในไทยน่าจะเป็นเพราะปัญหาการเมืองภายในไม่สงบมากกว่า และที่ผ่านมา มีการผ่อนปรนมาตรการมาแล้วหลายครั้ง จนแทบจะไม่มีการบังคับเลย ยกเว้นเงินทุนที่เข้ามาระยะสั้น และไม่มีที่มาที่ไปเท่านั้น

หอการค้าไทยเห็นว่ามาตรการกันสำรอง 30% ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน หรือดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดูอย่างประเทศที่นักลงทุนสนใจ ทั้งจีน เวียดนาม ต่างมีมาตรการเข้มงวดกว่าไทย แต่เขาก็ไปลงทุน เพราะเขาสนใจที่จะลงทุน เขามั่นใจในรัฐบาล เขาก็ไปลงทุน

“มาตรการกันสำรอง 30% ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ถ้าต้องการยกเลิก เพื่อผลทางจิตวิทยา เราไม่คัดค้าน แต่คำถามก้คือ รัฐบาลมีมาตรการรองรับหรือไม่ ถ้าเงินบาทแข็งจาก 33 ไป 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐทันที มีมาตรการอะไรรองรับ เพราะเรามีมาตรการรับมือไม่มาก ต้องพิจารณาให้ชัดเจน ถ้าจะยกเลิก เพราะถ้าคุมไม่ดี จะกระทบต่อการส่งออก จะมีคนตกงานอีกเยอะ ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ และมีผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม” นายประมนต์กล่าวและว่า มาตรการที่หอการค้าไทย สนับสนุนให้นำมาใช้ ก็คือ การเข้าไปแทรกแซงตลาดเงินเป็นครั้งคราว ซึ่งขณะนี้ธปท. ก็ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว และควรจะพิจารณาในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะขณะนี้สหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.25% ไทยก็ต้องปรับลดลง เพื่อลดแรงกดดันของเงินไหลเข้า

นายประมนต์กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน หอการค้าไทยมีจุดยืนโดยต้องการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะหากผู้ประกอบการได้มีความพยายามในการลดต้นทุนแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้คุ้มทุน ก็ต้องให้ปรับขึ้นราคาได้ แต่ถ้าต้องการให้มีการตรึงราคาต่อเพื่อเหตุผลทางการเมือง หรือช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน ก็ต้องมาคุยกัน และจำเป็นต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ

“ถ้าจะให้ช่วยตรึงราคาในระยะสั้นๆ ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่ระยะยาว ระยะกลาง ระยะยาว ธุรกิจนายจ้างต้องหาทางเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงาน ธุรกิจต้องหาทางเพิ่มรายได้ ขณะที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาช่วยเหลือด้วยการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมา โดยเน้นไปที่ผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งหากทำให้คนเหล่านี้มีเงินเพิ่มขึ้นเดือนละ 500-1,000 บาท ก็จะช่วยได้มาก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ” นายประมนต์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น