xs
xsm
sm
md
lg

รุมสอนมวย"ครม.หุ่นเชิด" มั่วข้อมูลล้ม"ซีแอล"ยามะเร็ง"ไชยา"คุยรวยไม่ต้องกลัวบ.ยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้ป่วยตบเท้าพบ “ไชยา” ลั่นถ้าจะยกเลิกซีแอลยามะเร็งต้องมีเหตุผล และมีวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่ดีกว่า พ้อทำจริงคงทำอะไรไม่ได้เพราะ “เขาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ลั่นพร้อมลุกฮือ ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งเตือนระวังบาปกรรม ตัวเองหรือญาติเป็นมะเร็งแล้วจะรู้สึก น้อยใจถูกไล่ไปกินดอกไม้จันแทนยา ด้านรัฐมนตรียันยังไม่ล้ม แค่ขอทบทวน เพราะห่วงไทยถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชี PFC ฟุ้งบ้านรวยไม่ต้องกลัว บ.ยาวิ่งเต้น ขณะที่ ก.พาณิชย์ ชูรักแร้หนุน รมว.สาธารณสุข เชื่อส่งผลดี

เวลา 12.30 น. วานนี้ (8 ก.พ.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้บริโภค ฯลฯ จำนวนกว่า 50 คน เดินทางมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเข้าพบนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กรณีที่นายไชยา ประกาศจะทบทวนการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) แต่เนื่องจากนายไชยา ยังติดภารกิจ เลขานุการ รมว.สาธารณสุข จึงได้ขอเลื่อนเวลานัดหมายกับกลุ่มผู้ป่วย จากเดิมเวลา 13.00 น. เป็นเวลา 15.00 น. ทั้งนี้ ระหว่างที่รอ กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยตะโกนเสียงดังว่า "ถูกต้อง ถูกใจ" พร้อมเพรียงกัน

อัดเป็นใหญ่ในแผ่นดินทำอะไรก็ได้

นายนิมิตร์ กล่าวว่า การที่เครือข่ายผู้ป่วยมาในครั้งนี้ ไม่ได้มาเรียกร้องอะไร เพียงมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1. พวกเราไม่ต้องการให้ยกเลิกการทำซีแอลที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัสเอดส์ ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง ยารักษาโรคมะเร็ง

2. ถ้านายไชยาจะแก้ไขซีแอลกับยารักษาโรคมะเร็ง ฝ่ายเครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการพิจารณา ไม่อยากให้ รมว.ตัดสินใจจากการฟังข้อมูลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และ 3. นายไชยา ถือว่าเป็น รมว.ใหม่ของกระทรวงนี้ ดังนั้น ก่อนการแถลงนโยบายใดๆ ควรจะต้องมีความรอบคอบ ปรึกษาฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

"น่าเสียใจที่รัฐมนตรี รีบเสนอข้อมูลที่จะส่งผลกระทบต่อการทำซีแอล การเป็นผู้บริหารต้องรอบคอบในการตัดสินใจ วันนี้ไม่ได้มาเรียกร้องอะไร แต่อยากขอเหตุผล ในการที่มีแนวคิดจะทบทวน เพราะเมื่อฟังจากน้ำเสียงดูเหมือนจะไปในทิศทางยกเลิกการทำซีแอลยามะเร็ง ซึ่งจะทำให้เสียประโยชน์มาก หากจะยกเลิกรัฐมนตรี ต้องมีเหตุผลว่าจะดำเนินการให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างไรที่ดีกว่าวิธีการทำซีแอล แต่หากยืนยันจะยกเลิกจริงๆ พวกเราคงทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" นายนิมิตร์ กล่าว

ผู้ป่วยแช่งระวังกรรมตามทัน

นางสายชล แซ่ลิ้ม รองประธานฝ่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ชมรมชี่ไดนามิกส์ ประเทศไทย ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งมดลูกระยะที่ 4 กล่าวว่า ไม่คาดหวังกับรัฐมนตรีว่าจะทำซีแอลตัวยาต่อไป เพราะแม้ประกาศที่มีการประกาศลงนามไปแล้ว ก็ยังจะมีการทบทวน

"คนมีอำนาจที่ไม่ยอมอนุมัติให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้นั้น ถือเป็นบาปกรรม เมื่อที่ตัวเองหรือญาติเป็นมะเร็ง ถึงจะรู้สึกว่าชีวิตของผู้อื่นก็มีค่าเช่นกัน เมื่อนั้นถึงมีเงินฉีดยาเข็มละแสน เข็มละล้าน ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะจิตใจไม่มีเมตตา" นางสายชล กล่าว

"ไชยา"กร้าวไล่ไปกินดอกไม้จัน

ต่อมา เวลา 15.00 น. นายไชยาได้เดินทางมาถึงกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจึงเปิดการเจรจาหารือ ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างวุ่นวาย เนื่องจากเครือข่ายผู้ป่วยฯ ไม่พอใจกับคำตอบที่ได้รับว่า จะมีจุดยืนในการทำซีแอลอย่างไร โดยยังคงเปล่งเสียง “ถูกใจ ถูกต้อง” เป็นระยะๆ

นายไพศาล จงอนุรักษ์ อดีตประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อภาคกลาง เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือ ตนเองได้พูดขึ้นว่า "ถ้าท่านทบทวนยกเลิกซีแอล ผมคงไม่มียากิน แต่ผมต้องกินยาทุกวัน ดังนั้นผมคงต้องคิดแล้วว่า ต้องกินยาอะไรต่อ" ตอนนั้นตนเองนึกชื่อ ยาฆ่าหญ้าไม่ออก เลยถามเพื่อนว่า ยาฆ่าหญ้าชื่ออะไรนะ ซึ่งรัฐมนตรีตอบกลับมาว่า " ถ้าเป็น เขาให้กินดอกไม้จันแล้ว" พอเพื่อนบอกว่า ยากรัมม๊อกโซน ตนจึงบอกตอบไปว่า "ดอกไม้จันผมไม่กิน ผมกินยาฆ่าหญ้า"

นายไพศาล กล่าวด้วยว่า ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไร แต่พอกลับมานั่งคิด ก็เห็นว่า รัฐมนตรีมีมุมอยู่มุมหนึ่งว่า ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อสมควรขึ้นเมรุแล้วใช้ดอกไม้จันได้เลย

"ไม่รู้นะ นี่เป็นความคิดของผม แต่มันตีความได้แบบนั้น ท่านรัฐมนตรีตีค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเราน้อยเกินไป"

ขณะที่นางสายชล แซ่ลิ้ม รองประธานฝ่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ชมรมชี่ไดนามิกส์ ประเทศไทย พยายามบอกข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งว่า แท้จริงแล้วมีมากถึง 50,000 คน ไม่ใช่ 15,000 คน ตามข้อมูลของรัฐมนตรี

ยันยังไม่ยกเลิกแค่ทบทวน

นายไชยา กล่าวกับกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยว่า สาเหตุที่ต้องทบทวนการทำซีแอลใหม่ เพราะได้เห็นหนังสือของกระทรวงพาณิชย์ ลงนามโดย นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 เรื่องแสดงความเป็นห่วงต่อการทำซีแอล ยามะเร็ง โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ใช้กฎหมาย มาตรา 301 พิเศษ โดยจะจัดสถานะไทยจากเดิมเป็นประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ขั้นรุนแรง (PFC) ซึ่งเป็นการตอบโต้ขั้นรุนแรงมากที่สุด
 
หนังสือฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ของสหรัฐฯ(ฟาร์ม่า) จัดทำความเห็นเสนอสมาคมผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)ให้เลื่อนสถานะของไทยเป็นประเทศ PFC ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อประเทศที่อยู่ในบัญชี PFC ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ดังนั้น ขอให้สธ. ระมัดระวังในการดำเนินการซีแอล โดยให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจจะดีกว่า ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้จัดส่งถึงนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งต่อมานายโฆสิต ได้เป็นประธานในการนัดประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายในวันที่ 4 ม.ค.51 คือ สธ. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศ แต่ไม่สามารถหารือได้ เนื่องจาก รมว.สธ. ขณะนั้นติดภารกิจต่างประเทศ

"ไม่ต้องมาห่วงผมว่าผมจะเดินตามเกมเขา ผมไม่ใช่คนขี้จั๊กกะจี้ ผมจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูผลประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ซึ่งผมพูดไปก็เหมือนประจานรมว.สธ. คนเก่า" นายไชยากล่าว

ฟุ้งบ้านรวย ไม่ต้องกลัวบ.ยาวิ่งเต้น

นายไชยา กล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า ขอให้เครือข่ายผู้ป่วยฯ อย่าพึ่งวิตกจริต คำว่า ทบทวนต่างจากคำว่า ยกเลิก ทบทวนอาจหมายถึงเดินหน้าทำซีแอลยามะเร็งต่อไปก็ได้ หากเชิญบริษัทยามาเจรจาแล้วไม่ยอมลดราคาให้ แต่ที่ผ่านมาจากการทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์ ช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณ 500 ล้านบาท ขณะที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องสูญเสียรายได้เป็นหมื่นแสนล้านบาท อีกทั้ง การยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 2 พันล้านบาท

"สิ่งที่พวกคุณกลัวคือ เข้าไม่ถึงยา ขอบอกว่าอย่ากลัว รัฐบาลกลางจะต้องจัดสรรหางบประมาณมาช่วยเหลืออยู่แล้ว ถ้าช่วยให้พวกคุณเข้าถึงยา แต่เสียหายทั้งประเทศ ก็ยอมไม่ได้ ซึ่งมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ผมพยายามพิจารณาแล้วว่าไม่เข้าข่ายให้ไทยทำซีแอลได้ กฎหมายมีไว้ให้คนใช้ อย่าอยู่เหนือกฎหมาย ผมมาโดยประชาชน ประชาชนกาเบอร์ให้ผม เพราะฉะนั้นประชาชนต้องมาก่อน" นายไชยา กล่าว

นอกจากนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์ มีตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยถามแทรกขึ้นมาว่า ขอคำตอบแค่ว่าท่านจะเอาชีวิตคนเป็นหลัก หรือเศรษฐกิจเป็นหลัก นายไชยา ตอบว่า ทุกคนมีหุ้นของประเทศไทยคนละหุ้น ชีวิตของประชาชนก็ต้องสนใจ ขณะเดียวกันการค้าระหว่างประเทศก็ต้องสนใจ แต่ตนต้องห่วงประเทศชาติ เมื่อมีการทบทวนไม่ได้ยกเลิก ก็จะต้องหาช่องทางบริษัทยามาหารือกัน ตนไม่ได้พูดเข้าข้างใคร ระหว่างนั้นมีผู้ป่วยถามแทรกอีกว่า ตอนนี้บริษัทยาวิ่งเต้นมากเลยใช่ไหม นายไชยา ตอบกลับทันทีว่า "ไม่ต้องกลัว บริษัทยาไม่รวยเท่าขนหน้าแข้งผมหรอก พวกคุณเห็นบ้านผมหรือยัง"

"หมอวิชัย"เผย บ.ยาเล่นแง่

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม( อภ.) อดีตประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ(ซีแอล) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ประมาณปลายเดือน ธ.ค.50 บริษัทยาแห่งหนึ่งได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงพาณิชย์ ร้องเรียนการทำซีแอลยาะมะเร็ง ซึ่งต่อมานายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น จึงได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สธ. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศ โดยนัดประชุมวันที่ 3 ม.ค.51
 
แต่ นพ.มงคล ติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้ตน และ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหรและยา (อย.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายา เข้าประชุมแทน และมีอำนาจเต็มที่ แต่ก็น่าเสียดายที่มีเลื่อนประชุมจนกระทั่งรัฐบาลหมดวาระไป ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนการทำซีแอลยามะเร็งทั้งหมด สธ. จะชี้แจงผ่านสมุดปกขาว "คำตอบต่อ 10 ประเด็นสำคัญในเรื่องการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาต้านโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตร ทั้ง 4 รายการ" ซึ่งจะลงประกาศในเว็บไซต์ของ สธ. www.moph.go.th ในเร็วๆ นี้

"ฟังดูแล้วมันแปลกๆ บริษัทยาบอกว่าไม่เคยเจรจากับ สธ. หากเขาเขียนหนังสือแจ้งอย่างนั้นจริง ถือเป็นการให้ข้อมูลไม่ตรงความจริง ซึ่งบริษัทนี้เล่นแง่มาตลอด"นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงแล้ว นพ.ศิริวัฒน์ ได้มีการเจรจาต่อรองราคายามะเร็งกับ 3 บริษัทยาประมาณ 12 ครั้ง และที่สำคัญแม้จะไม่มีการเจรจากับบริษัทยา เขาก็ไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุผลที่จะมาฟ้องร้องเราได้ เพราะเราทำซีแอลตาม มาตรา 51 พ.ร.บ.สิทธิบัตร ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องเจรจาร่วมกับบริษัทยาก่อน รวมถึงกฎกติกาสากลความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ข้อตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลก(WTO)และคำปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และสาธารณสุข ก็ไม่ได้ระบุให้ต้องเจรจากับก่อน

ลั่นพร้อมลุกฮือประท้วง

นายนิมิตร์ กล่าวภายหลังได้หารือกับนายไชยาว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาของรมว.สธ. ที่จะขอเงินจากกระทรวงการคลังมาเติมในส่วนที่ซีแอลช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ 500 ล้านบาท เป็นการคิดง่ายเกินไป คนระดับรัฐมนตรี ควรจะคิดแก้ปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่มารื้อสิ่งดีๆ ที่ทำไว้แล้ว การที่จะไปของบกระทรวงคลังเพิ่มก็รู้อยู่แล้วว่า งบประมาณมีปัญหา ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลย จะเอาเงินมาจากไหน เพราะแม้แต่งบค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบประกันสุขภาพก็ยังน้อยอยู่ หรือจะเอาเงินส่วนตัวมาให้ จะจ่ายได้สักกี่ครั้ง

"ฟัง รมว.สธ.พูดแล้วก็รู้สึกห่อเหี่ยวใจ เหนื่อย และสงสารตัวเอง และเครือข่ายฯ ที่จะจะต้องสู้อีกนาน รู้สึกไม่เชื่อใจรมว.สธ.เลย ข้อมูลที่รัฐมนตรีพูดวันนี้ แสดงชัดอยู่แล้วว่า พูดโดยไม่มีข้อมูล และไม่เข้าใจระบบสาธารณสุขเลย ขณะเดียวกันเราก็ต้องติดตามสถานการณ์ข้อมูลอย่างใกล้ชิด หากมียกเลิก แก้ไข ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และหากไม่แก้ไขปัญหา หากต้องมีการเกิดขบวนประท้วงก็ต้องทำ" นายนิมิตร์กล่าว

“พาณิชย์”ยกมือหนุน สธ.เลิก CL ยามะเร็ง

นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรณีนายไชยา ได้ประกาศว่า จะมีการทบทวนการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) กับยามะเร็งนั้น น่าจะเป็นเรื่องดีต่อการทบทวนการใช้มาตรการ301 ของสหรัฐฯ กับการจัดอันดับประเทศละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ที่น่าจะมีสัญญาณกลับไปเป็นกลุ่มประเทศถูกจับตามอง (WL) หลังสหรัฐฯ เลื่อนไทยเป็นกลุ่มประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เมื่อปี 50 และจะไม่ถูกเลื่อนขึ้นเป็นกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดขั้นรุนแรง (PFC) อย่างแน่นอน

"ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเปิดรับข้อมูลจากนานาประเทศ เพื่อประกอบการทบทวนการจัดอันดับประเทศละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากไม่มีแรงกดดันด้าน CL ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลให้สหรัฐฯ อ้าง และคงไทยอยู่ในบัญชี PWL หรือปรับเพิ่มบัญชีเป็น PFC เพราะปีที่ผ่านมารัฐได้มีการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอให้รมว.พาณิชย์ ได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว"นางพวงรัตน์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แสดงความเห็นด้วยกับการยกเลิกการประกาศใช้ CL กับยามะเร็ง เพราะผลเสียมากกว่าผลดี หากสหรัฐฯ ใช้เป็นข้ออ้างปรับบัญชีประเทศไทยเป็น PFC จะทำให้ไทยมีแนวโน้มถูกตอบโต้ทางการค้า เช่น การยกเลิกการให้สิทธิทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทยในบางรายการที่ ไทยกำลังยื่นขอทบทวนคืนสิทธิ์จำนวน 6 รายการ ที่จะทบทวนในช่วงกลางปี 51 หรือใช้มาตรการทางการค้าอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม กรมฯได้มีการประเมินสถานการณ์แล้ว โอกาสที่ไทยยังคงเป็นกลุ่มประเทศ PWL อีกปีมีสูง เนื่องจากแผนปฎิบัติในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินยังไม่โดดเด่น และสหรัฐฯ กำลังจับตามองไทยในเรื่องการละเมิดด้านตำราเรียน และวิชาการมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น