xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนเริ่มสันสน 30% หอการค้าฯ จี้ "เลี้ยบ-ธาริษา" เร่งสรุปด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชน ยอมรับ สับสนการตัดสินใจยกเลิกกันสำรอง 30% ของรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้ คลัง-แบงก์ชาติ เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาคธุรกิจและนักลงทุนสับสน พร้อมระบุ ตัวเลขกำลังการผลิตที่แท้จริงอยู่ที่ระดับ 75% รัฐบาลควรใช้มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้เหมาะสม ระบุ "คลัง-อุตสาหกรรม-พาณิชย์" ต้องหารือกันมากกว่านี้

วันนี้(19 ก.พ.) นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 489 รายจาก 9 สาขาการผลิต เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์ 489 ราย ระหว่างวันที่ 11 ธ.ค.50 - 28 ม.ค.51 โดยตั้งสมมุติฐานว่า อัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันไม่ต่ำกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ แสดงความเห็นว่า หากเงินบาทและราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับดังกล่าว ภาคธุงกิจคงจะเริ่มมีการปิดกิจการ ลดการจ้างแรงงาน โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในปี 2551 ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า การผลิตจะไม่เปลี่ยนแปลง หรือมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าเดิม และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน ได้แก่ การแทรกแซงเงินบาท ส่วนประเด็นรองลงมา ได้แก่ การพยุงราคาน้ำมัน และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

นายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานอนุกรรมการการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเงินบาทปีนี้แข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกที่เคยคาดว่า จะขยายตัวในอัตรา 12% จะเหลือเพียง 4.6% ขณะที่หากเงินบาทไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกจะขยายตัวในอัตราที่ติดลบ โดยทุก 1 บาท ที่แข็งค่าต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง 0.2% โดยผู้ประกอบการคงต้องหาความอยู่รอด ด้วยการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศแทนในประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ขณะเดียวกัน หากเงินบาทยังผันผวนและราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น จะทำให้โรงงานไม่สามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าได้ และไม่สามารถกำหนดราคาเพื่อการส่งออกได้ และจะสูญเสียตลาดส่งออกในที่สุด ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน

ขณะเดียวกันการจะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% รัฐบาลควรมีคำตอบที่ชัดเจน เพราะหากรัฐบาลและแบงก์ชาติ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ผลกระทบจะเกิดกับผู้ประกอบการที่ยังมีความกังวล ขณะที่นักเก็งกำไรก็เข้ามาฉวยโอกาสมากขึ้น

"ธปท.ควรสร้างความชัดเจนโดยเร็ว เพราะการออกข่าวรายวัน ทำให้เกิดการเก็งกำไรหนักขึ้น และที่ผ่านมา ธปท.ออกมาให้ข่าวว่า มีผู้ส่งออกเร่งขายดอลลาร์และเก็งกำไร แต่ก็ไม่เคยระบุได้ว่า ใครเป็นคนเก็งกำไร และไม่สามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการกันสำรอง 30% หากตัดสินใจว่า จะยกเลิก ก็ควรต้องมีมาตรการเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย"

นายชัยนันท์ กล่าวว่า จากเศรษฐกิจขณะนี้ การใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 75% แต่หากภาครัฐไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอย่างชัดเจน ก็จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะกำลังการผลิตไม่สามารถเร่งหรือเพิ่มได้ทันที ดังนั้น ในภาพรวมกระทรวงคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องหารือกันมากกว่านี้ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งการส่งออกและการบริโภคในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น