xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

พลานุภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การชุมนุมเป็นหนึ่งใน ‘เสรีภาพ’ ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่ารัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตยต่างไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ด้วยนอกจากจะเป็นภาพสะท้อนการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐบาลที่ด้อยประสิทธิภาพจนประชาชนต้องออกมาเรียกร้องแล้ว บ่อยครายังยึดโยงกับการทุจริตคอร์รัปชัน เอื้อประโยชน์ครอบครัวพวกพ้องจนคนส่วนใหญ่ไม่อาจทนไหว

การลิดรอนเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมทั้งในที่ลับหรือเปิดเผยถ้อยแถลงผ่านสื่อมวลชนโดยนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐในเชิงของการข่มขู่ทางธุรกิจ คุกคามทางร่างกาย หรือกระทั่งใส่ร้ายป้ายสีว่าขัดขวางประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติจึงถูกนำมาใช้เสมอๆ เพื่อตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกรณีที่กระทบภาพลักษณ์รัฐบาลอย่างหนักหน่วง

ทั้งที่โดยหลักการ คุณูปการ และความจำเป็นนั้นก็ชัดเจนแล้วว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพตามระบบประชาธิปไตยที่ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2540 ต่างก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดถึงขนาดบัญญัติไว้ในมาตรา 63 และ 44 ตามลำดับ ด้วยใจความเดียวกันคือ ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ’

อีกทั้งยังย้อนรอยไปได้ไกลถึงปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ข้อ 4 ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1948 ว่าด้วยบุคคลมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการประชุมร่วมกันโดยสันติ ยิ่งกว่านั้นยังสอดผสานกับกระแสประชาธิปไตยพหุนิยมที่เป็นสภาวะของโลกหลังสมัยใหม่ที่เน้นความหลากหลาย

ทว่าการณ์กลับว่ารัฐบาลไทยทุกชุดทั้งก่อนหน้าและระหว่างดำรงตำแหน่งในห้วงบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ต่างมองเสรีภาพในการชุมนุมเป็นปฏิปักษ์ ดังที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐมักใช้อำนาจ ‘เอกสิทธิ์’ ที่จะอนุญาตให้สาธารณชนชุมนุมได้หรือไม่ได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจักประจักษ์ว่ายึดหลักสันติวิธี ไม่มีอาวุธ และความวุ่นวายก็ตามที

เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นลายลักษณ์อักษรบนรัฐธรรมนูญที่ประชาชนจักต้องปฏิบัติการทางอำนาจเอง ไม่อาจวอนขอให้รัฐหยิบยื่นให้ได้!

การปฏิบัติการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้ปรัชญาสันติวิธีจึงเป็นกลจักรขับเคลื่อนเสรีภาพในการชุมนุมให้ก้าวหน้า และประชาชนที่มาชุมนุมก็จะได้รับการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายสูงสุดถ้าการชุมนุมนั้นๆ ถ้อยถัก 4 องค์ประกอบทั้ง ‘โดยสงบ ปราศจากอาวุธ อยู่ในที่รโหฐาน และในสภาวการณ์ปกติ’ ได้ครบถ้วน

กระนั้น รัฐบาลก็จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ด้วยข้อต่อสู้ว่า 1) บุคคลมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้บริการสาธารณะของรัฐโดยเสมอภาคกัน 2) หน้าที่เคารพและรับผิดชอบต่อสิทธิในการใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะ และเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเดินทางของบุคคลอื่น และ 3) หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของรัฐ โดยการตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เช่น พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2475 พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216

ตลอดจนการนำร่าง พ.ร.บ.เฉพาะเรื่องมาใช้ขัดขวางการชุมนุมด้วยสารพัดข้ออ้างอย่างขัดขวางการจราจร หรือไม่ก็ก่อให้เกิดความสกปรกในบ้านเมือง โดยไม่ใส่ใจว่าการนำ พ.ร.บ.ฉบับนั้นๆ มาใช้จะผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

มากกว่านั้น รัฐบาลยังจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้หากก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเป็นการชุมนุมที่ขู่เข็ญว่าจะใช้หรือใช้กำลังประทุษร้าย รวมถึงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

ทว่าที่เป็นประเด็นโต้แย้งมากจากสังคมกลับเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะด้วยข้ออ้างเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ เนื่องจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยยืนยันหนักแน่นทางรูปธรรมว่าการชุมนุมที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อสังคมจำต้องดำเนินการผ่านพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในเชิงของสัญลักษณ์อย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ธรรมศาสตร์ หรือกระทั่งห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

การชุมนุม 14 ตุลา 16 พฤษภา 35 และล่าสุดกับการชุมนุมคัดค้านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จึงฉายชัดอานุภาพของการชุมนุมในที่สาธารณะที่แม้จะเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทว่ารัฐบาลทั้งเผด็จการและประชาธิปไตยต่างก็หวาดผวา และพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง โดยไม่นำพาว่าการสลายการชุมนุมนั้นประชาชนจะบาดเจ็บล้มตายหรือไม่

ต่างจากอารยประเทศอย่างเยอรมนีที่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหากเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชุมนุมไว้ชัดเจน ทั้งในส่วนของผู้รับผิดชอบจัดการชุมนุม การแจ้งล่วงหน้าถึงการชุมนุม สถานที่ชุมนุม และลักษณะการชุมนุมว่าจะมีการเคลื่อนผู้ชุมนุมออกนอกสถานที่หรือไม่มี โดยที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองอาจปฏิเสธสิทธิในเสรีภาพดังกล่าวได้ แต่ก็ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครองโดยใช้ระบบไต่สวนฉุกเฉินโดยศาล

แน่ละ แม้เทคนิคการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีหลากหลาย ทั้งการลงประชามติ ประชาพิจารณ์ การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ ทว่าหากวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้กรอบเวลาจำกัดแล้ว การชุมนุมนับเป็นเทคนิคชั้นเยี่ยมในการผลักดันประเด็นต่างๆ ทางสังคมทั้งร้อนและเย็น ขอเพียงแต่ผู้จัดการชุมนุมและผู้มาเข้าร่วมยืนหยัดในหลักการของความสงบและปราศจากอาวุธ รวมถึงที่สำคัญต้องวางจุดยืนของการชุมนุมบนฐาน ‘ธรรม’ ให้มั่นคงเสียก่อน

ธรรมที่แปรสภาพมาเป็นการต่อกรกับความเดือดร้อนจากนโยบายรัฐที่ฉกฉวยแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นโดยประชาชนรากแก้วในชนบท และการไม่ยอมศิโรราบกับการฉ้อฉลคอร์รัปชั่นหรือฟอกตัวผิดเป็นถูกผ่านกระบวนการเสียงข้างมากในสภาของรัฐบาลโดยคนชั้นกลางในเมือง

ถึงแม้ว่าจะมีความต่างในการเคลื่อนไหวชุมนุมอยู่ที่ประชาชนรากแก้วจะใช้ ‘ความรู้สึก’ นำ ส่วนชนชั้นกลางในเมืองจะใช้ ‘ความรู้’ จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่านำก็ตาม หากกระนั้นล้วงลึกลงไปล้วนมาจากรากเดียวกันคือ ต่างทนไม่ได้กับความอยุติธรรมที่รัฐยัดเยียดให้

ฉะนั้นการออกแบบรูปแบบและเนื้อหาของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมจึงต้องพยายามผนึกความรู้สึกเข้ากับความรู้ให้เป็นหนึ่งเดียวมากสุด ด้วยความรู้ที่ไร้ความรู้สึกนั้นก็เป็นแค่อำนาจที่ถูกขัดฟอกจนขาวสะอาดและสุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้ผิดๆ ขณะเดียวกันการใช้แต่ความรู้สึกโดยไร้ความรู้เลยนั้นก็ไม่อาจต้านทานนโยบายสาธารณะของรัฐที่ชอบอ้างข้อมูลตัวเลขวิทยาศาสตร์ได้

การปรับตัวของภาคประชาชนจึงต้องดำเนินไปในท่วงทำนองนี้หากปรารถนาให้การชุมนุมมีพลานุภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมตามที่ปวารณาไว้ได้ ในขณะที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเรียนรู้หัวใจประชาธิปไตยที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐห้ามการชุมนุม หรือสลายการชุมนุมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่การชุมนุมมีแนวโน้มไปสู่ความวุ่นวายหรือจลาจล แม้จะมีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมได้แต่ก็ต้องใช้มาตรการที่เบาที่สุดอย่างการเตือน การใช้น้ำไล่ ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ก๊าซน้ำตา กระสุนปลอม หรือกองกำลังสลายการชุมนุม เป็นลำดับถัดไป

ด้วยที่ผ่านมา การเลือกใช้มาตรการรุนแรงในการสลายการชุมนุมเป็นลำดับแรกๆ จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ดังเหตุการณ์สลดใจในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ณ สะพานจุติ-บุญส่ง 20 ธันวาคม 2545 โศกนาฏกรรมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 หรือเถื่อนถ่อยอย่างการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 21 สิงหาคม 2549 ที่หนึ่งในนั้นเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ชั้นผู้ใหญ่

บทเรียนการสลายการชุมนุมด้วยข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยและกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธจึงมักมาพร้อมกับการใช้อำนาจกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มากกว่านั้นภายหลังการชุมนุมยุติ การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารยังตามมามหาศาล ดังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และตากใบที่ถูกทำลายข้อเท็จจริงลงไปโดยผู้นำรัฐนาวา

การรับประกันบทบาทของสื่อในการนำเสนอข้อมูลภายหลังการชุมนุมสุดสิ้นจึงจำเป็นยิ่ง อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่อาจทำได้อีกแล้ว รูปแบบการเข้าร่วมชุมนุมผ่านการรับชมการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตหรือดาวเทียมเพื่อแสดงความคิดความเชื่อทางการเมืองจึงเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจยิ่ง

การชุมนุมจึงเป็นเส้นทางสายเข้มข้นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนด้วยมอบพลานุภาพแก่มวลชนในการตัดสินใจ ที่ไม่ได้สิ้นสุดแค่การทำให้ความคิดเห็นหรือข้อมูลของพลเมืองมีความสำคัญกระทั่งส่งผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายสาธารณะของผู้มีอำนาจเท่านั้น ทว่าสิทธิในการเดินขบวนที่ดำรงอยู่ในหลักการของเสรีภาพในการชุมนุมนั้นยังเป็นพลังต่อรองให้รัฐบาลมหาอำนาจต่างชาติหันมาเคารพการตัดสินใจของประเทศเล็กๆ อย่างไทยได้ด้วย

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลอยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยเหตุใด ก็อย่าทำลายเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่เช่นนั้น ‘อาวุธทางปัญญา’ ที่เพิ่มพูนและไหลเวียนภายในการชุมนุมแต่ละครั้งจักพวยพุ่งดั่งศรอรชุนสู่อกของรัฐบาลแน่แท้ เหนืออื่นใดอย่ากล่าวพล่อยๆ ว่าเสรีภาพการชุมนุมเป็นใบเบิกทางให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร เสี่ยงต่อการเข้ามาแทรกแซงของมือที่สาม หรือเป็นปรปักษ์ต่อความสมานฉันท์สามัคคี.

(คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) www.thainhf.org)
กำลังโหลดความคิดเห็น