xs
xsm
sm
md
lg

แม่รำพึง (2) เรากำลังสู้กับยักษ์ เมื่อรัฐจับมือกับทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะมีประเทศใดอีกในโลกที่รัฐกับทุนจะจับมือถือแขนอย่างโจ่งแจ้งเช่นประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งแห่งนี้

หากสังเกตดูดีๆ ระยะหลังๆ ช่วงปีสองปีมานี้มักจะมีข่าวคราว สกู๊ป หรือบทความที่นำเสนอถึงความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องมีโรงถลุงเหล็ก ด้วยเหตุผลว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าเหล็กประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และความหวั่นเกรงที่จะถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามไล่กวด

ด้วยมูลค่าตัวเลขทางเศรษฐกิจมหาศาล, อาการ Phobia กลัวความพ่ายแพ้ และข้อมูลต่างๆ ที่ระบุว่า ประเทศไทยต้องมีโรงถลุงเหล็กให้ได้ การคัดค้านไม่เอาโรงถลุงเหล็กจึงกลายเป็นความผิดบาปถึงขั้นเนรคุณต่อประเทศ

การคัดค้านโรงถลุงเหล็กในเครือสหวิริยาของ กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ของชาวบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ และถูกเรียกร้องให้เสียสละ (อีกตามเคย) ด้วยคำพูดที่ฟังดูมีเหตุผลเกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักของผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ยังเป็นกรอบการมองที่ไม่เคยหลุดพ้นจากเรื่อง ‘มูลค่า’ และละเลย ‘คุณค่า’ ของชีวิต วิถีวัฒนธรรม และรกรากของชาวบ้านบางสะพานที่จะต้องเสียสละ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นคนเห็นแก่ตัวที่คนเมืองซึ่งไม่ได้รับผลกระทบใดๆ พร้อมจะมองอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน การต่อสู้ของภาคประชาชนซึ่งถูกยกระดับและพัฒนามาตลอดก็ไม่ใช่การคัดค้านแบบเอาสีข้างเข้าตะแบง แต่ชาวบ้านเองก็ศึกษาหาข้อมูลทางวิชาการสำหรับโต้กับโครงการขนาด 5 แสนล้านบาทได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

ชาวบ้านแม่รำพึงเปรยกับเราว่านี่คือการสู้กับยักษ์ ที่ไม่ใช่เฉพาะทุนเท่านั้น แต่ยังมีมือที่มองเห็นชัดๆ อย่าง ‘รัฐ’ คอยจุนเจือทุน ชนิดที่ว่าถ้าเป็นกีฬาก็ต้องเรียกว่ากรรมการไม่มีความเป็นกลางเอาเสียเลย (ไม่นับกองเชียร์หรือกระแสสังคมที่ไม่ค่อยจะเชื่อใจชาวบ้านอยู่แล้ว) ซึ่ง สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นด้วยว่ากรณีนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับทุนเพื่อฉกชิงทรัพยากรธรรมชาติจากชาวบ้านที่ชัดเจนที่สุด

เปล่า, นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่ไร้ซึ่งข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ แต่มันดำรงอยู่แบบตำตาจนระคายตา...

1

นับตั้งแต่ปี 2548 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเหล็กขั้นต้นของเครือสหวิริยา ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นมากระบวนการอุดหนุนจุนเจือต่างๆ ก็ตามมาระลอกแล้วระลอกเล่า เริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติให้มีการส่งเสริมโครงการนี้ในระยะที่ 1 โดยรัฐจะยกเว้นภาษีให้กับโครงการนี้ถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีหนังสือถึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอให้เร่งรัดการใช้พื้นที่ป่าสงวนแม่รำพึงเนื้อที่ 1,297 ไร่ (ภายหลังมีการคัดค้านจนทำให้ต้องมีการปรับลดพื้นที่ขอใช้ป่าลงเหลือ 22 ไร่) และกรมชลประทานจะต้องอนุมัติการขอใช้น้ำเพิ่มเติมจากคลองบางสะพานอีก 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเพื่อส่งให้กับโรงถลุงเหล็ก

ในเชิงอุตสาหกรรมและบทบาทก็พอจะทำความเข้าใจได้ว่าเหตุใดบีโอไอจึงต้องยกเว้นภาษีให้กับเครือสหวิริยา แต่สิ่งที่ชาวบ้านไม่เข้าใจและเกิดคำถามก็คือทำไมต้องเอาพื้นที่ป่าแม่รำพึงที่ผูกโยงกับวิถีชีวิต การทำมาหากินและน้ำไปยกให้โรงถลุงเหล็ก โดยที่ไม่ถามไถ่ว่าชาวบ้านยินยอมพร้อมใจหรือไม่

ขณะที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอฉบับแรก ซึ่งทางเครือสหวิริยาได้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ทำรายงานและเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก็ถูกชาวบ้านตีแผ่ถึงความคลาดเคลื่อนของข้อมูล จนทางโครงการต้องถอนออก

“อีไอเอฉบับแรกที่ผังโครงการทับป่าพรุอยู่ครั้งหนึ่ง เราเข้าใจได้ว่าบริษัท ปัญญา คอนซัลแทนต์ ที่รับจ้างทำอีไอเอ เขาเป็นลูกจ้างก็ต้องพยายามทำให้มันสร้างได้ มันจึงมีการเบี่ยงเบนข้อมูลสูงมาก ยกตัวอย่างฉบับแรกที่ถูกถอนออกไป เขาระบุว่าพื้นที่ป่าพรุแห่งนี้ไม่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่พอภาพของป่าตรงนี้ถูกตีแผ่ออกไป ทางโครงการก็ต้องถอนอีไอเอ เนื่องจากมันขัดกับความเป็นจริง จนต้องขยับผังหนีขึ้นทางด้านบน หรืออย่างอ่าวบางสะพานเราก็จะมีคลองอยู่ 3 เส้น คลองเส้นใหญ่สุดคือคลองแม่รำพึง มีความยาวจากทะเลถึงป่าพรุที่ประมาณ 4 กิโลเมตร ในการตรวจสอบของโครงการเองโดยคณะผู้ชำนาญการที่มีการวิเคราะห์พื้นที่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าคลองนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีแพลงก์ตอนพืชหนาแน่นถึง 1.5 ล้านเซลล์ต่อลูกบาศก์เมตร แต่จุดนี้ในอีเอไอไม่พยายามเขียนต่อเนื่องไปว่ามันมีผลอย่างไรกับทะเล”

สุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ชี้แจงข้อมูลกับเราและอธิบายต่อว่า พื้นที่ตรงหัวแหลมแม่รำพึงเป็นพื้นที่วางไข่ของปลาทูที่มีความหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากว่าชายฝั่งมีน้ำลึกถึง 15 เมตร และใกล้แหล่งอาหารซึ่งก็คือคลองแม่รำพึง นอกชายฝั่งจะเป็นน้ำลึกแล้ว พอหลบหัวแหลมของแม่รำพึงมาก็จะเป็นอ่าวที่ลมสงบ มีปะการัง เป็นจุดอนุบาลสัตว์น้ำและปลาทูจะกินแพลงก์ตอนพืช นี่คือความเชื่อมโยงระหว่างป่าพรุกับอ่าวแม่รำพึง หากมีการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ป่าพรุย่อมต้องส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบนิเวศทางทะเล และอาจเลวร้ายถึงขั้นล่มสลายของชาวประมงพื้นบ้าน

และขณะที่อีไอเอยังไม่ผ่านนี้ หน่วยงานรัฐก็กลับไม่ทำการระงับโครงการไว้ก่อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเฉพาะหน้าจะสามารถระงับเหตุการณ์ความขัดแย้งลงไปได้ในระดับหนึ่ง

“ถามว่าเขาหยุดมั้ย ไม่หยุดนะครับ เขาไม่ยอม ขณะที่รอการพิจารณาอีไอเอที่กรุงเทพฯ อยู่ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวก็ยังไม่หยุด แสดงให้เห็นว่าสหวิริยาทำในลักษณะไม่โปร่งใส ทั้งที่ชาวบ้านมีหนังสือยื่นคัดค้าน ประเด็นตอนนี้คืออีไอเอที่ยื่นเข้าไปใน สผ. ชุดใหม่ที่ไม่มีทางสาธารณะปรากฏอยู่ในผังโรงถลุง ทั้งที่ก่อสร้างทับพื้นที่ทางสาธารณะอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการดันทางชาวบ้านทิ้งไปหนึ่งเส้น” วิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าว

2

‘การให้’ ของรัฐยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อทางเครือสหวิริยาเคยทำหนังสือถึง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนให้กับโรงถลุงเหล็ก นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ที่มีกำลังการผลิตเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าบ่อนอกถึง 6 โรง

“โรงไฟฟ้าบ้านกรูด บ่อนอก ทับสะแก จะผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมที่บางสะพานทั้งหมด ทั้งที่ชาวบ้านที่ทับสะแกใช้ไฟฟ้าประมาณ 3-6 เมกะวัตต์เอง และวิถีชีวิตชาวบ้านโดยรวมที่ทับสะแกเป็นชาวประมงกับชาวสวนมะพร้าว ผลที่เกิดขึ้นคือมันจะทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน เราคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นที่ชาวบ้านจะต้องมารองรับผลกระทบจากการพัฒนาโดยที่ต้องเสียชีวิต สุขภาพ และอาชีพของตนเอง เพราะมีชาวบ้าน 70,000 กว่าคนนะที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกแห่งนี้” สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ให้ข้อมูลกับเรา

สิ่งเหล่านี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าวิธีคิดของรัฐในการกระจายประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรนั้นเป็นธรรมหรือไม่? เหตุใดทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนจึงต้องถูกนำไปป้อนให้กับกลุ่มทุนเพียงหยิบมือ ขณะที่ชุมชนกลับต้องเป็นผู้แบกรับภาระความเสียหาย? ยังเป็นคำถามที่รัฐไม่กล้าตอบ

“โรงถลุงมันเป็นการรุกของทุนที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้าน มลพิษมันมหาศาลมาก ไม่ว่าจะก๊าซพิษหรือกองขยะที่สูงถึง 22.5 เมตร โดยเฉพาะมันใกล้บ้านชาวบ้านมาก บางบ้านเปิดประตูหลังบ้านก็เจอกับโรงถลุงเหล็กเลย ห่างไม่เกินร้อยเมตร

“เราคิดว่าพื้นที่นี้มันมีทางเลือกที่ดีในการพัฒนาพื้นที่ มันจึงไม่เหมาะสมในการสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก เพราะมันจะต้องแลกกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ต้นทุนที่ไม่ได้บวกอยู่ในโครงการเป็นต้นทุนที่ชาวบ้านต้องรับภาระ การคัดค้านโครงการของชาวบ้านจึงไม่ใช่ดีแต่ค้านนะ แต่เขาเลือกที่จะหาแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่า ชาวบ้านเข้าใจดีว่าการพัฒนาโดยใช้ต้นทุนทางธรรมชาติที่ดีไปทำอุตสาหกรรม สุดท้ายแล้วกำไรก็จะตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว ขณะที่ความเสียหายมันเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรวม คนก็คงมีชีวิตที่แย่ในอนาคตและสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไป”


สุรีรัตน์แสดงความคิดเห็นว่าพื้นที่บ้านกรูดซึ่งอยู่ติดกับแม่รำพึงและจะได้รับผลกระทบจากโรงถลุงเหล็ก ควรจะได้รับการพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวจึงจะมีความเหมาะสมกับพื้นที่ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูงและวิถีชีวิตของชาวบ้านยังคงดำเนินไปในแบบดั้งเดิม

“การท่องเที่ยวของบ้านกรูดจุดขายคือความเป็นธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน ภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว เรื่องมลพิษเป็นเรื่องที่อ่อนไหว คนที่มาเที่ยวก็อยากอยู่กับธรรมชาติ ถ้าแหล่งนี้มันปนเปื้อนมลพิษก็คงจะทำให้มันทำลายภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว และองค์ประกอบหนึ่งของโรงถลุงคือจะต้องขนถ่ายถ่านหินและแร่เหล็กซึ่งจะต้องสร้างท่าเทียบเรือยาวออกไปประมาณ 2.4 กิโลเมตร มันเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรที่ยื่นลงไปในทะเล จะเกิดผลกระทบถาวรเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและพื้นที่ทางเหนือซึ่งก็คืออ่าวบ้านกรูดทั้งหมด มันเป็นการซ้ำเติมปัญหาการกัดเซาะที่มีอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้วให้มันหนักขึ้น คิดว่าในระยะยาวหาดบ้านกรูดจะเสื่อมโทรมลง ทั้งการทำลายธรรมชาติและวิถีชุมชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวประมงและชาวบ้านโดยรวมที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นจุดขายของที่นี่อยู่แล้ว ถ้าส่วนนี้ถูกทำลาย การท่องเที่ยวของบ้านกรูดก็จะถูกทำลายทั้งหมดเลย ซึ่งมันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคณะกรรมการไตรภาคีที่จะตั้งขึ้นมา”

3

ไม่ใช่แค่กลไกรัฐในระดับประเทศเท่านั้น แต่ในระดับท้องถิ่นที่ระบบราชการและการเมืองยังอิงแอบกับระบบอุปถัมภ์ จึงดูเสมือนว่าไม่มีใครยืนฟากชาวบ้านเลย

ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตคือการมาลงหลักปักฐานอุตสาหกรรมของเครือสหวิริยาในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี 2533 ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดเครือข่ายของเครือสหวิริยาในพื้นที่ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

อย่างกรณีของวัดดอนสำราญที่ พระศิริบุญโญ รักษาการเจ้าอาวาส บอกว่าขณะนี้ชาวบ้านแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน อย่างที่วัดนี่จะมีชาวบ้านที่สนับสนุนเป็นคณะกรรมการวัดทั้งหมด เจ้าอาวาสเองยังพูดอะไรไม่ได้เลย ส่วนชาวบ้านที่เข้ามาวัดส่วนใหญ่เป็นผู้คัดค้านมากกว่า เขาจะเข้ามาทำบุญกันจึงทำให้กลุ่มสนับสนุนเหมาว่าวัดดอนสำราญเป็นกลุ่มผู้คัดค้านไปด้วย

กรณีตัวอย่างที่ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เรื่องเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าพรุซึ่งทางเครือสหวิริยาอ้างว่ามีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ วิฑูรย์และชาวบ้านถามกันมาตลอดไม่ใช่คำถามที่ว่า ทางเครือสหวิริยามีเอกสารสิทธิหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเอกสารสิทธินั้นออกมาได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานาน หรือกรณีที่ทางเครือสหวิริยาขอเช่าพื้นที่ 1,500 ไร่ ในหมู่ 7 ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านได้จัดประชุมชาวบ้านเพื่อขอความเห็น ปรากฏว่าเห็นด้วย 40 เสียงและไม่เห็นด้วย 29 เสียง แล้วจึงส่งผลสรุปให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึง ขณะที่ชาวบ้านในหมู่ 7 นั้นมีถึง 326 คน แปลว่าผู้เข้าร่วมประชุมมีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของชาวบ้านทั้งหมดด้วยซ้ำ

หรือเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มคัดค้านและสนับสนุนในวันที่ 24 มกราคม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนนั้น ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และไม่ยอมเข้าระงับเหตุ ทั้งที่เป็นกลไกพื้นฐานที่สุดที่จะป้องกันความรุนแรง

ล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2550 ได้มีมติ ครม. ให้ประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มเติมในอำเภอกุยบุรี, ทับสะแก, บางสะพาน, สะพานน้อย, ปราณบุรี, สามร้อยยอด, หัวหิน และอำเภอเมืองประจวบฯ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่ประกาศเพิ่มเป็นพื้นที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น เกิดเป็นคำถามจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า รัฐกำลังคุกคามสิทธิเสรีภาพเพื่อหนุนหลังกลุ่มทุนใช่หรือไม่

วันนี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ในประจวบฯ จึงต้องรวมเป็นเครือข่ายพันธมิตรทั้ง 5 ประกอบด้วย-บ้านกรูด, กุยบุรี, ทับสะแก, แม่รำพึง และบ่อนอก เพื่อต่อสู้กับยักษ์ตนนี้

ไม่มีใครรับประกันได้ว่าชาวบ้านจะไม่พ่ายแพ้ แต่มีคำพูดที่น่าฟังประโยคหนึ่งว่า...

เพียงแค่ชาวบ้านคิดที่จะสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่ เพียงเท่านั้นชาวบ้านก็ชนะแล้ว

*********************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, ออรีสา อนันทะวัน

“กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง”
สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ข่าวมีรายงานออกมาเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในทางกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ ไม่ใช่ปล่อยให้ตีกันแล้วค่อยมาไล่จับ ผมหมายความว่ากลไกของรัฐในเบื้องต้นไม่ยอมทำงาน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิในการชุมนุม แต่ถ้าเป็นการชุมนุมที่ส่อให้เห็นว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าดำเนินการกับสถานการณ์เฉพาะหน้า ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

“สำหรับตัวกฎอัยการศึกในประเทศไทยเป็นตัวกฎหมายที่มีปัญหามากในปัจจุบัน กฎอัยการศึกในประเทศอื่นจะถูกนำมาใช้เมื่อมีสถานการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นภาวะสงครามหรือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมาก แต่กฎหมายของบ้านเราตัวนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และถูกแก้ไขครั้งสำคัญๆ ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ปี 2515 ฉะนั้น ผมคิดว่ากฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่นเวลาจะประกาศกฎอัยการศึกจะประกาศได้ง่ายๆ เลยว่ามีเหตุจำเป็นหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และที่ผ่านมาการใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึกมันไม่เคยถูกตรวจสอบเลย มันจึงเป็นการประกาศที่เลอะเทอะมาก อย่างตอนก่อนลงประชามติก็มีการประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีภัยอะไรคุกคาม

“กรณีนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นการจับมือระหว่างรัฐกับทุน เพราะมีหลายเรื่องที่สามารถทำให้ความรุนแรงไม่เกิดขึ้นได้ เช่น การที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่าน ถ้าหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา การดำเนินโครงการก็ยังไม่ควรจะเริ่มต้น หรือแม้กระทั่งถ้าทำแล้ว แต่ถ้ามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่โปร่งใสพอ มันก็จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ เข้ามาสู่กระบวนการได้ แต่ทั้งหมดนี้มันไม่ได้ทำ

“การประกาศกฎอัยการศึกนี้ ผมไม่รู้ว่าทางรัฐคิดไว้ก่อนหรือเปล่า แต่ถ้าดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ชัดเจนว่าพื้นที่ที่เขาประกาศกฎอัยการศึกหลายพื้นที่เป็นพื้นที่มีความขัดแย้งระหว่างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กับชาวบ้าน จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือต้องการเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต่อสู้กับโครงการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประชาชนควรจะสู้และสามารถชุมนุมอย่างสงบได้ ไม่ใช่เพื่อยกเลิกพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึก แต่ต้องไปถึงการทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เพราะตราบใดที่กฎหมายตัวนี้ยังอยู่ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้มีอำนาจรัฐคิดจะประกาศก็ประกาศ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะแม้ว่าในทางปฏิบัติทหารจะเป็นผู้ส่งเรื่องขึ้นไป เนื่องจากกฎหมายนี้ให้อำนาจฝ่ายทหารส่งเข้าคณะรัฐมนตรีแล้วจึงประกาศ แต่ในความเป็นจริงมันสามารถถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารได้

“ส่วนการฟ้องศาลปกครองผมคิดว่าค่อนข้างยาก เพราะว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึกมันเปิดอำนาจให้กับฝ่ายที่มีอำนาจค่อนข้างเยอะ ยิ่งถ้าเป็นกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันนั้นปิดประตูเลยเพราะเขาไม่ให้ศาลปกครองเข้ามายุ่ง แต่กฎอัยการศึกไม่ได้ปิดประตู ซึ่งอาจจะลองยื่นดูได้ว่าการประกาศนี้ไม่มีผลเพียงพอก็อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมา ลองสู้ดูก็ได้ในทางกฎหมาย แต่ว่าประเด็นนี้ยังไม่มีใครเคยสู้”






กำลังโหลดความคิดเห็น