xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวงมีพระบรมราชวินิจฉัยแบบพระเมรุแล้ว คาดก่อสร้างปลาย มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ตรวจพื้นที่ท้องสนามหลวงก่อนการก่อสร้างพระเมรุ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.นี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แบบพระเมรุแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดารับเป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์โครงการสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ขณะที่ “น.อ.อาวุธ”เผยสัตว์หิมพานต์ 4 ชนิด ประดับพระเมรุ ติดตั้งลิฟท์เพิ่มอีก 1 จุดเป็น 4 จุด ส่วนไม้จันทน์สร้างพระโกศจากกุยบุรี แปรรูปแล้ว 180 แผ่น เตรียมส่งมอบให้สำนักช่างสิบหมู่ 11 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเปิดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

**ในหลวงโปรดเกล้าฯ แบบพระเมรุแล้ว
คุณหญิงไขศรี กล่าวว่า ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวิจฉัยแบบพระเมรุตามที่ได้ทูลเกล้าฯ แล้ว โดยมิได้ปรับแก้ใดๆ ซึ่งจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในการก่อสร้างพระเมรุตามแผนงานที่กำหนดไว้ต่อไป ส่วนการจัดสร้างสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังเจริญพระชนมายุกระทั่งสิ้นพระชนม์ จึงเสมือนเป็นอนุสรณ์สถานถึงพระองค์ ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้ความเห็นชอบจัดตั้งสถาบันดนตรีนิวัฒนาและอนุมัติงบประมาณจำนวน 22 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างอาคารสถาบันฯ แล้ว

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยโครงการสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนามาก และทรงรับเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ โดย พลเรือตรี ม.ล.อัศนีย์ ปราโมช องคมนตรี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา และคุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ รับเป็นที่ปรึกษา คาดว่าภายใน 3-5 ปีจะสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้”คุณหญิงไขศรีกล่าว

**เลือกสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุ
ด้าน น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานอออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวว่า ความคืบหน้าของการพัฒนาแบบพระเมรุนั้น ขณะนี้มีการปรับแก้ไขแบบพระเมรุในส่วนของหลังคาที่เรียกว่า บันแถลง โดยปรับเป็นพระวิมานแต่ละชั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดสถาปัตยกรรมพระเมรุที่เชื่อว่า เขาพระสุเมรุเป็นสรวงสวรรค์ โดยมีสัตว์หิมพานต์ทวิบาท หรือสัตว์สองเท้าอาศัยอยู่ตีนเขาพระสุเมรุ ดังนั้นคณะทำงานออกแบบพระเมรุได้คัดเลือกสัตว์หิมพานต์ประเภททวิบาท 4 ชนิดที่จะใช้ประดับตกต่างบริเวณบันไดทางขึ้นพระเมรุทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

1. เทพกินนร ลักษณะครึ่งคนครึ่งนก จะประดับไว้บริเวณทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จขึ้นไปบำเพ็ญพระราชกุศลบนพระเมรุ โดยจะปั้นเทพกินนรในท่าพนมมือไหว้ แสดงการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. อัปสรสีหะ ลักษณะครึ่งคนครึ่งสิงห์ ประดับอยู่ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นด้านที่อัญเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุ โดยจะมีการปั้นอัปสรสีหะในท่าพนมมือไหว้เพื่อถวายการเคารพเปรียบเสือนการคอยรับพระศพขึ้นสู่พระเมรุด้วย

3.นกฑัณฑิมา ลักษณะถือกระบองจะประดับไว้ด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่สำหรับข้าราชการและประชาชนจะขึ้นถวายสักการะพระศพ โดยนกฑัณฑิมามีลักษณะที่น่าเกรงขาม คอยปราบปรามคนอันธพาลที่อาจขึ้นไปยังพระเมรุและ
 
4. หงส์ จะจัดสร้างลักษณะเสาหงส์ทางทิศตะวันออก สำหรับเป็นเสารับภูษาโยงในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระพิธีธรรมพระศพภายในงานออกพระเมรุ

น.อ.อาวุธ กล่าวอีกว่า การคัดเลือกสัตว์หิมพานต์ทั้ง 4 ชนิดคณะทำงานค้นคว้ามาจาก สมุดไทยดำโบราณสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งสมุดดังกล่าวเป็นการบันทึกการจัดสร้างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยมีการสร้างสัตว์หิมพานต์ตามความเชื่อโบราณราชประเพณีที่ได้นำมาอ้างอิงและใช้ศึกษาเรียนรู้จนถึงปัจจุบัน

**สร้างลิฟท์เพิ่มเป็น 4 จุด
ส่วนการจัดสร้างลิฟท์เพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น จากเดิมที่มีแนวคิดออกแบบลิฟท์ไว้ 3 จุด คือ ลิฟท์บริเวณด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินจากรถยนต์พระที่นั่งขึ้นสู่พระที่นั่งทรงธรรม ลิฟท์บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งจะใช้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบนพระเมรุ และลิฟท์บริเวณชาลาสำหรับเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังพระเมรุ อย่างไรก็ตาม ได้ออกแบบลิฟท์เพิ่มอีก 1 จุดบริเวณบันไดด้านทิศตะวะนตก เพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินด้วย

น.อ.อาวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับการออกแบบอาคารประกอบพระเมรุ ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นที่ประทับพัก และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์สดับปกรณ์ในพระราชพิธีพระราชทางเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ รวมถึงอาคารประกอบอื่นๆ เช่น ทิม ซ่าง ทับเกษตร หอเปลื้อง รั้วราชวัตร และอาคารภายนอกปริมณฑล เช่น พลับพลายก และเกย ซึ่งอาคารเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ โดยตนได้ให้ข้าราชการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรร่วมออกแบบ ซึ่งมีการแก้ไขแบบอาคารประกอบพระเมรุให้มีขนาดใหญ่กว่าอาคารประกอบพระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพราะจะต้องใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนมากกว่าครั้งงานออกพระเมรุของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คาดว่าการออกแบบอาคารทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้

**แปรรูปไม้จันทน์สร้างพระโกศ 180 แผ่น
น.อ.อาวุธกล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติธรรมชาติสัตว์ป่า และพรรณพืชได้แปรรูปไม้จันทน์หอมประมาณ 180 แผ่น เพื่อใช้จัดทำพระโกศจันทน์ ซึ่งเนื้อไม้มีขนาดความหนาครึ่งนิ้ว หน้ากว้าง 8 นิ้ว คาดว่าจะเตรียมจัดส่งมอบให้กรมศิลปากรได้ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ที่สำนักช่างสิบหมู่ รวมทั้งจะส่งไม้จันทน์ที่เหลือจากการแปรรูปนำมาใช้เป็นท่อนฟืนประดับด้านล่างของพระจิตกาธานด้วย ส่วนการประกอบพิธีบวงสรวงลงเสาเอกพระเมรุนั้น เรื่องนี้ต้องรอให้ผู้รับเหมาและคณะทำงานด้านวิศวกรรมและโครงสร้างเริ่มดำเนินการก่อสร้างเสาหลักที่เป็นโครงสร้างเหล็กของเสาหลักทั้ง 4 ด้านของพระเมรุให้เสร็จก่อน คาดว่าปลายเดือนมีนาคมนี้จึงจะประสานขอกำหนดฤกษ์ลงเสาเอกได้

**สศร.ตั้งกรรมการคัด 84 ศิลปินสร้างผลงาน
นายอภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจว่า สศร.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกศิลปิน ซึ่งประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศ.ปรีชา เถาทอง นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นายสมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ นายธีระวัฒน์ คะนะมะ นายจีระ ศิริสัมพันธ์ และนางสายไหม จบกลศึกษา เป็นต้น โดยจะคัดเลือกศิลปินจากทั่วประเทศจำนวน 84 คน ที่มีชื่อเสียง และผลงานเป็นที่ยอมรับ ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม และศิลปินรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินที่มีความโดดเด่นด้านการเขียนภาพเหมือนจริงในระดับแนวหน้า

“จากนั้นจะให้ศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม จำนวน 84 ภาพเท่ากับพระชนมายุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ แสดงถึงพระประวัติ พระกรณียกิจ พระเมตตา และพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกร โดยจะนำผลงานทั้ง 84 ภาพ ไปจัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้เข้าชมและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ณ บริเวณอาคารประกอบพระเมรุในระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ รวมทั้งนำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพด้วย” นายอภินันท์กล่าวและว่า ในวันที่ 4 ก.พ.นี้ สศร.จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อวางแผนการดำเนินการต่อไป

**เปิดตัวบทเพลง “ทูลลา”ครั้งแรก
ด้าน นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.นี้ สำนักงานปลัด วธ.จะมีการสัมมนาเทิดพระเกียรติ “สายรุ้งในพระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เวลา 14.00 น.ณ ห้องประชุมหอวชิราวุธานุสรณ์ บริเวณหอสมุดแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ได้ทรงนิพนธ์และรวบรวมเรียบเรียงหนังสือที่มีข้อมูลอันทรงคุณค่าไว้จำนวนมาก สามารถอ้างอิงและประกอบการศึกษาค้นคว้าเชิงศาสตร์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยวิทยากรประกอบด้วย คุณหญิงวงจันทร์ พินัยศาสตร์ นางริสรวล อร่ามเจริญ นางชมัยพร แสงกระจ่าง
รองปลัด วธ.กล่าวอีกว่า ส่วนในวันศุกร์ที่ 15 ก.พ.เวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ จะมีการสัมมนาเทิดพระเกียรติเรื่อง “แสงแห่งรุ้ง กับโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์” ขณะที่วันศุกร์ที่ 29 ก.พ.จะมีการสัมมนาเทิดพระเกียรติ “แสงแห่งรุ้ง หุ่นละครเล็ก” โดยรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

“สำหรับงานแสงแห่งรุ้งกับดนตรีคลาสสิก ซึ่งกำหนดจัดทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนจนถึงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ นั้น ในวันเสาร์ที่ 16 ก.พ.เวลา 14.00น.ที่ห้องประชุม หอสมุดแห่งชาติ นายณัฐ ยนตรรักษ์ ซึ่งได้ประพันธ์เพลง ทูลลา จะเปิดตัวครั้งแรกในงานนี้ ส่วนนายดำริ บรรณวิทยกิจ จะกล่าวสัมมนาในหัวข้อ เพลงคลาสสิก”นางฉวีรัตน์กล่าว

**อธิบดีกรมศิลป์ลงตรวจ พท.สนามหลวง
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร และนายปรารพ เหล่าวานิช รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจพื้นที่ท้องสนามหลวงบริเวณด้านทิศใต้ฝั่งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งจะใช้ก่อสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า บริเวณที่กรมศิลปากรจะกั้นเขตสร้างพระเมรุตั้งแต่แนวถนนที่ตัดผ่าครึ่งสนามหลวงไปทางทิศใต้ทั้งหมด เมื่อกำหนดพื้นที่แล้วจะเริ่มล้อมรั้วสังกะสีสีเขียวสูง 1.80 ม. กั้นไว้รอบๆ ทั้งหมด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ช่าง และควบคุมไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลากั้นรั้ว 15 วันจึงแล้วเสร็จ จากนั้นจะก่อสร้างอาคารชั่วคราว 3 หลังประกอบด้วย อาคารสร้างพระโกศจันทน์ อาคารปั้นหล่อลวดลาย และอาคารขยายแบบพระเมรุ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประมูลก่อสร้าง คาดว่าภายในวันจันทร์ที่ 4 ก.พ.จะเริ่มก่อสร้าง

**กั้นรั้วราชวัตรระหว่างก่อสร้างพระเมรุ
จากนั้นจะปักจุดสร้างพระเมรุตรงกลาง โดยจะมีการสร้างรั้วอีกชั้นเรียกว่า รั้วราชวัตรที่เป็นลวดลายสถาปัตยกรรมไทยรอบพระเมรุสมมติว่าเป็นบริเวณเขาพระสุเมรุ และประกอบพิธี กำหนดทางเข้าออกที่สามารถควบคุมคนเข้าออกได้ โดยจะต้องมีบัตรอนุญาต แบ่งเป็นบุคคลระดับสูงหรือวีไอพี ช่างและเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาการก่อสร้างพระเมรุ

"การสร้างพระโกศจันทน์สมัยสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีนั้น กรมศิลปากรจัดทำที่สำนักช่างสิบหมู่ แต่การทำพระโกศจันทน์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯครั้งนี้ จะยกมาทำที่อาคารสร้างพระโกศจันทน์ ตลอดจนการปั้นหล่อสัตว์หิมพานต์ ลวดลายต่างๆ จะมาทำที่สนามหลวงทั้งหมดให้ประชาชนได้เห็นกระบวนการทั้งหมด ผู้ที่จะเข้ามาดูและศึกษาวิธี ศึกษาวิชาการ จะต้องมีบัตรผ่านจากกรมศิลปากรก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายสับสน ช่างจะทำงานไม่ได้ รวมทั้งช่างจะมาขยายแบบพระเมรุด้วย" อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่กรมศิลปากรจะต้องหาทางออกโดยเร็วที่สุด คือ ระหว่างการก่อสร้างพระเมรุ เมื่อเขียนลวดลาย ประดับต่างๆ แล้ว เกรงว่านกพิราบบริเวณสนามหลวงจะมาถ่ายมูลใส่ ทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น อาจจะมีการขึงตาขายคลุมเฉพาะบริเวณพระเมรุไว้ทั้งหมด




หงส์
กำลังโหลดความคิดเห็น