xs
xsm
sm
md
lg

น่าอายที่มีรมต.ชื่อ นพดล

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

วันก่อนฟังคำแถลงของพะนะทั่นนพดล ปัทมะ ที่ออกมาส่งเสียงเตือนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วค่อนข้างจะสับสนนะครับว่า เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยอย่างที่พะนะทั่นนพดลกล่าวอ้างจริงหรือ

สรุปคำพูดของนายนพดลก็คือ ว่า

1.การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นการส่งสัญญาณให้ต่างประเทศเข้าใจว่า ประเทศไทยสถานการณ์ไม่ดี และส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

2.รัฐบาลจะไม่ยอมให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย จะไม่ยอมให้ใครมาฉุดรั้งประชาธิปไตย

3.รัฐบาลไม่ได้ห้ามการชุมนุม สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่าข่มขู่ หรือใช้สถานการณ์มาต่อรอง หรือการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลจะไม่ยอมเด็ดขาด

นายนพดลบอกว่า แต่ละประเทศจะมีโต๊ะรายงานไปยังเมืองหลวงของเขา ข่าวแต่ละข่าวสามารถวิเคราะห์ และประเมินผลออกมาได้

ผมเพิ่งทราบนะครับว่า การออกมาเคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งๆที่สิทธิการชุมนุมถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

ความจริงแล้วผมไม่จำเป็นต้องยกรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ขึ้นมากล่าวอ้างก็ได้ เพราะนายนพดลก็แถลงต่อสื่อมวลชนว่า การชุมนุมสามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผมจะถามพะนะทั่นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญให้เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมแล้ว การออกมาเคลื่อนไหว(ความจริงแล้ว พันธมิตรฯยังไม่เคยบอกเลยว่าจะออกมาชุมนุม) หรือชุมนุมสำหรับประเทศประชาธิปไตยนั้น มันส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างไร

อยากจะถามนะครับว่า ระหว่างที่ประชาชนจะใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญกับการที่รัฐมนตรีที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งข่มขู่ประชาชนว่า อย่าออกมาเคลื่อนไหว อย่างไหนที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศมากกว่ากัน

เพราะผมเข้าใจว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ออกมาเตือนประชาชนว่า อย่าออกมาเคลื่อนไหวนี่ต่างหากที่ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะชาวต่างชาตินอกจากจะสับสนในบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแล้ว เขาอาจไม่มั่นใจว่า ประเทศของเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการกันแน่

มันสะท้อนว่า แท้จริงแล้วพะนะทั่นรัฐมนตรีที่สอบตกในการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่านั้น(เคยสอบได้ครั้งหนึ่งโดยอาศัยกระแสพรรคประชาธิปัตย์ในกทม.) เข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่เพียงใด

นายนพดลเป็นนักกฎหมายเรียนหนังสือหนังหามาจากเมืองที่เรียกได้ว่า เป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตย ผมเลยไม่เข้าใจว่า นายนพดลตีความการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยว่า เป็นการใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร

นายนพดลบอกว่า อย่าข่มขู่ หรือใช้สถานการณ์มาต่อรอง หรือการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลจะไม่ยอมเด็ดขาด จากคำพูดนี้ ใครก็ได้ช่วยถามนักประชาธิปไตยในโลกนี้หน่อยสิครับว่า รัฐบาลที่อ้างว่ามาจากระบอบประชาธิปไตยข่มขู่ประชาชน หรือประชาชนข่มขู่รัฐบาล

เพราะผมยังไม่ได้ยินเลยครับว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะออกมาข่มขู่รัฐบาลตรงไหนบ้าง เนื้อหาการแถลงของพันธมิตรตลอดทั้ง 3 ครั้งก็คือ การออกมาเตือนว่ารัฐบาลอย่าแทรกแซงและบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม(ซึ่งรัฐบาลได้แทรกแซงไปแล้ว) ถ้าการพูดเช่นนี้ในระบอบประชาธิปไตยคือ การข่มขู่ผมว่า ระบอบประชาธิปไตยของผมกับของนายนพดลคงจะไม่เหมือนกัน

พูดถึงการชุมนุม จริงๆ แล้วพันธมิตรฯยังไม่เคยพูดเลยครับว่า จะออกมาเดินขบวนประท้วง(แม้จะเป็นสิทธิที่จะทำได้ และอาจต้องทำหลังจากนี้) แต่เมื่อนักข่าวถามเรื่องการชุมนุมแกนนำพันธมิตรฯก็ย้ำว่า จะกำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบตามแต่ละสถานการณ์

และอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็ตอกย้ำกับผู้สื่อข่าวที่รัฐสภาว่า แม้จะมีประชาชนออกมาเรียกร้องให้พันธมิตรฯจัดการชุมนุม แต่พันธมิตรฯจะออกมาเคลื่อนไหวในปลายเดือนมีนาคมนี้ ในรูปแบบของกิจกรรมที่ดูดี ไม่รุนแรงและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

อีกอย่างที่ผมไม่มั่นใจว่า นายนพดลที่เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษอาจจะไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ ก็คือว่า การก่อตัวเป็นรูปขบวนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เกิดขึ้นภายใต้การรับรองของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

มาตรา 64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ หมู่คณะอื่น

มาตรานี้ยังมีอีก 2-3 วรรค และบอกด้วยว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งนี้จะกระทำมิได้

แต่ผมถามพะนะทั่นนพดลว่า การรวมตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่ออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว เป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายตรงไหน ซ้ำร้ายผมคิดว่า รัฐบาลที่เอะอะก็บอกว่า ตัวเองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศต่างหากที่เป็นฝ่ายใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

รัฐบาลที่ห้ามประชาชนออกมาประท้วง เพราะอ้างว่าตัวเองมาจากระบอบประชาธิปไตยต่างหากที่ใช่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

ถ้าคำอธิบายเรื่องการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมายยังไม่กระจ่างพอ ผมอยากให้พะนะทั่นนพดลย้อนกลับไปดูการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับการชุมนุมของนปก. แล้วช่วยตอบคำถามหน่อยครับว่า การชุมนุมไหนที่เรียกว่า การใช้สิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมไหน คือการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

การออกมาพูดจาแบบนี้ ผมว่า คนทั้งโลกเขาคงสับสนนะครับว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยเข้าใจระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ที่สำคัญ ผมอยากถามด้วยว่าครับว่า แท้จริงแล้วนายนพดล เข้าใจหัวโขนที่ตัวเองสวมอยู่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหรือไม่

เพราะอยู่ๆ นายนพดลก็เดินทางไปประเทศจีนเพื่อพบกับทักษิณ พอสื่อมวลชนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ทีแรกก็ออกมาบอกว่า ได้รับเชิญจากนักธุรกิจ พอวันรุ่งขึ้นก็ออกมาบอกเหตุผลใหม่ว่า เดินทางเพื่อไปมอบงานให้กับทนายที่จะมารับช่วงต่อ ก็เลยไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนโกหก

หรือเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ออกมาแถลงแก้ต่างแทนอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน

ผมเห็นด้วยกับพะนะทั่นนพดลครับว่า แต่ละประเทศจะมีโต๊ะรายงานไปยังเมืองหลวงของเขา ข่าวแต่ละข่าวสามารถวิเคราะห์ และประเมินผลออกมาได้

ผมจึงคิดว่า ที่แหละที่ถือเป็นเรื่องน่าอาย เพราะเขาคงวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นอกจากไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยแล้ว ได้ตำแหน่งมาเพราะความรู้ความสามารถหรือเพราะอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น