xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทบ.ติง “เหลิม” ตั้งเขตปกครองฯ ใต้เรื่องใหญ่ไม่ควรจ้อผ่านสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผบ.ทบ.เผยเตรียมข้อมูลชายแดนใต้พร้อมหารือรัฐมนตรีกลาโหมเร็วๆ นี้ ขณะที่ข้อเสนอจัดตั้งเขตปกครองพิเศษของ “เหลิม” ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่สมควรพูดผ่านสื่อ ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกยังจำเป็นสำหรับการป้องกันยาเสพติดทะลัก หากยกเลิกต้องมีเหตุผล

วันนี้ (13 ก.พ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเชิญหารือเกี่ยวกับกรอบการทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ายังไม่ได้รับการประสาน แต่กองทัพบกได้เตรียมข้อมูลไว้แล้ว

พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้จัดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ โดยกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากและใหญ่เกินไปที่จะนำมาพูดผ่านสื่อ เพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติ แต่หากจะมีการหารือกัน กองทัพบกมีข้อมูลที่จะนำเสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามในหลายแง่มุม ทั้งในแง่ของการปฏิบัติได้จริงและข้อห่วงใยของฝ่ายทหารที่ผ่านมาที่เกรงว่าการจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิเสธว่าไม่มีความคิดเห็น ต้องไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบกยังให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกว่า ที่กองทัพจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ในขณะนี้มีเหลือเพียงตามอำเภอต่างๆ ที่ติดแนวชายแดน เนื่องจากมีภัยคุกคามประเภทต่างๆ เช่น ปัญหายาเสพติดที่เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของประเทศ ซึ่งขณะนี้มี 7 กองกำลังของกองทัพบก และ 1 กองกำลังของกองทัพเรือดูแลอยู่ และฝ่ายรักษาความมั่นคงภายในเห็นว่ายังจำเป็นต้องมีเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ แต่หากจะมีการพิจารณาเป็นอื่นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาเหตุผลว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของกองทัพ

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ใด้ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางตรวจเยี่ยมการทำงานของกองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ว่าจะไปดูการปฏิบัติงานในภาพกว้างของกองกำลังผาเมืองและนเรศวร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องม้ง ซึ่งในภาพรวมทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพร้อมรับกลับ แต่มีปัญหาเรื่องกระบวนการส่งกลับของไทยที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหากันต่อไป ส่วนจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น