“แพทย์ชนบท” อัดยับ “ไชยา” จ้องล้มซีแอลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เตรียมเปิดโต๊ะแถลงข่าวต้าน พร้อมล่า 1 แสนชื่อไล่ถอดถอนพ้น ก.สาธารณสุข ด้าน “สนธิ” แฉใบสั่งย้าย 4 ขรก.ระดับสูง เพื่อเคลียทางให้ “แม้ว” - หวังกุมความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นซักถาม รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย และ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ สมาชิกชมรมแพทย์ชนบท ถึงกรณีที่รัฐบาลสั่งย้ายข้าราชการจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง
โดย รศ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ออกมาโจมตีนิด้าว่าไม่ควรออกมาวิจารณ์เรื่องการโยกย้ายข้าราชการ นั้น ร.ต.อ.เฉลิม ควรที่จะนำกระแสต่อต้านไปพิจาณา แล้วนำเอาไปปรับปรุงแก้ไขจะดีกว่า และเราไม่ใช่คู่ต่อสู้ทางการเมือง ส่วนประเด็นที่ระบุว่าถ้าเก่งจริงให้ลงรับสมัครเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะต่างคนต่างมีอาชีพของตัวเอง จะให้ไปทำหน้าที่แทนก็คงไม่ได้
“เรื่องการย้ายข้าราชการนั้น สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดว่าเป็นเรื่องทางการเมือง โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเรื่องการย้ายอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยเล็งที่จะจัดการในน้ำเสียงที่อ่อนนุ่ม ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ทันให้นโยบายก็เปลี่ยนตัวบุคคลเสียแล้ว ทั้งๆ ที่คนที่นั่งทำงานยังไม่ทันรู้เลยว่าจะต้องทำอะไร จึงทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเองไปก่อน” รศ.ทวีศักดิ์ กล่าว
แฉ พปช.ใช้นโยบายผูกขาดทางความคิด
ด้าน นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ข้าราชการประจำกับนักการเมือง ต้องแยกให้ชัดเจน ซึ่งข้าราชการจะรับผิดชอบงานที่ถูกมอบหมายให้ทำ และจะต้องให้ความเห็นกับนักการเมืองว่าผลดี หรือผลเสียของนโยบายอยู่ตรงไหน แต่ถ้านักการเมืองต้องการอีกอย่างหนึ่งก็ต้องทำตาม ดังนั้นเขาต้องให้โอกาสข้าราชการ เพราะเขาไม่ได้รับใช้เพียงแค่รัฐบาลนี้ แต่โดยมากรัฐมนตรีจะสั่งงานแค่เพียงวาจา และเก็บหลักฐาน หรือเอกสารทั้งหมดหากมีเรื่องเสียหายเกิดขึ้น
“ที่เป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองก็คือ พรรคพลังประชาชนใช้นโยบายของพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็คือการผูกขาดทางความคิด ซึ่งจะเป็นพิษร้ายต่อการเลือกตั้ง และเขาจะทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่าถูกประชาชนเลือกเขาเข้ามาบริหารประเทศ แต่ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว และการที่เราไม่ได้สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย” นายสุรพงษ์ กล่าว
เตือนปลัดฯ ควรคำนึงถึงประเทศชาติ
ส่วนเรื่องการย้ายข้าราชการที่เกิดขึ้นนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราจะไปโทษนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องโทษข้าราชการด้วย โดยเฉพาะปลัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกันชนระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ และถ้าปลัดกระทรวงเหล่านั้นไม่ได้ให้ความเคารพตัวเอง นักการเมืองก็จะไม่ให้ความเคารพ ที่สำคัญถ้าข้าราชการเหล่านั้นมัวแต่คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปลัด หรือรองปลัดกระทรวง ต่างสนองนโยบายด้วยการย้ายคนที่นักการเมืองไม่ชอบ เพื่อรักษาเก้าอี้ โดยไม่คำนึงถึงองค์กรของตัวเอง
“กระทรวงต่างประเทศในอดีต ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะไร้ผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ในระยะที่พรรคไทยรักไทยบริหารประเทศ เขาสามารถตักตวงผลประโยชน์จากกระทรวงต่างประเทศได้มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น เอ็กซิมแบงก์” นายสุรพงษ์ กล่าว
“สนธิ” ชี้มีเงื่อนงำ-เบื้องหลังการโยกย้าย
ขณะเดียวกัน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ต่อโทรศัพท์แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการในช่วงนี้ ว่า โดยพื้นฐานแล้ว พวกเรายอมรับนักการเมืองมีสิทธิโยกย้ายข้าราชการ และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าปลัดกระทรวงไม่ออกมาปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วมีการโยกย้ายโดยมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ถือว่าขาดคุณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ปลัดกระทรวงจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรี อย่าไปหวงตำแหน่ง หรือเก้าอี้ของตัวเอง
ส่วนข้อสังเกตของการโยกย้ายข้าราชการ 4 คน ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น นายสนธิ กล่าวว่า น่าจะมีเงื่อนงำ และมีเบื้องหลัง ซึ่งจะเท่ากับไปลบล้างสิทธิในการโยกย้ายโดยสิ้นเชิง คือ 1.กรณีการย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งการเมืองที่เข้ามาใหม่ยังไม่ทันทดลองทำงาน ยังไม่ได้ดูผลงาน และยังไม่ได้วางนโยบายอะไรให้เลย แต่กลับมีคำสั่งย้าย ซึ่งอดคิดไม่ได้ว่านายสุนัย เป็นคนที่ดำเนินคดีเรื่องเอสซีแอสเซ็ท ซึ่งเป็นคนออกมายจับ
อัดยับทำเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง
“อีกทั้งยังมีคดีทุจริตสนามบินหนองงูเห่า ที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ไปร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเบ็ดเสร็จมีทั้งสิ้น 18 คดี ที่มีความเกี่ยวพันกับคนในอดีตไทยรักไทยทั้งสิ้น ฉะนั้นการโยกย้ายนายสุนัย จะแปรเจตนาเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะให้คนในอดีตของพรรคไทยรักไทยเข้าไปสะสางปัญหา ดังนั้น การโยกย้ายดังกล่าวนอกจะไม่ชอบธรรมแล้ว ยังมีเจตนาที่จะเอาคนเข้าไปปกปิดความผิดของตัวเอง” นายสนธิ กล่าว
นายสนธิยังกล่าวถึงกรณีการโยกย้ายนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ว่า ตั้งแต่ตนเกิดมา ยังไม่เคยได้ยินเลยว่ามีอะไรที่สั่งการมาแล้วนายปราโมช ไม่เคยทำ และพร้อมที่จะทำทุกอย่าง เพียงแต่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงกรมประชาสัมพันธ์ โดยอาจจะต้องการอธิบดีซึ่งกล้าพอที่จะทำในเรื่องที่ไม่มีความชอบธรรม นายปราโมชอาจจะไม่กล้า ก็เลยถูกย้าย ส่วนการโยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นั้น ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะนโยบายซีแอล โดยตัวรัฐมนตรีไม่มีเหตุผลที่จะมาคัดค้านเรื่องดังกล่าวได้ ก็ใช้วิธีการฟาดงวงฟาดงา โดยไปเล่นงานคนที่เป็นเลขาฯ อย.อย่างไม่มีเหตุผล และความชอบธรรม
“สุดท้าย คือ การย้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชาชนที่มีความเคยชินกับการสร้างรัฐตำรวจตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้าข่ายไม่กล้ารับใช้ในเรื่องที่ผิดๆ ซึ่งอยากให้จับตาดูการประชุม กตร.อาทิตย์หน้า หรืออาทิตย์ต่อไป จะมีการโยกย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ กลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอาจจะไม่กล้าย้ายมาในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. แต่อาจจะย้ายเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นการย้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เพื่อเปิดช่องให้มีตำแหน่งว่าง 1 ตำแหน่ง เพื่อจะเอา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ กลับมา โดยการย้ายข้าราชการทั้งหมดนี้ ก็เพื่อการสร้างฐานเอาไว้ใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในเร็ววันนี้” นายสนธิ กล่าว
ปูดปลัดฯ ได้ดีเพราะเดินตามนักการเมือง
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ กล่าวเสริมว่า กรณีที่แพทย์ชนบทออกมาคัดค้านเรื่องการโยกย้ายนั้น เพราะเราต้องการเห็นความชอบธรรม เนื่องจากเราทำงานในกระทรวงก็จะเห็ดหมดว่าใครทำงานหรือไม่ แต่การตั้งคนที่ไม่ทำงานขึ้นมาโดยไปปลดคนที่ทำงานดี ประเทศเราจะเป็นอย่างไร แล้วจะไม่ให้เราออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เข้ามาขอทบทวนเรื่องซีแอล โดยไม่ยอมทบทวนว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งมีจำนวนอยู่เท่าใด แต่กลับไปดูรายละเอียดว่าบริษัทยาขาดทุน จึงน่าเชื่อว่าจะต้องมีใครบางคนไปบอกก่อนที่นายไชยาจะเข้ามารับตำแหน่ง
“คนที่ท่านแต่งตั้งขึ้นมานั้น ที่ผ่านมาไม่เคยทำงาน เอาแต่เดินตามนักการเมือง จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นปลัด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงแพทย์ประจำโรงพยาบาล กรณีดังกล่าวถือว่าผิดระเบียบของกระทรวง แต่มีนักการเมืองไปขอแก้ระเบียบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์วงการการแพทย์ ส่วนกรณีที่ นพ.ชาตรี บานชื่น ว่าที่เลขาฯ อย. ซึ่งขอลาออกจากราชการ เนื่องจากไม่ต้องการไปอยู่ที่ อย. แต่ต้องการที่จะเกษียณอายุในตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์มากกว่า ประกอบกับท่านไม่เต็มใจที่จะเข้าไปดูแลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องเป็นแพะรับบาป” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ฮึ่มล่า 1 แสนชื่อไล่ถอดถอน “ไชยา”
นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า หมอชนบทมีอุดมการณ์ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ขอย้าย หรือไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นเราจึงไม่ยอมให้นักการเมืองมาทำลายอุดมการณ์ และกระทรวงสาธารณสุขของเรา ทำให้ข้าราชการเกิดความสับสนว่า ที่ตัวเองทำอยู่นั้นจะได้ได้ประโยชน์ หรือจะถูกลงโทษ ซึ่งข้าราชการก็ต้องทำตาม ก็น่าเห็นใจ ที่สำคัญคือ ขณะนี้อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยในวันพฤหัสบดีที่ 6 มี.ค.นี้ เราจะเคลื่อนไหวโดยการเปิดโต๊ะแถลง และล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนนายไชยา ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ
“ขณะนี้เราได้เปิดตู้ ปณ.119 ปณจ.คลองหลวง 12120 โดยเราจะให้ประชาชนทั้งประเทศที่เห็นว่านายไชยา ทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ให้ส่งสำเนาบัตรประชาชนมาเพื่อลงรายชื่อถอดถอน ซึ่งเราอยากได้สัก 1 แสนรายชื่อ แต่ที่ฝันจริงๆ คือ 1 ล้านรายชื่อ เพราะจะเป็นพลังแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า ถ้าเข้ามาแล้วไม่มีความชอบธรรม ประชาชนจะไม่ยอม เพียงแต่ในอดีตเขาไม่มีโอกาสเท่านั้นเอง และจะเป็นประวัติศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข” นพ.พงศ์เทพ กล่าวทิ้งท้าย
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มถอดถอนรัฐมนตรี ที่นี่!