xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอำนาจซ้อนปัจจัยภายในทำพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2 อธิการบดี ระบุการเมืองไทยไม่ชัด มีอำนาจซ้อน " ระบอบทักษิณ" ยังเป็นใหญ่ "สมัคร" บ่มิไก๊คุมนักเลือกตั้งไม่ได้ ระวังมีทีมซี "เฉลิม" ถึงขั้นนั่งนายกฯ ชี้รัฐบาลใช้อำนาจเฟ้อเสื่อมเร็ว ปัจจัยภายในทำรัฐบาลพัง "สุรพล" เชื่อไม่มีม็อบข้างถนน แต่ระบบตัวแทนประชาชนจะเป็นใหญ่

ที่ห้องเวิลด์บอลลูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (5 มี.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงาน วันนักข่าว 2551 "Thai Journalists 53rd Anniversary" โดยในงานได้มีการอภิปรายเรื่อง " มุมมอง 2 อธิการบดี เรื่องการเมืองไทย" ซึ่งมีนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมอภิปราย

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่าตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 การเมืองไทยได้พัฒนาในเชิงบวกมากขึ้น จะเห็นได้จาก 1. คณะที่ทำการรัฐประหารก็จะไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจได้นาน จะต้องจัดให้บุคคลภายนอก ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และที่ปรากฎเด่นชัดคือ การปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ไม่กล้าที่จะมีอำนาจ จึงรีบให้มีการเลือกตั้ง เพราะคณะปฏิวัติได้รับรู้ถึงแรงสะท้อนจากรประชาชนว่าไม่ได้ให้การยอมรับ หากเข้ามาใช้อำนาจนานๆ 2.ความนิยมในการเลือกตั้งได้เน้นนโยบายพรรคมากกว่าตัวบุคคล เห็นได้จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่ถูกใจประชาชน แม้จะถูกปฎิวัติ สั่งให้ยุบพรรค แต่เมื่อฟื้นมาเป็นพรรคพลังประชาชน ก็ได้รับความนิยมจากประชาชน จนชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น

3.การเมืองไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบ 2 พรรค เห็นชัดจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าประชาชนโหวตเลือกเพียง 2 พรรคใหญ่เท่านั้น 4. พื้นที่การเลือกตั้ง จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งโดยสอดคล้องกับเศรษฐกิจและภูมิประเทศ อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีเศรษฐกิจที่ต่ำ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนการเลือกตั้งมากในพื้นที่กรุงเทพ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งมีเศรษฐกิจดี

5.การเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้น 6. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระมากขึ้น และ 7. สังคมไทยจะให้ความสนใจเรื่องการตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองมากขึ้น

นายสมบัติ ยังกล่าวถึงทิศทางการเมืองในอนาคตว่า รัฐบาลผสม 6 พรรค จะมีเสถียรภาพมาก เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถที่จะคว่ำรัฐบาลได้ง่าย ยกเว้นแต่มีความขัดแย้งกันเองภายในพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากนั้นแล้วตนมองว่ารัฐบาลจะสูญเสียเสถียรภาพด้วยเหตุผล คือ 1. พรรคร่วมมีอำนาจต่อรองมาก และในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้พรรคฝ่ายค้าน สามารถยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แม้พรรคฝ่ายค้านจะมีอยู่เพียง 164 เสียง แต่ก็ถือว่าเพียงพอ ถ้าหากรัฐบาลบริหารงานพลาด ก็อาจจะเป็นโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะรวมชื่อเพื่อขอให้มีการถอดถอนได้

2. อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชาชนไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดผู้เดียวในพรรค มีอำนาจอยู่หลังมู่ลี่ และรัฐมนตรีไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพรรค ซึ่งหากนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถคุมแกนนำพรรคได้ ก็อาจจะใช้อำนาจที่มี คือการยุบสภา เพื่อต่อรองกับผู้นำที่แท้จริงได้

3. คดียุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูก กกต.ให้ใบแดง และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ที่เสี่ยงต่อการถูกยุบพรรค 4. คดีส่วนตัวของ นายสมัคร ที่ค้างอยู่ หากศาลรับคำฟ้อง ก็อาจจะถูกกดดันจากสังคมได้ 5. การเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ 6. การเร่งรัดโยกย้ายข้าราชการระดับสูง แม้จะเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความปรองดอง สมานฉันท์ อย่างที่ประกาศไว้

"สิ่งที่รัฐบาลเริ่มต้นมานั้น สะท้อนเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะฝ่ายตรงข้ามอาจหยิบไปเป็นประเด็นโจมตี และประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจว่าจะรัฐบาลจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร แต่หากรัฐบาลเลือกทำในสิ่งที่ประชาชนเห็นด้วย ก็อาจจะได้รับแรงสนับสนุนทางบวก แต่หากคนไม่เห็นด้วยอาจจะกลายเป็นอุปสรรค ต่อการบริหารงานของรัฐบาล"นายสมบัติ กล่าว

ด้าน นายสุรพล นิติไกรพจน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง รัฐบาลชุดนี้จึงไม่ใช่ทีมเอ แต่เป็นทีมบี ที่มีนายสมัครเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งได้มีผู้ใหญ่บอกกับตนว่าระวังจะมีทีมซี ที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีวาการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นแล้วตนมองว่าปัจจัยที่จะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ด้วยองค์กระกอบที่คณะรัฐมนตรีไม่สง่างามในเชิงความรู้ ความสามารถ, การตกลงผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังต่อรองเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองไม่จบ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความร้าวฉานในคณะรัฐบาลพอสมควร และที่สำคัญที่สุด คือรัฐบาลที่ไม่มีศูนย์การนำ ต่างคนรู้ว่าจะเข้ามาบริหารงานในช่วงเวลาสั้นๆ จึงต่างคนต่างพูดนโยบายของตนเองทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา อาทิ นโยบายที่จะเปิดบ่อนคาสิโนซึ่งไม่ใช่นโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

"คนในรัฐบาล แต่ละคนคิดว่าตัวเองดี และการมีรัฐมนตรี 36 คน ซึ่งมาจากต่างพรรค ก็ยากต่อการดึงไปทิศทางเดียวกัน ส่วนการย้ายข้าราชการระดับสูงบ่อยๆ นั้น ทำให้รัฐบาล และรัฐมนตรีเกิดความเสื่อม อย่างเช่นการย้ายอธิบดี กรมประชาสัมพันธ์ อาจจะอธิบายด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ดีพอที่จะประชาสัมพันธ์รัฐบาล แต่ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการองค์การอาหารและยา ไม่มีเหตุผลที่ดีเลย"นายสุรพล กล่าว

นายสุรพล กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลชุดของนายสมัคร จะอยู่ได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดว่ารัฐบาลที่ขี้เหร่ จะส่งผลให้รัฐบาลมีความอ่อนแอมากกว่ารัฐบาลของ คมช. หรือ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เป็นที่ชอบใจของคนเมือง และแทบจะไม่ได้คะแนนเลือกตั้งในพื้นกรุงเทพ ถ้าใช้ทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตย ของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการอิสระ ที่ว่าคนชนบทตั้งรัฐบาล แต่คนเมืองจะล้มรัฐบาล ซึ่งก็เป็นที่ปรากฎให้เห็นกันอยู่

นอกจากนั้นระบบการตรวจสอบ ระบบรัฐสภาจะมีความเข้มแข็ง องค์กรการตรวจสอบจะเข้มแข็งขึ้น และการเมืองภาคประชาชนจะย้ายขบวนการจากการชุมนุมที่สนามหลวง หน้ารัฐสภา ย้ายเข้าไปในรัฐสภา โดยให้นักการเมืองที่มาจากตัวแทนของประชาชนใช้อำนาจในการตรวจสอบ

"ผมไม่คาดว่าจะมีการรัฐประหาร ม็อบล้มรัฐบาลเกิดขึ้นอีก เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหาร นักการเมือง ก็จะรู้ตัวเองมากขึ้นว่าปฏิวัติแต่ละครั้ง ทหารมีอำนาจน้อยลง ส่วนนักการเมืองถ้าหยิ่งในอำนาจ ไม่วยใจกติกา ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นก็จะเหมือนในอดีต ผมเชื่อว่าต่อนี้ไปจะเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการประชาธิปไตยใหม่ คนเมืองเรียนรู้ที่จะอยู่กับรัฐบาลที่คนส่วนใหญ่ในชนบท เป็ณผู้เลือกมากขึ้น และหากรัฐบาลอยู่ได้ 2 ปี การเมืองไทยก็จะเปลี่ยนไป " นายสุรพล กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น