คณาจารย์นิด้าแถลงการณ์อัดรัฐบาลโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม เผยการอ้างเหตุผลเรื่อง “ความเหมาะสม” เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ร้องรัฐบาลคำนึงถึงหลักคุณธรรมในการบริหารมากกว่าการใช้อำนาจตามตัวบทกฎหมายอย่างเดียว พร้อมเปิดล่ารายชื่อคนที่ไม่เห็นด้วยเสนอ “หมัก” ระบุ ขณะนี้มีผู้ลงชื่อเกือบร้อยคนแล้ว
วันนี้ (4 มี.ค.) ที่ห้องประชุมคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บรรดาคณาจารย์ของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้มีการแถลงการณ์เรื่องการโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายปราโมทย์ รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ โดยผู้แถลงข่าวประกอบด้วย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน รศ.ดร.จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ อ.ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์และนายกสโมสรบุคลากรนด้า รศ.ดร.นิสดารก์ เวชยานนท์ ผอ.หลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชน
รศ.ดร.นิสดารก์ กล่าวว่า การที่ออกมาแถลงข่าวในครั้งนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ของนักวิชาการและอาจารย์ที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม อันไหนดีก็ต้องชื่นชม ส่วนอันไหนไม่ถูกต้องก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ และยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างรัฐบาลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลอ้างเหตุผลในการโยกย้าย ว่า เพื่อความเหมาะสมในการบริหาร เป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผลเลย เพราะการโยกย้ายข้าราชการจะต้องมีเหตุผลที่สมควรในการรองรับ เช่น ทำงานไม่ได้ ทำงานผิดพลาด หรือมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ากระทำการส่อไปในทางทุจริต แต่รัฐบาลกลับโยกย้ายโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอเพราะรัฐบาลเพิ่งแถลงนโยบายได้ไม่นานนัก ยังไม่ได้ให้โอกาสข้าราชการในการทำงานเลยแม้แต่นิดเดียว ส่งผลทำให้ระบบเกิดความเสียหาย
ที่สำคัญคือ คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ตั้งรัฐบาลได้ไม่นานนัก จะมาอ้างว่ารัฐบาลอื่นก็ทำกันก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกก็ไม่ควรทำตาม รัฐบาลควรเริ่มต้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงหลักคุณธรรมในการบริหารมากกว่าการใช้อำนาจตามตัวบทบทกฎหมายอย่างเดียว รวมทั้งรัฐบาลควรรับฟังเหตุผลให้รอบด้าน รวมถึงการโยกย้ายตัวบุคคลก็ให้เหมาะสมกับงานด้วย
“ตอนนี้เราเปิดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายมาร่วมลงชื่อภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้มาลงชื่อร่วมร้อยคนแล้ว ก่อนที่จะนำรายชื่อเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะฟังหรือไม่ฟังก็ไม่เป็นไร สำหรับผู้ที่ต้องการลงชื่อสามารถส่งอีเมล์มาได้ที่ NISADA@NIDA.AC.TH”รศ.ดร.นิสดารก์ กล่าว
ด้าน รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนนิด้า กล่าวว่า การบริหารบุคคลภาครัฐไม่เหมือนการบริหารงานเอกชน เพราะเอกชนมีเจ้าของชัดเจน จะโยกย้ายใครหากปฏิบัติกฎหมายแรงงานถือว่าทำได้ แต่การบริหารภาครัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของราชการ จึงมาโยกย้ายตามอำเภอใจไม่ได้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล หรือรัฐมนตรี ตั้งหลักไปศึกษาระบบในการบริหารไม่ใช่บริหารตามสามัญสำนึก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวตามมา นอกจากนี้ สังคมต้องจับตามองการโยกย้ายไม่เป็นธรรมถือเป็นการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งจะทำลายระบบข้าราชการประจำที่ต้องสะสมประสบการณ์การทำงาน ทำให้สูญเสียความเป็นธรรมในสังคม
รศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิตภาคพิเศษ จ.สงขลา นิด้า กล่าวว่า การโยกย้ายที่ผ่านมาในเวลาไม่กี่วันของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้สังคมและประชาชนไม่มั่นใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ เราบอกกันว่ารัฐบาลขี้เหร่ แต่ในทางวิชาการถ้ามาจากประชาชนถือว่าไม่ขี้เหร่ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลขาดคุณธรรมก็จะขี้เหร่ไปทันที และสังคมก็จะเกิดกลียุค และหากมีการโยกย้ายเกิดขึ้นอีกต่อเนื่อง จนเกรงว่าสังคมจะรับไม่ได้ จะมีวงเสวนาต่างๆ จะขยายตัว อยากให้รัฐบาลฟังเสียงนักวิชาการและกลับมาเยียวยาสังคมและสร้างสมานฉันท์อย่างแท้จริง
สำหรับแถลงการณ์ของคณาจารย์ฯ กรณีคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในขณะนี้ 3 ตำแหน่ง คือ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และเลขาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มี 2 ประการ คือ
1.การโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นไปตามหลักการบริหารคนที่ดี และการโยกย้ายข้าราชการจะสามารถทำได้ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่ต้องพิจารณาถึงหลักคุณธรรม โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้เสียงของประชาชนสนับสนุนเข้ามาและประกาศจะสร้างความสมานฉันท์ จึงไม่ควรกระทำอย่างรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ การบริหารราชการเพียง 5 วันหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่โยกย้ายข้าราชการระดับสูงในเวลาไล่เรี่ยกัน โดยอ้างเหตุผลเพื่อความเหมาะสมไม่มีเหตุผลอื่นรองรับ ทำให้กระทบต่อขวัญกำลังใจข้าราชการโดยรวม
2. ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการบริหารงานของข้าราชการประจำ ทำให้สูญเสียความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่ว่ารัฐบาลเปลี่ยนอย่างไรข้าราชการประจำต้องเป็นกลาง และนำนโยบายของนักการเมืองที่มาบริหารไปปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลต้องให้โอกาสข้าราชการประจำทำงานสักระยะเวลาหนึ่ง แต่การโยกย้ายครั้งนี้ไม่ได้ให้โอกาสแก่ข้าราชการประจำในการปรับตัว จึงอาจทำให้สังคมคิดไปว่า นักการเมืองที่เข้ามามีวาระซ่อนเร้นหรือรับคำสั่งจากใครบางคน ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีกับการเริ่มต้นของรัฐบาลที่อ้างจะมาสร้างความสมานฉันท์ ไม่ได้ทำเพื่อการแก้แค้น คำสั่งโยกย้ายโดยกะทันหันจะทำให้บรรยากาศในการบริหารตกอยู่ในสภาพของความกลัว จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงคุณธรรมในการบริหารคน ให้มากกว่าการใช้อำนาจตามตัวบทกฎหมายอย่างเดียว เพราะถ้าข้าราชการประจำต้องทำงานด้วยความกลัว ผู้เสียประโยชน์คงหนีไม่พ้นประชาชน