xs
xsm
sm
md
lg

"สมชาย"เย้ยใครเบื่อก็ลาออกไป ขรก.ตั้งสหภาพสู้นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"น้องเขยแม้ว" ปัดความรับผิดชอบต้นเหตุย้ายแก้แค้น ส่งผลให้ขรก.ลาออก เย้ยเมื่อเบื่อก็ลาออกไปทำอย่างอื่น เป็นเรื่องปกติ ด้านคณาจารย์นิด้าออกแถลงการณ์อัดรัฐบาลโยกย้ายไม่เป็นธรรม ย้ำการอ้างเหตุผลเรื่อง"ความเหมาะสม" แค่ตะแบง ส่วนนายกฯสมาคมข้าราชการพลเรือน ระดม ขรก. 3 ล้านตั้งสหภาพฯ สู้นักการเมืองรังแก ขณะที่ 5 แกนนำพันธมิตรฯ แถลงจุดยืนวันนี้ ด้าน "ไชยา" เตรียมให้ ปลัดสธ.รักษาการเลขาฯ อย. ขณะที่แพทย์ชนบท ประกาศตั้งโต๊ะล่าชื่อถอดถอน "ไชยา" 6 มี.ค.นี้

วานนี้ (4 มี.ค.)นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการโยกย้ายข้าราชการในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ข้าราชการบางคนน้อยใจลาออกว่า ตนก็ยังเคยลาออกและไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเพราะทุกคนที่ลาออกต่างก็มีเหตุผล อย่างตนที่ลาออกเพราะรับราชการมานาน จึงอยากไปทำงานอย่างอื่น ส่วน กรณีนพ.ชาตรี บานชื่น ก็รับราชการมานาน เป็นเรื่องปกติ การลาออกไม่มีอะไรผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าสมาคมข้าราชการพลเรือน เตรียมจะตั้งสหภาพข้าราชการ จะทำได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ต้องไปดูว่ามีกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่ เพราะอย่างสหภาพแรงงานมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ซึ่งตนยังไม่เห็นว่าเรื่องนี้มีกฎหมายรองรับ

ส่วนการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่งช่วงนี้ ทำให้มีการเคลื่อนไหว นายสมชาย กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายมีอยู่แล้วทุกปี และการโยกย้ายนอกฤดูกาล เท่าที่ตนเห็นก็ไม่ได้ก่อปัญหาอะไร

ส่วนจะมีการโยกย้ายข้าราชการอีกหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า "ผมไม่ทราบ ผมรู้แต่ในเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผมรับผิดชอบ รับรองว่าไม่มีการย้าย บอกได้เลย"

อ.นิด้าจวกย้ายขรก.ไม่เป็นธรรม

วันเดียวกันนี้ บรรดาคณาจารย์ของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุใน 2 ประการ คือ

1.การโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นไปตามหลักการบริหารคนที่ดี และการโยกย้ายข้าราชการ จะสามารถทำได้ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่ต้องพิจารณาถึงหลักคุณธรรม โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และประกาศจะสร้างความสมานฉันท์ แต่บริหารราชการเพียง 5 วัน หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็โยกย้ายข้าราชการระดับสูงในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยอ้างเหตุผลเพื่อความเหมาะสมไม่มีเหตุผลอื่นรองรับ ทำให้กระทบต่อขวัญกำลังใจข้าราชการโดยรวม

2.ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการบริหารงานของข้าราชการประจำ ทำให้สูญเสียความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ข้าราชการประจำต้องเป็นกลาง และนำนโยบายของนักการเมืองที่มาบริหารไปปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลต้องให้โอกาสข้าราชการทำงานสักระยะเวลาหนึ่ง แต่การโยกย้ายครั้งนี้ ไม่ได้ให้โอกาสแก่ข้าราชการในการปรับตัว จึงอาจทำให้สังคมคิดไปว่านักการเมืองที่เข้ามา มีวาระซ่อนเร้น หรือรับคำสั่งจากใครบางคน ซึ่งการโยกย้ายโดยกระทันหัน จะทำให้บรรยากาศในการบริหารตกอยู่ในสภาพของความกลัว จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงคุณธรรมในการบริหารคน ให้มากกว่าการใช้อำนาจตามตัวบทกฎหมายอย่างเดียว

ล่าชื่อค้านเสนอ "นายกฯ หมัก"

รศ.ดร.นิสดารก์ เวชยานนท์ ผอ.หลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชน กล่าวว่า การที่รัฐบาลอ้างเหตุผลในการโยกย้ายว่า เพื่อความเหมาะสมในการบริหาร เป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผลเลย เพราะการโยกย้ายจะต้องมีเหตุผลที่สมควรในการรองรับ เช่น ทำงานไม่ได้ ทำงานผิดพลาด หรือมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า กระทำการส่อไปในทางทุจริต แต่รัฐบาลกลับโยกย้ายโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ เพราะรัฐบาลเพิ่งแถลงนโยบายได้ไม่นานนัก ยังไม่ได้ให้โอกาสในการทำงานเลย

"ตอนนี้เราเปิดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการโยกย้าย มาร่วมลงชื่อภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้มาลงชื่อร่วมร้อยคนแล้ว ก่อนที่จะนำรายชื่อเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะฟังหรือไม่ฟัง ก็ไม่เป็นไร สำหรับผู้ที่ต้องการลงชื่อสามารถเข้ามาได้ที่อีเมล์ NISADA@NIDA.AC.TH"รศ.ดร.นิสดารก์กล่าว

ระดม ขรก. 3 ล้านตั้งสหภาพฯ สู้

นายจาดุร อธิชาตบุตร นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภายใน 1 ปี จะมีการจัดตั้งสหภาพข้าราชการ โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2550 ซึ่งทางสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการร่างกฎหมายลูก และจัดตั้งโครงสร้างองค์กร รองรับตัวแทนข้าราชการจาก 20 กระทรวง และทางสมาคมฯได้เร่งประสาน เพื่อรวมกลุ่มระหว่างข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในความดูแลของกพ. ประมาณ 3 แสนคน โดย ภายใน2 - 3 วันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทยเพื่อหารือในเรื่องนี้

ทั้งนี้ได้ขยายการรวมกลุ่มไปยังข้าราชการครู ตำรวจ และอัยการ รวมไปถึงองค์กรข้าราชการ ที่มีการรวมตัวกันอยู่เดิมแล้ว เช่น สหพันธ์ครู หรือ กลุ่มอดีตข้าราชการบำนาญ ที่มีจำนวนหลายแสนคน โดยคาดว่าจะสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพข้าราชการที่จะมีสมาชิกได้ประมาณ 3 ล้านคน และจะมีการประสานกับเครือข่าย เพื่อทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายต้องการสร้างระบบคุณธรรม และสร้างอำนาจต่อรองขึ้นมา ปกป้องการแทรกแซงทางการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม

"เชื่อว่าข้าราชการจะสามารถรวมตัวกันได้เข้มแข็ง เพราะข้าราชการมีความอดทนจำกัด หากถูกใช้เป็นสมบัติส่วนตัว โดยไม่คิดว่าข้าราชการเป็นสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งการจัดตั้งสหภาพ ก็เพื่อแสดงพลังคัดค้าน ไม่ให้การเมืองใช้อำนาจโดยไม่ชอบ นำระบบข้าราชการไปใช้เป็นเครื่องมือ และตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามข้าราชการตั้งสหภาพ" นายกสมาคมฯ กล่าว

นายจาดุร กล่าวต่อว่า สหภาพที่เกิดขึ้น จะไม่ถูกนำมาใช้ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มข้าราชการด้วยกัน แต่จะมีองค์กรจากภายนอกคอยตรวจสอบ เช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยตรวจสอบอยู่ และแม้การเมืองจะมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ควรระมัดระวังในการแต่งตั้ง ที่ไม่ควรจะใช้การแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองในการทำงาน

"สิ่งที่ผมออกมาสนับสนุนให้มีการรวมตัวสหภาพข้าราชการ เพราะยึดคติว่า เวลาคนชั่วรวมตัวกันจะทำอะไรได้ดี เพราะคนดีรวมตัวกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างเก่ง จึงทำให้บ้านเมืองไทยเป็นอย่างนี้ ดังนั้น สหภาพจะเป็นแหล่งรวมคนดีเข้าด้วยกัน" นายกสมาคมฯกล่าว

แกนนำพันธมิตรฯ แถลงวันนี้

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (5มี.ค.) พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะประชุมกันที่บ้านพระอาทิตย์ และจะแถลงข่าว เวลา 12.00 น โดยแกนนำจะมากันครบทั้ง 5 คน ส่วนวาระในการหารือ คงเป็นเรื่องการประเมินสถานการณ์ทิศทางและแนวโน้มการทำงานของรัฐบาลซึ่งเริ่มออกนอกลู่นอกทาง เร็วเกินคาด และการกำหนดบทบาทของพันธมิตรฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคงต้องพูดถึงการทำงานควบคู่ หรือเชื่อมประสานกับองค์กรแนวร่วมอื่นๆ ทั้งองค์กรภาคประชาชน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มชนชั้นกลาง และพลังเงียบ และทิศทางการการทำงานกับคนยากคนจน และคนระดับล่าง ซึ่งคงต้องเป็นแผนงานระยะยาว

ไชยา" ให้ปลัด สธ.รักษาการเลขาฯ อย.

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการของนพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ และว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ได้ขอลาออกด้วยวาจากับตน เนื่องจากรู้สึกไม่ดีกับการสอบสวนกรณีคอมพิวเตอร์ฉาว 900 ล้านบาท

ทั้งนี้หากได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการแล้วอาจเรียกมาคุย เพื่อให้อยู่ช่วยทำงานต่อไป เพราะนพ.ชาตรี ทำงานเก่ง ว่องไวดี อย่างไรก็ตามหากนพ.ชาตรีไม่ทำงานต่อ อาจจะมอบหมายให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ. รักษาการเลขาธิการ อย. ไปในช่วงสุญญากาศที่จะสรรหาเลขาธิการ อย. คนใหม่

"นพ.ชาตรีไปอย.คงไปเห็นอะไรที่รับไม่ได้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าอะไร เพราะมันไม่มีเหตุผลที่อยู่ๆ ก็มาลาออก" นายไชยากล่าว

จ้องลดบทบาทเลขาฯ อย.

นายไชยา กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นเลขาฯอย. จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ใจซื่อ มือสะอาด ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) เพราะนพ.ศิริวัฒน์ ก็ดูแลเรื่องซีแอลต่อ รวมถึงไม่ต้องเป็นลูกหม้ออย. จะเป็นแพทย์ หรือเภสัชกรก็ได้ ขอให้ตั้งใจทำงาน รวมถึงในเร็วๆ นี้ ตนจะสั่งให้มีการลดบทบาทหน้าที่ของเลขาฯ อย. โดยอาจจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาดูแล อย. จากเดิมที่เลขาฯ อย. จะเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้ หากนพ.ศิริวัฒน์ ลาออกจากราชการ ตนเองจะคัดค้านการลาออก เพราะนพ.ศิริวัฒน์ เป็นผู้ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นคนทุ่มเทในการทำงาน และห่วงใยประเทศชาติ

"ส่วนกระแสข่าวที่ เอ็นจีโอ ต้องการเรียกร้องให้นพ.ศิริวัฒน์ กลับมาดำรงตำแหน่งเลขาฯอย. นั้น ต้องถามว่า เอ็นจีโอ เป็นใคร มีอำนาจอะไร ขนาดครม. ยังไม่มีการทบทวนที่จะให้นพ.ศิริวัฒน์ กลับมา" นายไชยากล่าว

ไชยา"ไม่สนถูกล่าชื่อถอดถอน

ส่วนกรณีที่แพทย์ชนบทได้มีการเตรียมการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอนรมว.สาธารณสุข เวลาตั้งแต่ 11.00 น. วันที่ 6 มี.ค.ที่ บริเวณลานงู สธ.นั้นนายไชยา กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ต้องดูว่าตามอำนาจหน้าที่เดินทางมาถูกต้องหรือไม่ ส่วนการจะส่งคนไปเบรกไม่ให้ตั้งโต๊ะถอดถอนนั้น ก็ไม่ใช่ตนแน่

ขณะที่การโยกย้ายปลัดเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผล แม้ว่าจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเองสามารถกระทำได้ แต่ขณะนี้ สธ.มีแรงกดดันทุกวัน แต่นพ.ปราชญ์ ก็ขอไปดูงานที่อังกฤษ ซึ่งตนก็อนุญาต แต่การเดินทางไปอังกฤษ ต้องขอวีซ่า เท่ากับว่ามีการวางแผนในการเดินทางล่วงหน้าแล้ว ซึ่งหลังจาก นพ.ปราชญ์ ทราบกระแสข่าวว่าจะมีการปลด ได้โทรศัพท์มาสอบถาม ตนเองก็ยืนยันว่าไม่มี

นายไชยา กล่าวอีกว่าเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาตนได้รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับ นพ.ศิริวัฒน์ จากนิติกรระดับ 9 ของอย. เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งปลัดสธ. แต่งตั้งนิติกรรายนี้ ได้รับตำแหน่งระดับ 9 แต่ นพ.ศิริวัฒน์ ที่เพิ่งจะรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการ อย. ก็รื้อโผใหม่ นอกจากนี้นิติกรรายดังกล่าว ยังได้ร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. นพ.ปราชญ์ เดินทางมาถึงไทยได้โทรศัพท์รายงานตัวกับนายไชยา ทันที โดยนายไชยาได้แจ้งเรื่องที่นพ.ชาตรี ลาออกให้ทราบ

ค้าน "หมอชาตรี" รับเงินบำเหน็จบำนาญ

นายสุจินต์ ศิริอภัย นิติกร ระดับ 7 สำนักงานปลัดสธ. กล่าวว่า จะทำหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ ของนพ.ชาตรี บานชื่น ซึ่งลาออกจากราชการ เนื่องจากนพ.ชาตรี ยังมีกรณีสอบวินัยร้ายแรง เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ มูลค่า 900 ล้านบาท อยู่ที่ ป.ป.ช. ซึ่งยังสอบสวนไม่จบ ดังนั้นควรต้องรอให้กระบวนการสอบสวนจบก่อน ไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับความเสียหาย จึงอยากเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการ เพราะเรื่องนี้ ค้างมานานแล้ว ถือเป็นการให้ความยุติธรรมแก่ นพ.ชาตรี ด้วย ที่จะพิสูจน์ว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

เผย 3 ตัวเต็งเลขาฯ อย.

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการล็อบบี้เพื่อเสนอให้ข้าราชการระดับสูงที่เคยทำงาน อย. 1 ใน 3 คนต่อไปนี้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อย. คนต่อไป ภายหลังจากที่นพ.ชาตรี ลาออก คือ 1 ภญ.สุบุญญา หุตังคบดี นักวิชาการอาหารและยา 10 ด้านอาหารและยา 2 นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 2 และ 3 ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งข้าราชการทั้ง 3 ราย เคยเป็นรองเลขาธิการ อย.มาก่อนตำแหน่งปัจจุบัน

"เสรีพิศุทธ์" บอกพอได้แล้ว

ด้านพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งก่อนที่จะเดินทางขึ้นไปบนสำนักงาน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้หยุดพูดคุยกับพล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ หนึ่งในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่ได้เดินทางมาประชุม ประมาณ 5 นาที สื่อมวลชนประจำ ตร.จึงพยายามเข้าไปสัมภาษณ์ แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ กล่าวเพียงสั้นๆว่า “พอได้แล้ว” จากนั้นได้เดินทางขึ้นสำนักงานฯ ทันที

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ได้เดินทางมาทำงานที่สำนักงาน ชั้น 5 ตั้งแต่ช่วงเช้าและไม่ยอมให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น