เฟซบุ๊ก (Facebook) ชี้แจงผู้ใช้ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป จะขอใช้สิทธิลบเนื้อหาหากบริษัทคิดว่าจำเป็นต้องลบ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบทางกฎหมายที่อาจมีอิมแพกต์ต่อบริษัท
เบื้องต้น Facebook ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุชัดเจนว่าทำไมจึงประกาศกฎใหม่นี้ แต่สื่อมวลชนเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับคำสั่งฝ่ายบริหาร หรือ Executive Order ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อต้นปี 2020
คำสั่ง Executive Order นั้นพยายามยกเลิกการคุ้มครองทางกฎหมายที่รองรับแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตอยู่ตามมาตรา 230 ของกฎหมายสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่า Facebook ต้องการลดแรงเสียดทานกับรัฐบาลบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่กำลังมีแผนกดดันให้ Facebook จ่ายค่าธรรมเนียมให้บริการคอนเทนต์ข่าว จน Facebook ไม่เห็นด้วยและขู่ว่าจะมีมาตรการบล็อกผู้ใช้ออสเตรเลียไม่ให้มีการแชร์ข่าวทั้งบน Facebook และ Instagram
ที่สำคัญคือ ขณะนี้ยังไม่มีการอ้างถึงประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Facebook ตัดสินใจปรับกฎครั้งนี้หรือไม่ โดยช่วง 30 ก.ค.ที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เคยติงผ่านสื่อว่า Facebook ไม่ให้ความร่วมมือปิดเพจผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การแถลงข่าวท่าทีของรัฐบาลไทยจากกรณีที่ Facebook เตรียมฟ้องร้องรัฐบาลไทยและขู่ถอนการลงทุนในไทยจนเป็นข่าวดังช่วง 26 ส.ค.63
เพิ่มอำนาจให้ Facebook
สื่อต่างประเทศมองว่าการปรับครั้งนี้จะทำให้ Facebook มีอำนาจจัดการที่กว้างขึ้นเพื่อลบทุกเนื้อหาที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านกฎหมายกับบริษัท ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้
ไม่เพียงลบ Facebook ระบุว่า บริษัทสามารถจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นได้ด้วย หากบริษัทพิจารณาแล้วว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นและสมเหตุสมผล เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบทางกฎหมาย "ที่ไม่พึงประสงค์"
แม้จะไม่ได้ลงรายละเอียดกฎหมายนั้น แต่สื่อมวลชนเชื่อว่าอาจเป็นเพราะคำสั่งฝ่ายบริหาร หรือ Executive Order ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม เพียง 2 วันหลังจากทวิตเตอร์ (Twitter) ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทวีต 2 ครั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้มีการวิจารณ์สนุกปากว่าเป็นการตรวจสอบที่โจมตีทรัมป์ด้วยข้อหาอาจมีข้อมูลเท็จที่ไม่เป็นความจริง
ปรากฏว่า ทรัมป์ลงนามในคำสั่ง Executive Order ซึ่งพุ่งเป้าไปที่บริษัทโซเชียลมีเดีย คำสั่งนี้สั่นคลอนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตบางส่วนที่ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ภายใต้กฎหมายการสื่อสารของสหรัฐฯ นั่นคือมาตรา 230 ที่ทำให้แพลตฟอร์ม เช่น Facebook และ Twitter ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาทางอาญาใดๆ ที่โพสต์โดยผู้ใช้ และบริษัทต่างๆ มีอำนาจจัดการกฎระเบียบแพลตฟอร์มของตัวเองได้เต็มที่
คำสั่ง Executive Order ของทรัมป์เรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีไม่ได้รับการคุ้มครองจากมาตรา 230 แต่การลงนามของทรัมป์ถูกมองว่าเป็นการต่อต้านและอคติแบบอนุรักษนิยม แม้นักการเมืองอเมริกันรายอื่นจะเห็นด้วยกับการเพิกถอนมาตรา 230 เพราะบริษัทอย่าง Facebook ควรรับผิดชอบมากกว่านี้ และไม่ควรปล่อยให้ข้อมูลที่ผิดสามารถแพร่กระจายบนแพลตฟอร์มของตัวเอง
โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เป็นคู่แข่งกับทรัมป์ ก็เห็นด้วยที่มาตรา 230 ควรถูกเพิกถอน โดยให้สัมภาษณ์ว่าเนื่องจาก Facebook ไม่ใช่แค่บริษัทอินเทอร์เน็ต แต่เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ตัว Facebook ก็รู้ว่าเป็นเท็จ
ต้องรับผิดชอบมากกว่านี้
ปัจจุบัน Facebook อยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐบาลหลายประเทศ เกี่ยวกับวิธีควบคุมเนื้อหาที่โพสต์บนแพลตฟอร์ม โดยล่าสุด มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอ Facebook ยอมรับเมื่อ 28 ส.ค.63 ว่า บริษัทดำเนินการช้าเกินไปในการลบเพจและรายการกิจกรรมที่ส่งเสริมกลุ่มอาสาสมัคร Kenosha Guard ที่เรียกร้องให้พลเมืองคนดำหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องเมือง Kenosha รัฐวิสคอนซิน จนเกิดความไม่สงบไปทั่ว โดยเพจและบัญชีถูกลบออกไปหลังจากมีการสอบสวนผู้ต้องหาวัย 17 ปี ที่เปิดฉากเผาอาคารราชการและธุรกิจคนอเมริกันผิวขาวใน Kenosha เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
นอกจากการสู้กับรัฐบาลอเมริกัน การปรับกฎนี้อาจเชื่อมโยงกับศึกอื่นที่ Facebook ต้องรบปรบมือกับรัฐบาลในประเทศอื่นด้วย โดยล่าสุดคือ 31 ส.ค. Facebook แสดงท่าทีขู่ว่าจะบล็อกผู้ใช้ในออสเตรเลียไม่ให้แชร์ข่าวบน Facebook หรือ Instagram หากรัฐบาลของออสเตรเลียจะดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อบังคับให้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับการให้บริการเนื้อหาข่าว
ขณะนี้ Facebook ไม่แสดงความคิดเห็นใดเกี่ยวกับแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการปรับกฎครั้งล่าสุด โดยในรายงานของสื่อต่างประเทศไม่ปรากฏชื่อรัฐบาลไทย แม้ว่า Facebook จะเพิ่งออกแถลงการณ์หลังเตรียมฟ้องรัฐบาลไทยเมื่อ 25-30 ส.ค.63 จนเกิดเป็นกระแส "อยากแบน Facebook" ในสังคมไทย เหมือนที่สังคมอเมริกันเริ่มเดินหน้าคว่ำบาตร Facebook ไปบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา