xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บีบขาย TikTok แอพเขย่าโลก จุดระเบิดสงครามเทคฯสหรัฐฯ-จีนเดือด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เอเยนซี/ไชน่าเดลี/วอลล์สตรีทเจอร์นอล – ประธานาธิบดีทรัมป์ ขีดเส้นตายบังคับ “ไบต์แดนซ์” ขายธุรกิจ TikTok – “ติ๊กต็อก” แอพพลิเคชั่นดาวรุ่งที่กำลังมาแรงเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นทั่วโลก ไม่งั้นจะเจอคำสั่งถูกแบน ทั้งยังรีดค่าแป๊ะเจี๊ยจากดีลนี้เข้าคลัง จุดกระแสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นหวั่นไหว เหล่าสาวกติ๊กต็อกห้าวใส่ไม่ยอมให้ผู้นำสหรัฐฯ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


อย่างที่โลกรับรู้กันมาตลอดว่ายุคสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อศึกสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าก็ระเบิดศึกใส่ “หัวเหว่ย” บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนที่กำลังขับดันเครือข่าย 5 จี ขึ้นครองแท่นผู้นำเทคโนโลยีของโลก ซึ่งสหรัฐฯถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากและหาทางระงับยับยั้งทุกทาง

มารอบนี้ ทรัมป์ หันมาเล่นงาน TikTok หลังจากเพิ่งเจอพิษสงผู้ใช้ TikTok ทำให้การหาเสียงของเขาที่เมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “กร่อย” ด้วยการจองตั๋วกั๊กไว้แต่ไม่ไปจริงทำให้คนเข้าฟังปราศรัยของทรัมป์มีแค่ไม่กี่พันคนจากที่อวดว่ามีคนขอตั๋วเข้าฟังปราศรัยกว่าล้านใบ


ทรัมป์ ประกาศเมื่อคืนวันศุกร์ (31 ก.ค.) ว่า จะใช้คำสั่งฝ่ายบริหารแบน Tik Tok ในสหรัฐอเมริกา หรืออาจใช้กฎหมายอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศที่ให้อำนาจประธานาธิบดีจัดการการค้าระหว่างประเทศในกรณีที่มีภัยคุกคามที่ไม่ปกติจากภายนอกต่อนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคงของชาติ หรือเศรษฐกิจของอเมริกา และยังบอกด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่บริษัทอเมริกันจะเข้าเทคโอเวอร์ติ๊กต็อก แอพโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาว และมีผู้ใช้ราวพันล้านคนทั่วโลก

เวลานั้น ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์ จะใช้อำนาจการแบนได้อย่างไร แต่อย่างน้อยหลังการประกาศทำให้บริษั

ทไมโครซอฟต์ หยุดการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ TikTok ในสหรัฐ จากบริษัทแม่ ByteDance

แต่ในอีกไม่กี่วันถัดมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันจันทร์ (3 ส.ค.) ว่า อเมริกาไม่อยากมีปัญหาความมั่นคง เพราะฉะนั้น ติ๊กต็อกจึงต้องถูกโอนมาเป็นกิจการของบริษัทอเมริกัน และกล่าวเสริมว่า ไมโครซอฟท์กำลังเจรจากับไบต์แดนซ์ เพื่อขอซื้อติ๊กต็อกในอเมริกาในขณะนี้

ทรัมป์ยังบอกอีกว่า จะให้เวลาไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กต็อกจนถึงกลางเดือนหน้าในการบรรลุข้อตกลงขายกิจการ ซึ่งหมายความว่าดีลนี้ต้องปิดให้ลงภายใน 6 สัปดาห์นับจากนี้ ไม่เช่นนั้นอเมริกาจะแบนแอพติ๊กต็อก พร้อมสำทับว่า กระทรวงการคลัง จะต้องได้ส่วนแบ่งจากการซื้อขายกิจการครั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้จัดการให้เกิดดีลนี้ขึ้น

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปรียบเทียบดีลนี้ว่า เหมือนกับการที่ผู้เช่าใหม่ต้องจ่าย “ค่าแป๊ะเจี๊ยะ” ให้เจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ผิดกฎหมายในหลายรัฐ รวมถึงนิวยอร์ก ที่ตั้งอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ของทรัมป์

ติ๊กต็อก แอพวิดีโอสั้นที่มีคนใช้ทั่วโลกถึง 1,000 ล้านคน ถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งว่า เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเนื่องจากสามารถแชร์ข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันนับล้านคนให้หน่วยข่าวกรองจีน แต่การที่ทรัมป์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ ออกมากดดันเช่นนี้ ทำให้ทางฝ่ายจีนมองว่านี่เป็นการบีบบังคับเพื่อเข้าซื้อผลิตภัณฑ์ดีอนาคตไกลในราคาถูกๆ

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 ส.ค.) ไมโครซอฟท์ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการซื้อติ๊กต็อก โดยเป็นไปภายใต้การพิจารณาตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ และให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่ออเมริกา ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง โดยมีเป้าหมายบรรลุข้อตกลงไม่เกินวันที่ 15 กันยายน

ไมโครซอฟท์ เผยว่า มีแผนต่อยอดจากประสบการณ์ผู้ใช้ติ๊กต็อก และเพิ่มการรักษาความปลอดภัย การปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยระบบดิจิทัลระดับโลก

การซื้อติ๊กต็อกจะเปิดโอกาสให้ไมโครซอฟท์บุกตลาดเครือข่ายสังคม จากปัจจุบันที่เป็นเจ้าของแพล็ตฟอร์มเครือข่ายมืออาชีพ ลิงก์อิน และทีมส์ รวมทั้งบริการรับส่งข้อความภายในสำหรับองค์กร

รอยเตอร์ รายงานว่า ไมโครซอฟท์และไบต์แดนซ์ได้ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในการศึกษาข้อเสนอขั้นต้นที่ไมโครซอฟท์จะเข้าซื้อบริการของติ๊กต็อกในอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีเมื่อวันอาทิตย์ (2 ส.ค.) ว่า ติ๊กต็อกซึ่งไบต์แดนซ์ผู้เป็นเจ้าของเป็นบริษัทจีนนั้น ควรต้องขายกิจการหรือไม่เช่นนั้นก็ควรต้องถูกสกัดไม่ให้ใช้งานกันในอเมริกา ขณะที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ บอกกับ ฟ็อกซ์ นิวส์ ว่า ทรัมป์จะ “จัดการ” ในไม่กี่วันนี้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติจากพวกซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งก็รวมถึงติ๊กต็อกด้วย

ด้านติ๊กต็อกปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นเครื่องมือสอดแนมของรัฐบาลจีน โดย วาเนสซา ปัปปาส ผู้จัดการใหญ่ในอเมริกา ประกาศเมื่อวันเสาร์ (1) ว่า บริษัทไม่มีแผนย้ายไปที่อื่น พร้อมทั้งให้สัญญาสร้างงาน 10,000 ตำแหน่ง ในอเมริกาในช่วง 3 ปี เพิ่มเติมจากพนักงาน 1,500 คนที่มีอยู่เดิม

ทว่า ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์ และเป็นขาประจำวิจารณ์จีนอย่างดุเดือด รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามการค้ากับปักกิ่ง เตือนไม่ให้หลงกลติ๊กต็อก และอ้างว่า จีนว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์อเมริกันจำนวนมาก บางคนรับหน้าที่เป็นซีอีโอหุ่นให้ ซึ่งเท่ากับพาดพิงถึง เควิน เมเยอร์ อดีตผู้บริหารดิสนีย์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารติ๊กต็อก เมื่อเดือนพฤษภาคม

ความกดดันให้ขายธุรกิจของติ๊กต็อกในอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทำให้ไบต์แดนซ์ ต้องคิดหนัก เพราะหากไม่ยอมขายและถูกแบนจะเท่ากับเป็นการผลักไสผู้ใช้ให้ย้ายไปหาคู่แข่ง โดยบริษัทที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดคือ สแนปแชต, เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

จาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้งไบแดนซ์ เขียนข้อความถึงพนักงานเมื่อวันจันทร์ (3) ยอมรับว่ากำลังเผชิญหน้ากับการถูกบังคับให้ขายกิจการของติ๊กต็อกในอเมริกา ในข้อความที่ส่งถึงพนักงาน เขายืนยันว่า บริษัทกำลังเร่งหาทางออกที่ดีที่สุด พร้อมยืนยันว่า บริษัทมุ่งมั่นรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า ควบคู่กับการทำให้ติ๊กต็อกมีความเป็นกลางและโปร่งใส

“ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เราเผชิญหน้ากับความเป็นไปได้อย่างแท้จริงของการถูกบังคับให้ขายธุรกิจในสหรัฐฯของติ๊กต็อก... หรือเจอกับคำสั่งฝ่ายบริหาร (ของทรัมป์) สั่งแบนแอพตัวนี้” แพนเดลี่ ซึ่งเป็นสื่อด้านข่าวเทคโนโลยี รายงานคำกล่าวของ จาง

“ขณะเดียวกัน เรากำลังเผชิญกับความสลับซับซ้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกทีในทั่วทั้งภูมิทัศน์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนแรงกดดันจากภายนอกอันสำคัญยิ่ง พวกทีมงานตอบโต้ของเรากำลังทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และกำลังสละทิ้งช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของพวกเขาในระยะสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” จาง ระบุ

จาง บอกด้วยว่า เขาไม่เห็นด้วยเลยกับการถูกบังคับให้ติ๊กต็อกต้องทิ้งบริการในสหรัฐฯไป “เรามีความมุ่งมั่นผูกพันเสมอมาในเรื่องความปลอดภัยของยูสเซอร์, ความเป็นกลางของแพลตฟอร์ม และความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจการตัดสินใจของพวกเขาในสภาพแวดล้อมทางมหภาคในปัจจุบัน” จาง กล่าว


เควิน เมเยอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TikTok กล่าวในบล็อกโพสต์ว่า "ทำไมบริษัทของเขาถึงได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากกว่าบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ก็เพราะเป็นจีนสร้าง"

"ข้อมูลผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐฯ ถูกเก็บไว้ในสหรัฐอเมริกาโดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในการเข้าถึง นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ TikTok ก็จากสหรัฐอเมริกา เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ของเรา ในขณะที่เราทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความสุขให้ผู้ใช้ และเปิดโอกาสอาชีพให้ผู้คนบนแพลตฟอร์มของเรา " โฆษก TikTok กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์

ก่อนหน้านี้ ไบต์แดนซ์ออกแถลงการณ์ยืนยันเพียงว่าบริษัทให้ความสำคัญต่อข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เต็มที่ และชี้ว่า ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนเปิดใช้งาน TikTok เพื่อความบันเทิงและการสื่อสารโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ โดยปีนี้บริษัทได้จ้างพนักงานเกือบ 1,000 คนเพื่อทำงานกับทีมสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ทำให้บริษัทภูมิใจที่จะว่าจ้างพนักงานเพิ่มอีก 10,000 ตำแหน่งเพื่อกระจายรายได้ทั่วสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น ยังมีกองทุนครีเอเตอร์ของ TikTok มูลค่า 1 พันล้านเหรียญที่สนับสนุนครีเอเตอร์ชาวสหรัฐฯ ซึ่งกำลังสร้างธุรกิจจากแพลตฟอร์ม TikTok ทั้งหมดนี้ TikTok ยืนยันว่าข้อมูลผู้ใช้ TikTok US ล้วนถูกเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยการควบคุมที่เข้มงวดในการเข้าถึงของพนักงาน ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ TikTok ก็มาจากสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทมุ่งมั่นที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ในสหรัฐฯ อยู่แล้ว

ติ๊กต็อกกลายเป็นเป้าหมายล่าสุดของทรัมป์ในสงครามการค้าและการเมืองกับปักกิ่ง โดยแอพนี้ถูกตรวจสอบอย่างเป็นทางการภายใต้เหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ทั้งหมด ถึงแม้ติ๊กต็อกบอกว่าข้อมูลของผู้ใช้ที่อยู่นอกประเทศจีนได้ถูกเก็บเอาไว้ในประเทศอื่นๆ แต่พวกนักวิจารณ์บอกว่าตามกฎหมายของจีน ติ๊กต็อกยังมีหน้าที่ในการแบ่งปันข้อมูลหากรัฐบาลจีนเรียกร้อง

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวหาว่า อเมริกาใช้ข้ออ้างไร้สาระเรื่องความมั่นคงแห่งชาติโดยไม่มีหลักฐานมาทึกทักว่ากระทำผิด ซ้ำยังข่มขู่บริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขัดต่อหลักการเศรษฐกิจระบบตลาด และเข้าข่ายสองมาตรฐานกับจุดยืนในการรักษาความเป็นธรรมและเสรีภาพของอเมริกา

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน มุ่งตอบโต้คำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอของสหรัฐฯ โดยกล่าวว่าจีนคัดค้านการกระทำใดๆ ของสหรัฐฯที่มุ่งเล่นงานพวกบริษัทซอฟท์แวร์ของแดนมังกรและจีนหวังว่าสหรัฐฯจะสามารถยุตินโยบายแบบเลือกปฏิบัติเช่นนี้

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ใช้ติ๊กต็อกในอเมริกาต่างไม่พอใจที่ทรัมป์ขู่แบนแพลตฟอร์มโปรดนี้ บางคนประกาศว่าจะไม่ยอมนิ่งเฉยให้ผู้นำสหรัฐฯ ทำแบบนั้น โดยอ้างอิงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ห้ามรัฐบาลปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยชุมชน TikTok กำลังเกิดความหงุดหงิดและสนับสนุนบริษัทในโซเชียลมีเดีย

"การห้ามแอปฯ เช่น TikTok ซึ่งชาวอเมริกันหลายล้านคนใช้เพื่อสื่อสารซึ่งกันและกันเป็นอันตรายต่อการแสดงออกและการใช้เทคโนโลยี" สหภาพเสรีนิยมพลเรือนอเมริกัน แถลงฯ และยังระบุว่า “เพื่อแก้ไขข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวกับบริษัทอย่างเช่น TikTok สภาคองเกรสจะต้องรับรองว่า บริษัทใด ๆ ที่ให้บริการผู้บริโภคสหรัฐฯ ไม่สามารถส่งมอบข้อมูลของเราให้รัฐบาลใด ๆ โดยไม่ต้องมีหมายศาลหรือเทียบเท่า"

ทั้งนี้ หากแอพพลิเคชันนี้โดนปิดจริง ๆ ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีได้แล้ว นักวิจารณ์กล่าวว่า "มันจะท้าทายย้อนแย้งกับค่านิยมที่ชาวอเมริกันยึดถือไว้ เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพฯ"

เบบี้ แอเรียล (Baby Ariel) หนึ่งในผู้ใช้ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดของ TikTok เขียนไว้ในทวิตเตอร์ว่า: "ฉันเกลียดโดนัลด์ ทรัมป์" เพื่อตอบสนองต่อการประกาศห้ามของทรัมป์ ขณะที่ผู้ใช้อื่น ๆ หลายคนก็ต่างเข้ามาตอบโพสต์ของเธอว่า "เหมือนกัน"

กริฟฟิน จอห์นสัน คนดังจาก TikTok อีกคน ได้ทวีตเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า "tik tok ได้มอบเพื่อนและความทรงจำมากมาย ขอขอบคุณตลอดไป"

ผู้ใช้ TikTok รุ่นเยาว์หลายคน พากันปลุกความเคลื่อนไหว "saveTikTok" ในโซเชียลมีเดีย

TikTok ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการเต้นและวิดีโอลิปซิงค์ได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้มากถึง 100 ล้านคนในประเทศและหลายร้อยล้านคนทั่วโลก มันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นแหล่งความบันเทิงและการศึกษา แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบในสหรัฐอเมริกาด้วยข้ออ้างดังที่กล่าวมาแล้ว

ทางด้าน 20 ผู้สร้างเนื้อหาบนติ๊กต็อกที่มีผู้ติดตามเกิน 100 ล้านคน โพสต์จดหมายเปิดผนึกบนเว็บมีเดียม คัดค้านการแบนแอพนี้ และเสนอให้แตกกิจการติ๊กต็อกในอเมริกาด้วยการนำหุ้นออกขายให้สาธารณชนหรือขายกิจการให้บริษัทอเมริกันแทน เพื่อให้ระบอบทุนนิยมแก้ปัญหาแทนการใช้อำนาจรัฐ

ผู้ใช้บางคนสงสัยว่า ที่ทรัมป์ไล่เบี้ยติ๊กต็อกเป็นเพราะแพล็ตฟอร์มนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
อย่างไรก็ดี คำขู่ของทรัมป์สร้างความกังวลอย่างมากต่อผู้ใช้ติ๊กต็อก โดยเฉพาะพวกผู้สร้างเนื้อหาที่ทำเงินจากแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งหลายคนโพสต์ลิงก์ไปยังบัญชีอินสตาแกรมหรือยูทูบของตนเอง เพื่อไม่ให้สูญเสียผู้ติดตามหากติ๊กต็อกถูกแบน

ด้าน แดเนียล คาสโตร รองประธานกลุ่มคลังสมอง อินฟอร์เมชัน แอนด์ อินโนเวชัน ฟาวน์เดชัน กล่าวเมื่อวันเสาร์ ว่า อเมริกาคือผู้ที่จะต้องสูญเสียมากที่สุดถ้าแบนติ๊กต็อก และสำทับว่า ศูนย์ข้อมูลทั้งหมดของติ๊กต็อกนั้นอยู่นอกจีน และอเมริกาไม่มีหลักฐานว่า บริษัทแห่งนี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด

ขณะที่ เฟรด หู ประธานของกลุ่มพรีมาเวรา แคปิตอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายหนึ่งในไบต์แดนซ์ และเป็นกลุ่มลงทุนในพวกบริษัทนอกตลาดหุ้นกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีของจีน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “การทำดีลแบบที่ฝ่ายวอชิงตันถือปืนจ้องบีบบังคับ อาจเปิดทางให้เกิดการฟ้องร้องค้าความกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากผลของมันออกมาในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อพวกผู้ถือหุ้นภาคเอกชนในปัจจุบัน(ของไบต์แดนซ์)”

เขากล่าวว่า ไมโครซอฟท์นั้นเป็นผู้ซื้อที่น่าเชื่อถือ แต่เขาตั้งคำถามว่าการที่ขายการดำเนินงานส่วนใหญ่ของติ๊กต็อกออกไป ในระยะเวลาต้นๆ ที่ติ๊กต็อกกำลังเจริญเติบโตเช่นนี้ จะเป็นผลดีต่อไบต์แดนซ์ไปได้อย่างไร

“มันไม่สมเหตุสมผลเอาเลย ไบต์แดนซ์เป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ของการเมืองแบบบ้าคลั่งและภูมิรัฐศาสตร์แบบบ้าคลั่งมันเป็นผลลัพธ์ที่น่าเศร้าสำหรับไบต์แดนซ์สำหรับทุนนิยมแห่งผู้ประกอบการ และสำหรับอนาคตของการพาณิชย์ทั่วโลก” หู บอก

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์เดอะ ซัน ของอังกฤษรายงานเมื่อวันจันทร์ (3) ว่า ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์จะประกาศแผนย้ายสำนักงานใหญ่จากปักกิ่งไปยังลอนดอนภายใต้ข้อตกลงที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีอังกฤษ เร็วๆ นี้ และสำทับว่า การเคลื่อนไหวนี้มีแนวโน้มสร้างความไม่พอใจให้ทรัมป์ที่กำลังพิจารณาแบนติ๊กต็อกในอเมริกา

ในเวลาต่อมา สื่อตะวันตก รายงานว่า รัฐบาลอังกฤษ กล่าวว่า TikTok สามารถเปิดสำนักงานใหญ่ได้ แต่ข้อตกลงยังไม่สิ้นสุด และจะไม่เกิดขึ้นในทันที โดยว่า “สหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่ยุติธรรม เปิดกว้างสำหรับการลงทุน ที่รองรับการเติบโตและตำแหน่งงานในสหราชอาณาจักร”

อย่างไรก็ตาม การอนุมัติเห็นชอบของนายจอห์นสันนี้ กลับถูกพรรคอนุรักษนิยม ค้านอย่างรุนแรง

เซอร์เลียน ดันแคน สมิธ อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ว่า “เรากำลังเล่นเกมที่งี่เง่าในเรื่องนี้ เหมือนจะบอกตัวเองว่า พวกเราไม่เสี่ยงเลยกับการมาของบริษัทเหล่านี้".


กำลังโหลดความคิดเห็น